ระบบนิเวศกิจการเพื่อสังคมในสิงคโปร์ | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ระบบนิเวศกิจการเพื่อสังคมในสิงคโปร์ | ธราธร รัตนนฤมิตศร

สิงคโปร์นับเป็นประเทศที่มีระบบสนับสนุนที่ดีที่สุดต่อกิจการเพื่อสังคมแห่งหนึ่งในโลก จากการสำรวจของ Thomson Reuters Foundation พบว่าอยู่ในอันดับที่ 1 ของอาเซียนในการเป็นประเทศที่ดีที่สุดสำหรับกิจการเพื่อสังคม และอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก

สิงคโปร์นับเป็นประเทศที่มีระบบสนับสนุนที่ดีที่สุดต่อกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) แห่งหนึ่งในโลก โดยจากการสำรวจของ Thomson Reuters Foundation พบว่าอยู่ในอันดับที่ 1 ของอาเซียนในการเป็นประเทศที่ดีที่สุดสำหรับกิจการเพื่อสังคม และอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก รองจากประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศสและเบลเยียม

สิงคโปร์เน้นการสร้างระบบนิเวศขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม โดยมีหน่วยงานของรัฐหลักคือกระทรวงการพัฒนาสังคมและครอบครัว (Ministry of Social and Family Development, MSF) และมีองค์กรที่ส่งเสริม

ได้แก่ สมาคมวิสาหกิจเพื่อสังคม สหพันธ์สหกรณ์แห่งชาติสิงคโปร์ และอุทยานนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation Park) ที่ให้โอกาสในการสร้างเครือข่ายและจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาและเสริมสร้างศักยภาพต่างๆ ให้กับกิจการเพื่อสังคม 

นอกจากนี้ ยังมีองค์กรผู้ให้ทุนจำนวนมากโดยเฉพาะ Spring Singapore, Social Enterprise Hub และ DBS Bank มีศูนย์บ่มเพาะกิจการเพื่อสังคมอย่าง NUS Enterprise Center และ The Hub ที่ให้การสนับสนุนและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ และมีตัวกลางเชื่อมโยงกับนักลงทุนเพื่อสังคมอย่าง Impact Investment Exchange Asia 

ในภาพรวม กระทรวงการพัฒนาสังคมและครอบครัว (Ministry of Social and Family Development) เป็นหน่วยงานรัฐบาลที่โดดเด่นที่สุดในการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมในสิงคโปร์ ที่ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของภาคส่วนกิจการเพื่อสังคม

และยังจัดโครงการระดมทุนจำนวนหนึ่งสำหรับกิจการเพื่อสังคม ซึ่งรวมถึง ComCare Enterprise Funding และ Youth Social Enterprise Entrepreneurship Program (YSEP) 

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา กระทรวงได้ดำเนินการมอบรางวัล President's Challenge Social Enterprise Award เพื่อเป็นเกียรติและยกย่องกิจการเพื่อสังคมที่มีความโดดเด่นสำหรับการมีส่วนร่วมในชุมชน ส่วนสมาคมวิสาหกิจเพื่อสังคม (SEA) เป็นองค์กรที่ได้รับมอบหมายให้ส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมในสิงคโปร์ 

เน้นการสนับสนุนการเรียนรู้แบบเพื่อน (peer learning) ภายในชุมชนวิสาหกิจเพื่อสังคม จัดหาโปรแกรมเสริมศักยภาพและบริการทางธุรกิจ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักเพื่อสร้างวิสาหกิจ SEA ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise Development, SEDC) ให้มีบทบาทหลักในการสร้างขีดความสามารถสำหรับสมาชิกวิสาหกิจเพื่อสังคม เสนอคำแนะนำทางธุรกิจ คำแนะนำสำหรับการเริ่มต้น 

ระบบนิเวศกิจการเพื่อสังคมในสิงคโปร์ | ธราธร รัตนนฤมิตศร

และการเข้าถึงเครือข่ายและการฝึกอบรม นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังจัดตั้งศูนย์เพื่อวิสาหกิจเพื่อสังคมสิงคโปร์ (Singapore Centre for Social Enterprise, raiSE) ขึ้นเพื่อให้เป็นกลไกสำคัญเพื่อพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมในสิงคโปร์ ช่วยหล่อเลี้ยง สร้างความตระหนักและสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม 

ในด้านแหล่งเงินทุนซึ่งมักเป็นปัญหาสำคัญของกิจการเพื่อสังคม สิงคโปร์มีตัวเลือกทางการเงินมากมายสำหรับกิจการเพื่อสังคม ครอบคลุมทั้งสินเชื่อ เงินทุนสนับสนุน และการลงทุนทางสังคม กิจการเพื่อสังคมสามารถเข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษจาก DBS Bank Social Enterprise Package

หรือเข้าถึงการระดมทุนและความช่วยเหลือที่มีอยู่ที่ Spring Singapore กิจการเพื่อสังคมยังสามารถเข้าถึงเงินช่วยเหลือจากนักลงทุนเพื่อสังคม (venture philanthropists) 

และผู้ให้ทุนที่สนใจในภารกิจทางสังคม เช่น ComCare Enterprise Funding  โปรแกรม Youth Social Enterprise Entrepreneurship Programme for Start-ups  กองทุนกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise Fund) กองทุนเยาวชนแห่งชาติ (National Youth Fund) กองทุนนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation Fund) เป็นต้น 

ธนาคารดีบีเอส (DBS) มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย รวมถึงเงินทุนและการให้คำปรึกษา มีการสร้าง DBS-NUS Social Venture Challenge Asia

ระบบนิเวศกิจการเพื่อสังคมในสิงคโปร์ | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมที่มีแนวโน้มว่าจะมีโอกาสสร้างผลกระทบทางสังคมสูงและยั่งยืน ธนาคารมีแพ็คเกจที่ปรับให้เหมาะกับกิจการเพื่อสังคมโดยเฉพาะ คือแพ็คเกจ DBS Social Enterprise มีลักษณะพิเศษ เช่น ไม่มีเงินฝากเริ่มต้นหรือยอดรายเดือนขั้นต่ำ และให้สินเชื่อธุรกิจในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 

สิงคโปร์ยังเป็นศูนย์กลางการลงทุนทางสังคมของภูมิภาค โดยมีการจัดการประชุมจำนวนมากเพื่อสร้างความร่วมมือและพบปะระหว่างนักลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ (impact investors) กับกิจการเพื่อสังคม

โดยมี Impact Investment Exchange Asia (IIX) ดำเนินการแพลตฟอร์มสำหรับกิจการเพื่อสังคมเพื่อระดมทุนอย่างมีประสิทธิภาพ มีแพลตฟอร์มการลงทุน Impact Incubator มุ่งเน้นไปที่การระดมทุนตั้งต้น (seed capital) แพลตฟอร์มการลงทุน Impact Partners เน้นกิจการเพื่อสังคมที่กำลังเติบโตซึ่งกำลังมองหาเงินทุนเพื่อขยายกิจการ

นอกจากนี้ IIX ได้เปิดตัว Impact Exchange ซึ่งดำเนินการโดยตลาดหลักทรัพย์มอริเชียส Stock Exchange of Mauritius โดยร่วมมือกับ IIX อำนวยความสะดวกให้เกิดสัญญาทางธุรกิจการลงทุนกับผู้ลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ 

ในด้านการให้คำปรึกษาและการจัดการแข่งขัน (Mentoring and Competition) องค์กรสนับสนุนหลายแห่งโดยเฉพาะศูนย์บ่มเพาะให้คำปรึกษาและโครงการฝึกอบรมธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการเพื่อสังคม

นอกจากนี้ ได้มีการจัดการแข่งขันและเวิร์คช็อปจำนวนมากเพื่อช่วยให้ผู้มีโอกาสเป็นผู้ประกอบการทางสังคมสามารถเลือกเครื่องมือและทักษะที่เป็นประโยชน์ได้ ตลอดจนมีแพลตฟอร์มสำหรับเสนองาน (pitching) กับนักลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ

โดยมีสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS), Republic Polytechnic และ Ngee Ann Polytechnic ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรด้านกิจการเพื่อสังคมสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่อาจสนใจในอาชีพการงานเพื่อสังคม

กิจการเพื่อสังคม (social enterprise) เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมของนานาประเทศ ประเทศไทยยังมีระบบการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมอยู่บ้างแต่ยังน้อย

ประเทศไทยจึงควรมีนโยบายเพื่อยกระดับระบบนิเวศที่จะสนับสนุนให้เกิดกิจการเพื่อสังคมดีๆ จำนวนมากซึ่งจะช่วยเข้าไปแก้ไขปัญหาประเทศพร้อมโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมที่จะสร้างผลกระทบทางสังคมและมีความยั่งยืน.