"น้ำท่วมอุบล" อ่วมหนัก อัปเดต! "สถานการณ์น้ำท่วม" จังหวัดไหนอีกบ้าง?

"น้ำท่วมอุบล" อ่วมหนัก อัปเดต! "สถานการณ์น้ำท่วม" จังหวัดไหนอีกบ้าง?

ไม่ใช่แค่ "น้ำท่วมอุบล" ที่น่ากังวล แต่คนกรุงเทพฯ ก็ต้องเฝ้าระวัง "สถานการณ์น้ำท่วม" เพราะขณะนี้เข้าสู่ช่วงเปราะบาง ล่าสุด..นนทบุรีเจอคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาแตก ทำให้มวลน้ำทะลักเข้าเขตเทศบาล เช็ก! ที่ไหนน้ำท่วมอีกบ้าง?

ช่วง 2-3 วันมานี้หลายคนคงได้ทราบข่าวคราว “น้ำท่วมอุบล” อ่วมหนัก พบหลายจุดมีน้ำท่วมขังจนดูคล้ายบึงน้ำขนาดใหญ่ ประชาชนต้องอพยพหนีนำ้หลายร้อยครัวเรือน ทำให้ภาพจำของ “น้ำท่วมใหญ่ปี 2554” กลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง เพราะสาเหตุหลักของน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 54 มาจากมวลน้ำมหาศาลจากภาคเหนือและอีสานไหลทะลักเข้าสู่ภาคกลาง

ดังนั้น ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องเฝ้าระวังและคอยติดตามข่าวสารช่วงนี้ให้ดี โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่น้ำท่วม, ปริมาณนำ้, การปล่อยน้ำในเขื่อน, เส้นทางนำ้ไหล ฯลฯ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้พร้อมยกของขึ้นที่สูงและอพยพสู่พื้นที่ปลอดภัยได้ทันท่วงที

มีรายงานข่าวจาก “กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” (ปภ.) ระบุว่า ไม่ใช่แค่ จ.อุบลราชธานี เท่านั้นที่ประสบอุทกภัยอย่างหนักหน่วง แต่ยังมีอีกหลายๆ จังหวัดในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง ต่างก็กำลังเผชิญปัญหาน้ำท่วมสูงรวมแล้วกว่าแสนครัวเรือน! กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนอัปเดต “สถานการณ์น้ำท่วม” ล่าสุด ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1. สถานการณ์น้ำในเขื่อน พายุ และปริมาณฝน

ปภ. รายงานผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย รวมถึงพายุโนรู เหล่านี้ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับมีการระบายน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง 

\"น้ำท่วมอุบล\" อ่วมหนัก อัปเดต! \"สถานการณ์น้ำท่วม\" จังหวัดไหนอีกบ้าง?

2. อัปเดต 10 ต.ค. 65 น้ำท่วมแล้ว 25 จังหวัด

ปภ. รายงานผลกระทบจากฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ยังมีพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง รวม 25 จังหวัด 132 อำเภอ 704 ตำบล 4,354 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 154,090 ครัวเรือน แนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ ได้ประสานจังหวัดดูแลผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องและระดมกำลังเร่งระบายน้ำอย่างเต็มกำลัง

โดยในจำนวน 25 จังหวัดที่ยังคงเผชิญ “สถานการณ์น้ำท่วม” ได้แก่

ภาคเหนือ : ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ รวม 4 จังหวัด 19 อำเภอ 114 ตำบล 759 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 19,674 ครัวเรือน

ภาคอีสาน : ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี รวม 11 จังหวัด 61 อำเภอ 220 ตำบล 1,327 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 37,680 ครัวเรือน

ภาคกลาง : อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม นครนายก รวม 9 จังหวัด 45 อำเภอ 329 ตำบล 2,018 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 84,416 ครัวเรือน

ภาคตะวันออก : ปราจีนบุรี รวม 1 จังหวัด 6 อำเภอ 39 ตำบล 250 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 12,210 ครัวเรือน

\"น้ำท่วมอุบล\" อ่วมหนัก อัปเดต! \"สถานการณ์น้ำท่วม\" จังหวัดไหนอีกบ้าง?

3. อัปเดต “สถานการณ์น้ำท่วม” ล่าสุด!

  • (10 ต.ค. 65) จ.ขอนแก่น น้ำท่วมสูง 50 ซม. เขื่อนเร่งระบายน้ำอีก

แม่น้ำชีเอ่อล้นตลิ่งทำให้ไหลทะลักเข้าท่วม ถ.เหล่านาดี หน้าศาลปกครองขอนแก่น จ.ขอนแก่น ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซม. รถขนาดเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ทั้งนี้ ทางการขอนแก่นมีมติให้เขื่อนอุบลรัตน์ปล่อยน้ำในระดับ วันละ 50 - 54 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะทำให้มีน้ำเพิ่มขึ้นอีก 5 - 10 ซม. เนื่องจากขณะนี้ ปริมาณน้ำกักเก็บของเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณสูงถึง 129% ของความจุอ่างแล้ว ถือว่าน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีมากที่สุดตั้งแต่ตั้งเขื่อนมาใน ปี 2521 ซึ่งเขื่อนรับน้ำได้สูงสุด 2,431 ล้าน ลบ.ม.

  • (10 ต.ค. 65) จ.นครราชสีมา น้ำท่วมสูง 50-70 ซม.

มีรายงานข่าวว่าปริมาณน้ำจากลำน้ำมูลเอ่อล้นตลิ่ง ไหลทะลักลงมาสะสม ณ บริเวณ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา โดยปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนของชาวบ้าน บ้านโนนมันเทศ หมู่ที่ 7 ตำบลลำมูล อำเภอโนนสูง ปริมาณน้ำท่วมสูงประมาณ 50-70 เซนติเมตร บางจุดท่วมสูง 1 เมตร และระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ 

  • (10 ต.ค. 65) จ.มหาสารคาม ผนังกั้นน้ำชีทรุด!

ปภ.มหาสารคาม รายงานเหตุผนังกั้นน้ำชีทรุด ทำให้น้ำชีเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านท่างาม หมู่ที่ 14 ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย ประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 130 ครัวเรือน ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัยบริเวณถนนเรียบคลองชลประทาน หน้าสำนักงานฝ่ายบำรุงรักษาที่ 6

\"น้ำท่วมอุบล\" อ่วมหนัก อัปเดต! \"สถานการณ์น้ำท่วม\" จังหวัดไหนอีกบ้าง?

  • (10 ต.ค. 65) จ.ชัยนาท เขื่อนเจ้าพระยาเร่งปล่อยน้ำสูงสุด

เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท รายงานการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ในปริมาณ 3,113 ลบ.ม./วินาที ซึ่งถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่มีการปล่อยน้ำมาในปีนี้ และทำให้ระดับน้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยสูงขึ้นอย่างมาก ประชาชนในหลายอำเภอของพระนครศรีอยุธยากำลังเดือนร้อนอย่างหนัก

  • (9 ต.ค. 65) จ.อุบลฯ เขื่อนเจ้าพระยาเร่งปล่อยน้ำสูงสุด

เกิดเหตุกระแสน้ำไหลแรงกัดเซาะแนวกั้นน้ำพัง ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมภายในห้างดูโฮม ผู้ค้าวัสดุรายใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี ถนนสถิตนิมานกาล เทศบาลเมืองวารินชำราบ และมีพนักงานเกือบ 100 คน เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญูได้เร้่งเข้าไปช่วยเหลือ โดยพบว่าหน้าอาคารมีน้ำท่วมสูง 70-80 ซม. ส่วนภายในห้างมีน้ำท่วมขังประมาณ 5-10 ซม.

  • (8 ต.ค. 65) จ.อุบลฯ เขื่อนเจ้าพระยาเร่งปล่อยน้ำสูงสุด

สถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท กุญแจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลงสู่ภาคกลาง พบว่า น้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาผ่าน "จุดวัดน้ำ" ค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วัดได้อัตรา 3,099 ลบ.ม./วินาที โดยระดับน้ำที่สูงล้นตลิ่งได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนริมตลิ่งใน 3 อำเภอเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่  อ.เมืองชัยนาท อ.วัดสิงห์ และ อ.มโนรมย์

ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีการปรับระดับการแจ้งเตือนจากธงเหลือง ในสถานการณ์เฝ้าระวัง ขึ้นเป็นธงแดง เป็นสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติ ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพหนีน้ำขึ้นมาอยู่ริมถนนสายต่างๆ กว่า 1,300 ครัวเรือน

\"น้ำท่วมอุบล\" อ่วมหนัก อัปเดต! \"สถานการณ์น้ำท่วม\" จังหวัดไหนอีกบ้าง?

4. อัปเดตพื้นที่เฝ้าระวัง “น้ำท่วม” (ณ 10 ต.ค. 65) 

  • พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังในระยะสั้น

ภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ กรุงเทพมหานคร

  • พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง

ภาคเหนือ ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี

ภาคอีสาน ได้แก่ อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์  สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี  นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว

  • พื้นที่เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง และพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่ง

ภาคกลาง ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพมหานคร

ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ทั้งนี้ ปภ. ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ อันตรายจากกระแสไฟฟ้า

โดยเฉพาะบริเวณที่น้ำท่วมสายไฟฟ้า เสาไฟฟ้า หรือวัตถุสื่อนำกระแสไฟฟ้า และระวังการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านเส้นทาง รวมถึงควรงดการท่องเที่ยวในพื้นที่ถ้ำที่มีน้ำท่วมขัง และน้ำตกที่น้ำไหลเชี่ยว

--------------------------------

อ้างอิง : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, trueid, TNN, มติชน