work life balance สไตล์ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” กก.ผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค

work life balance สไตล์ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” กก.ผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค

“ชีวิตแต่ละวันยังรู้สึกเหมือนเป็นนักศึกษา สนุกที่ได้ออกแบบ ทำงานและเรียนรู้ตลอดเวลา” เป็นคำตอบที่ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการรพ.เมดพาร์ค (MedPark)” ให้กับกรุงเทพธุรกิจเมื่อถามถึงการสร้างสมดุล work life balance

     การทำงานกับความสุขในวัย 71 ปี จึงเป็นเหมือนสิ่งเดียวกัน  งานไม่ได้บั่นทอนสุขภาพ ตรงกันข้ามกลับมีส่วนสร้างสุขภาพใจที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการดูแลสุขภาพ เป็น work life balance แบบ "นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช"

         ด้วยชีวิตชอบการ “ออกแบบ” ถึงขนาด“หมอพงษ์พัฒน์”เอ่ยปากว่าหากไม่ได้เรียนแพทย์ก็คงเรียนสถาปนิก เพราะ “ชีวิตตัวเอง มีความสุขกับการออกแบบ ปั้น และทำงานเหมือนได้ทำกิจกรรม สมัยเป็นนักศึกษา” หลังจากสร้าง “มหาชัย” รพ.เอกชนในภูมิภาคมานานกว่า 30 ปี ขยับมาทำรพ.เอกชนในกทม. โดยรพ.เจ้าพระยาเป็นแห่งแรก และเปิดบริการ “รพ.เมดพาร์ค” เมื่อ 2 ปีก่อน ท่ามกลางวิกฤตโรคโควิด-19 นับว่าเป็นสิ่งท้าทายอย่างมาก

     รพ.เมดพาร์ค เปิดหน้าต่าง ทำให้สิ่งอยากทำต่อระบบสาธารณสุขสมบูรณ์ขึ้น คือ มีหมอเก่งๆ พยาบาลดีๆ มีระบบอาคารที่เหมาะสม มีเครื่องมือที่เพียงพอ เป็นรพ.ที่ดีระดับหนึ่ง ค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไปนัก Win Win ทุกฝ่าย และเมื่อรพ.เมดพาร์คเป็นตัวเล่นเพิ่มเติมในตลาดระดับบน เกิดทางเลือกใหม่ๆ ในอนาคตก็อาจจะทำให้ราคาในตลาดระดับบนสมเหตุสมผลขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 
"รพ.เมดพาร์ค" เดินหน้าสร้างเครือข่าย รักษาโรคยากและซับซ้อน
"รพ.เมดพาร์ค" เปิดตัวแอปฯ My MedPark เพิ่มการเข้าถึงการรักษา ครบวงจร

     “ไม่ได้มองรายได้เป็นปัจจัยแรก เราอยากเน้นสิ่งที่สร้างแล้วประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ส่วนตัวรู้สึกมีความสุขที่ทำงานได้คิด ออกแบบ สร้างและพยายามพัฒนา ถ้าคิดดี ทำสิ่งที่ดี มีประโยชน์กับชาวบ้าน คุยกันสมเหตุล น่าจะทำให้สิ่งที่ดีเกิดในประเทศได้”นพ.พงษ์พัฒน์กล่าว 

  • หลักยึด “ผู้นำต้องเสียเปรียบบ้าง”

     ในวัย 71 ปีที่ยังสนุกกับการทำงาน “นพ.พงษ์พัฒน์” บอกว่า เพราะยังมีสิ่งที่เราทำได้  โดยหลักสำคัญของการทำงานกลุ่มสำหรับคนที่เป็นผู้นำ คือ “การไม่เอาเปรียบคนอื่น” ต้องจริงจัง จริงใจกับผู้อื่น มีอะไรแลกเปลี่ยนกัน เปิดเผย ตรงไปตรงมา ขณะเดียวกันไม่ถือประโยชน์ตัวเองเป็นอันดับแรก เพราะถ้าเราไปเอาเปรียบ เขาก็รู้  และ “การเป็นผู้นำในองค์กรใดต้องเสียเปรียบบ้าง” จะทำให้คนในองค์กรยอมรับ

work life balance สไตล์ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” กก.ผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค

      และแม้รพ.เมดพาร์คจะเปิดในช่วงจังหวะที่มีวิกฤตโรคระบาดระดับโลก แต่ด้วยความที่เป็นคนสนใจเรื่อง “การออกแบบ”เป็นทุนเดิม ซึ่งการออกแบบก็คือการแก้ปัญหาชนิดหนึ่ง พอเห็นประเด็นปัญหาและทำให้คิดว่า “ต้องทำอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย”

         บวกกับการเป็น “ศัลยแพทย์”  ทำให้มองเห็นว่า การจัดการการบริหาร  ต้องคิดว่าเวลาจะเลือกทำอะไร มีหลักการหัวใจของการบริหาร คือ “ต้องจัดลำดับให้ได้ว่าอะไรต้องทำ อะไรไม่ต้องทำ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรอยากทำ อะไรไม่อยากทำ”

 

  • สมดุลสิ่ง“ต้องทำ-ควรทำ-อยากทำ”

      1.สิ่งที่ต้องทำ หมายความเป็นสิ่งที่ ตัวเองจะต้องทำเอง ให้คนอื่นทำแทนไม่ได้

      2.สิ่งที่ควรทำ คือ เป็นหน้าที่ที่คนอื่นต้องทำ แต่อาจจะทำได้ไม่ดี เป็นสิ่งที่เราต้องเข้าไปช่วย แต่จะช่วยตามเหมาะสม ไม่ใช่ไปทำแทน

    3.สิ่งที่อยากทำ คือ สิ่งที่ทำเสริมจากการทำงานต่างๆ เช่น การทำเรื่อง “Med Music in the park” ซึ่งเป็นการจัดแสดงดนตรีในสวนเบญจกิติ เป็นการสร้างความสุข ลดความเครียดจากการทำงาน สร้างการผ่อนคลายให้กับคนกรุงเทพฯ วันที่ 27 พ.ย.2565 เป็นต้น

work life balance สไตล์ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” กก.ผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค

         แต่บางครั้งมีการทำบางอย่างแล้วมีผลข้างเคียง บางเวลาก็ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ระหว่างทาง  ซึ่งการเปลี่ยนนั้นมีผลเสียหรือไม่ จะป้องกันอย่างไร และถ้าเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร เมื่อเป็นผู้บริหารเวลาจะตัดสินใจจึงต้องมองสิ่งเหล่านี้ จะต้องมีเป้าหมาย มีวิธีการ และการประเมินว่าทำได้แค่ไหน เหล่านี้ทำให้เราไม่เครียดกับงานเกินไป อะไรที่ทำได้ก็รีบทำ ส่วนอะไรที่ยังทำม่ได้ ก็วางก่อนและหาโอกาสค่อยทำใหม่

        การแก้ปัญหา งานบางอย่างไม่ต้องทำเองหมด อะไรที่เราต้องทำก็ทำ ต้องลดงานที่เราไม่ต้องทำออก แล้วงานที่เราต้องทำจะได้เสร็จทันเวลา ส่วนที่เราไม่ต้องทำ ก็รู้ว่าจะต้องไปหาใครทำ

      "เมื่อชีวิตไม่เครียด ก็ช่วยไปได้หลายอย่าง นอนก็หลับ กินง่ายอยู่ง่าย จึงไม่ได้อยากไปหาอะไรให้ตัวเองเยอะแยะมากมาย แต่อยากสร้าง เพราะการสร้างทำให้เกิดความภูมิใจชนิดหนึ่ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี”นพ.พงษ์พัฒน์กล่าว

  •  เดิน-ดนตรี-หนังสือสมดุลชีวิต

      ถึงแม้การได้ทำงานจะเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสุขให้กับชีวิต แต่ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” บอกว่า ยังต้องสร้างความสุขจากส่วนอื่นๆให้สมดุลด้วย โดยทำในสิ่งที่ชอบอย่างหลากหลาย ทั้งการฟังเพลง ดนตรี ดูหนัง และการอ่านหนังสือ”ที่นับเป็นการผ่อนคลายอย่างหนึ่ง

        หลังเวลางานในแต่ละวัน หรือช่วงวันหยุด จึงเป็นช่วงการผ่อนคลายด้วยดนตรี ฟังเพลง และออกกำลังกายแบบที่เหมาะสมในช่วงนี้ คือ “การเดิน” โดยเฉพาะการเดินในสวนท่ามกลางธรรมชาติ ก็จะช่วยเพิ่มความสดชื่น กระชุ่มกระชวยให้กับชีวิต 

work life balance สไตล์ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” กก.ผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค

       การดูหนัง ซีรีย์ เช่น สามก๊ก ฤทธิ์มีดสั้น มังกรหยก เป็นต้น ที่สามารถดูแล้วดูอีกได้หลายๆรอบ เป็นการศึกษา “วิทยายุทธ์” สามารถนำหลักแนวทางมาปรับใช้ในชีวิตได้ด้วย

      อ่านหนังสือ อย่างเช่นเรื่อง “ The Professional” หรือ “มืออาชีพ”ของประเทศอินเดีย ที่เขียนถึง “สัปเหร่อ”รับจัดการงานศพ ที่สะท้อนถึงการทำงานของตนเอง จนเชี่ยวชาญรู้ว่า  “ทำแบบไหน ผลเป็นแบบไหน จะป้องกันและทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร” นี่แหล่ะมืออาชีพ ที่รู้ว่า “งานที่ทำคืออะไร”จึงนำเรื่องนี้มาบอกเล่าบุคลากร ให้มองถึง “วัตถุประสงค์ในอาชีพของตนเอง”

  •    ทีมงาน “Work like a play”

       ในฐานะผู้บริหารผู้นำขององค์กร การสร้างสมดุลชีวิตให้กับทีมงาน “นพ.พงษ์พัฒน์” ให้ความสำคัญอย่างมาก  มีการปรึกษาหารือเสมอ และบอกตั้งแต่ต้นว่า รพ.เมดพาร์คอาจจะไม่ได้มีกำไรเร็วในช่วงแรก แต่มองว่าจะมีค่าตอบแทนให้ โดย “บรรจุโบนัสอยู่ในงบประมาณประจำปีล่วงหน้า ถ้าไปตามงบประมาณก็จะได้” เท่ากับเป็น “ผู้ถือหุ้น”คนหนึ่ง ที่ไม่ได้ลงเงินแต่ลงสิ่งที่มากกว่า คือ แรงกาย แรงใจ  ทำให้บุคลากรมีความสุขและรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของ “บางครั้งก็ตรวจสอบการทำงานของผมด้วย”

work life balance สไตล์ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” กก.ผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค

        ส่งเสริมให้บุคลากรมี “Thinking Mindset” ที่คล้ายกัน คือ ทุกคนต้องมองประโยชน์คนไข้ องค์กร และตัวเองให้ดุลยภาพกัน และกำลังจะมีโครงการให้พนักงานทำ “ชมรมต่างๆ” เช่น ชมรมหนังสือ ชมรมท่องเที่ยว ชมรมอาสาสมัคร ชมรมภาษาอังกฤษ ชมรมหนังกลางแปลงในรพ. เป็นต้น เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนให้ทุกคนได้ทำสิ่งที่ตนเองชอบหรือสนใจ

      “การทำงานที่จะสำเร็จ และมีความสุข จะต้องทำงานเหมือน work like a play เหมือนเล่น อย่างตัวเอง การทำงานทุกวันก็เหมือนกิจกรรม เหมือนการทดลองวิทยาศาสตร์ที่มีเป้าหมาย จึงทำแล้วมีความสุข ก็จะพยายามสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ให้ทีมงานด้วย”นพ.พงษ์พัฒน์กล่าว 

  • เป้าหมายที่อาจรบไม่ชนะ แต่อยากรบ

     หนึ่งเป้าหมายสำคัญของชีวิตที่ “นพ.พงษ์พัฒน์” เกริ่นก่อนว่า “เป็นสิ่งที่อาจจะรบแล้วไม่ชนะ แต่ก็จำเป็นต้องรบ” แม้บางอย่างจะเกินขอบเขตที่ตนเองจะทำได้ โดยต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโครงสร้างของประเทศ  

      ด้วยหวังว่า “ระบบรัฐราชการ”จะเล็กลง เพราะปัจจุบันราชการรับเงินตอบแทนจากระบบภาษี งบประมาณประเทศเกือบ 50 %แล้ว ซึ่งหากเป็นกิจการที่มีรายได้ 100 แต่จ่ายค่าแรงไปแล้ว 50 บาท จะเหลืออะไร  เป็นรัฐที่งบฯการเงินเกือบจะแย่แล้ว    

work life balance สไตล์ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” กก.ผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค

       รวมถึง พยายามจะมีส่วนผลักดันให้คนขยันมากขึ้น แทนที่จะรอแต่การ “ขอรับ”เพียงอย่างเดียว เนื่องจากเรื่อง “แรงงาน”เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อประเทศ จากจีดีพีประเทศ 6 ล้านๆ โดยเป็นของแรงงานประมาณ 1 ล้านๆ แต่เป็นของแรงงานต่างชาติเกือบทั้งหมด ทำให้จีดีพีประเทศไทย จริงๆอาจจะเหลือเพียงแค่ 5 ล้านๆ เพราะอีก 1 ล้านๆเป็นส่วนที่แรงงานส่งกลับประเทศ

        ส่วนเป้าหมายชีวิตของตัวเอง ไม่มีอะไรซับซ้อน อยู่ที่การทำงานที่ตัวเองมีความสุข แต่ไม่ใช่มีความสุขแบบคนไม่ทำงาน เพราะจะโรยรา ไม่มีประโยชน์ ขณะที่ชีวิตยังมีแรง มีความรู้ จึงต้องใช้ทำประโยชน์ไปจนกว่าจะไม่มีแรง โดยช่วงไม่มีแรงควรเป็นระยะสั้นๆจะได้ไม่เป็นภาระผู้อื่น 

     และด้วยมีความสุขกับการเป็น “นักปั้น ได้ออกแบบ” เมื่อสำเร็จเสร็จจากรพ.เมดพาร์ค “นพ.พง์พัฒน์ ปธานวนิช” บอกว่าจะกลับไปปั้นรพ.เจ้าพระยา ให้เป็นรพ.เมดพาร์ค 2 ในฝั่งธนบุรี   

         “ถ้าต้องอยู่บ้านเฉยๆสัก 1 สัปดาห์ เหงาแย่ ต้องหางานทำตลอด เพราะความสุข คือการได้ทำงาน ”

work life balance สไตล์ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” กก.ผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค