ภาคใต้ฝนตกหนักถึงหนักมาก เช็กจุดเฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง 13-16 พ.ย.65

ภาคใต้ฝนตกหนักถึงหนักมาก เช็กจุดเฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง 13-16 พ.ย.65

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 5 จังหวัดภาคใต้ เตรียมรับมือน้ำหลาก น้ำท่วมขัง และน้ำล้นตลิ่งในช่วงวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 5 จังหวัดภาคใต้ เตรียมรับมือน้ำหลาก น้ำท่วมขัง และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสถานการณ์ปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 53/2565 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 แจ้งว่า ในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ตอนล่าง มีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 200 มิลลิเมตร และได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 13-16 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้

พื้นที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง

  • พัทลุง (อำเภอเมืองฯ บางแก้ว เขาชัยสน ปากพะยูน ป่าบอน ควนขนุน)
  • สงขลา (อำเภอเมืองฯ สิงหนคร ระโนด กระแสสินธุ์ จะนะ ควนเนียง สทิงพระ)
  • ปัตตานี (อำเภอยะหริ่ง)
  • ยะลา (อำเภอธารโต กาบัง ยะหา บันนังสตา เบตง)

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำโก-ลก แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี

นอกจากนี้ เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมทั้งอ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- พยากรณ์อากาศ ภาคใต้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ไทยตอนบนอุณหภูมิสูงขึ้น กทม.วันนี้ 24-26 องศา

 

กอปภ.ก. จึงได้ประสานแจ้ง 5 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามปริมาณฝนตกในแต่ละจุดอย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่มีฝนตกหนักและปริมาณฝนตกสะสม พร้อมตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำ รวมถึงปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร่องน้ำและบริหารจัดพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ อีกทั้งจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) และเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันที ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างต่อเนื่อง