พาณิชย์จับเทรนด์ลงทุน สิงคโปร์มุ่งความมั่นคงอาหาร

พาณิชย์จับเทรนด์ลงทุน  สิงคโปร์มุ่งความมั่นคงอาหาร

“สิงคโปร์” เพื่อนบ้านไทยที่ไม่มีพรมแดนติดกันแต่มีความใกล้ชิดกัน ในหลายด้านแต่ด้านหนึ่งที่ไทยมีบทบาทอย่างมาก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คือเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร

หลังปัญหาโควิด-19,สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤติสำคัญที่รอแผลงฤทธิ์คือ “สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change ” ที่ประเมินว่าจะทำให้ความสามารถการผลิตอาหารของโลกลดลง

สินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เล่าถึงการนำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ได้หารือกับ ดร.ตัน ซี เหล็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า และอุตสาหกรรม ซึ่งได้เห็นพ้องจะกระชับความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีในการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร อาทิ ผลิตภัณฑ์นม ข้าว และผลไม้ ซึ่งไทยมีศักยภาพการผลิตและส่งออก 

“ความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้นของสิงคโปร์ นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยได้ส่งเสริมการส่งออกอาหารนวัตกรรมหรืออาหารแห่งอนาคตตามแนวทาง BCG ของไทย อาทิ โปรตีนทางเลือก และเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช พร้อมเชิญชวนสิงคโปร์นำเข้าสินค้าดังกล่าว และเพิ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตรและอาหารต่อไป”

พาณิชย์จับเทรนด์ลงทุน  สิงคโปร์มุ่งความมั่นคงอาหาร

สุปราณี ก้องเกียรติกมล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์ กล่าวว่า อาหารที่บริโภคในสิงคโปร์ มาจากการนำเข้าถึง 90% ทำให้ประเด็นความมั่นคงด้านอาหารเป็นเรื่องสำคัญมาก สิงคโปร์จึงกำหนดนโยบาย 3 หลักได้แก่ นโยบาย 30/30 คือ การผลิตอาหารเองในประเทศให้ได้สัดส่วน 30%  ภายในปี 2030  ในกลุ่มผัก ปลา ไข่ไก่  ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการสร้างแผนการผลิต 

นโยบายลำดับที่ 2 คือ การกระจายแหล่งนำเข้าอาหาร ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้าจาก 170 ประเทศทั่วโลก และลำดับที่ 3 คือ การสนับสนุนให้นักธุรกิจสิงคโปร์ออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อผลิต และส่งกลับมาในประเทศ 

จากนโยบายดังกล่าวไทยสามารถเข้าไปมีบทความสำคัญได้ เพราะไทยเป็นผู้ผลิต และส่งออกสินค้าอยู่แล้ว และไทยพร้อมสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างแหล่งผลิตในสิงคโปร์ในรูปแบบแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และองค์ความรู้ระหว่างกัน 

“จากช่วงโควิดที่ผ่านมา กรณีมาเลเซียระงับการส่งออกอาหารทำให้สิงคโปร์เริ่มไม่มั่นใจเรื่องการซัพพลายสินค้าจากต่างประเทศจึงพยายามพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด และเป็นที่มาของนโยบายดังกล่าว  ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับไทยในแง่การสร้างความร่วมมือเชิงลึกร่วมกันไม่ใช่เพียงแค่การซื้อขายสินค้าอาหารระหว่างกันเท่านั้นแต่เป็นการสร้างความร่วมมือ และพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร และการเกษตรร่วมกัน”

พาณิชย์จับเทรนด์ลงทุน  สิงคโปร์มุ่งความมั่นคงอาหาร

ปัจจุบันสิงคโปร์เริ่มสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาทับทิม  เลี้ยงไก่ไข่ หรือการทำฟาร์มผักแนวตั้ง  ขณะที่อาหารหลักอย่างข้าวซึ่งสิงคโปร์ไม่สามารถปลูกเองได้จึงกำหนดให้สำรองข้าวโดยผู้นำเข้าข้าวในสิงคโปร์ทุกรายต้องสำรองข้าวตามกฎหมายด้วยการนำส่งไปยังสต็อกของรัฐบาล

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในการประชุม Singapore Thailand Enhanced Economic Relationship (STEER) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างไทย และสิงคโปร์ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพต้น ต.ค.2565 จะมีการนำประเด็นการสร้างความร่วมมือเพื่อความมั่นคงด้านอาหารเข้าที่ประชุมด้วย เบื้องต้นไทยมีทั้งพื้นที่ ที่จะเพาะปลูก และซัพพลายสินค้าให้สิงคโปร์ได้ ขณะเดียวกันไทยก็ยังเดินหน้าบทบาทการส่งออกสินค้าอาหารให้สิงคโปร์ต่อไป โดยไทยต้องการให้ทักษะเทคโนโลยีและการจัดการของสิงคโปร์มาต่อยอดภาคการเกษตรของไทยเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน 

“หัวใจสำคัญของนโยบายความมั่นคงด้านอาหารของสิงคโปร์คือ ความมั่นใจ และแน่นอน ว่าจะมีอาหารบริโภคในประเทศอย่างเพียงพอ แม้เกิดวิกฤติต่างๆ เช่น กรณีโควิด หรือแม้แต่สงครามที่รัสเซีย และยูเครน หรือ วิกฤตการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงปัญหาโลกร้อนที่จะส่งผลต่อการผลิตอาหารที่สิงคโปร์ต้องการแน่ใจการแหล่งผลิตอาหารสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ และมีอาหารส่งมอบได้ตามกำหนด”

การแสวงหาโอกาส จากความท้าทายแห่งอนาคตคือ ช่องทางการสร้าง และเสริมเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตในบริบทแข็งแกร่งร่วมกันทั้งไทย และสิงคโปร์

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์

พาณิชย์จับเทรนด์ลงทุน  สิงคโปร์มุ่งความมั่นคงอาหาร