เปิดสถิติจมน้ำดับ "วันลอยกระทง" ช่วง 5 ปี เฉลี่ยปีละ 12 ราย-พุ่ง 2 เท่าหลังวันงาน

เปิดสถิติจมน้ำดับ "วันลอยกระทง" ช่วง 5 ปี เฉลี่ยปีละ 12 ราย-พุ่ง 2 เท่าหลังวันงาน

กรมควบคุมโรค เปิดสถิติการจมน้ำเสียชีวิต "วันลอยกระทง" ช่วง 5 ปีหลังเฉลี่ยถึงปีละ 12 ราย และพุ่งสูงอีกเป็น 2 เท่าหลังวันงาน เน้นย้ำ “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง”

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันลอยกระทง ในปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 8 พ.ย. 65 ซึ่งรัฐบาลอนุญาตให้จังหวัดต่างๆ สามารถจัดงาน เทศกาลลอยกระทง ได้ เพื่อเป็นการสืบสานประเพณี ขอขมาพระแม่คงคา และเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิตได้ 

โดยสถานการณ์การ จมน้ำวันลอยกระทง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2564) จากข้อมูลมรณบัตร กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า วันลอยกระทงวันเดียว มีคนจมน้ำเสียชีวิต 60 คน เฉลี่ยปีละ 12 คน 

และเป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงหลังวันลอยกระทงเพียง 1 วัน ของแต่ละปี จะพบว่ามีการจมน้ำเสียชีวิตสูงมากกว่าวันลอยกระทงถึง 1-2 เท่า กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ

  • ช่วงอายุ 45-59 ปี (ร้อยละ 30)
  • เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี (ร้อยละ 14)
  • เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเกือบ 5 เท่า 
     

สาเหตุที่ทำให้เกิดการจมน้ำในช่วงลอยกระทงที่พบบ่อยคือ  

  • การดื่มสุรา
  • การลงไปเก็บเงินในกระทง
  • การปล่อยให้เด็กลอยกระทงหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง

ซึ่งจากข้อมูลในระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้บาดเจ็บจากการจมน้ำและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ถึง ร้อยละ 15

นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเน้นย้ำมาตรการสำหรับประชาชนในการป้องกันการจมน้ำ ช่วงลอยกระทง คือ “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง” 

  • ไม่เมา คือ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันลอยกระทง 
  • ไม่เก็บ คือ ไม่แนะนำให้ลงน้ำไปเก็บเหรียญในกระทง เพราะน้ำเย็นอาจทำให้ตะคริวเสี่ยงจมน้ำได้ 
  • ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เมื่อพาเด็กไปลอยกระทง ไม่ปล่อยเด็กให้คลาดสายตา เพราะเพียงแค่ชั่วพริบตา เด็กอาจตกน้ำได้ (เด็กสามารถจมน้ำได้แม้ระดับน้ำเพียง 1-2 นิ้ว) 
     

การป้องกันสำหรับหน่วยงานหรือพื้นที่จัดงาน

1.กำหนดพื้นที่สำหรับจัดงานลอยกระทงอย่างชัดเจน เว้นระยะห่าง มีแสงสว่างเพียงพอ มีรั้วหรือสิ่งกั้นขวาง ป้องกันการพลัดตกน้ำ

2.จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำ จมน้ำ ไว้บริเวณแหล่งน้ำเป็นระยะ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน เชือก ไม้  

3.สำหรับการเดินทางทางน้ำ ต้องจัดเตรียมเสื้อชูชีพให้เพียงพอต่อผู้โดยสาร และให้มีการสวมใส่ทุกครั้งก่อนออกเดินทาง  

4.จัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสอดส่อง และช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินตลอดระยะเวลาการจัดงาน 

นอกจากนี้ ขอความร่วมมือประชาชน หากเข้าไปในพื้นที่ที่มีผู้คนแออัด ให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422