24 จังหวัดยังไม่มี "ผู้ว่าราชการจังหวัด" เหตุคนเก่า "เกษียณอายุราชการ"

24 จังหวัดยังไม่มี "ผู้ว่าราชการจังหวัด" เหตุคนเก่า "เกษียณอายุราชการ"

ชาวเน็ตสงสัย! เจออัปเดตรายนาม "ผู้ว่าราชการจังหวัด" ของจังหวัดต่างๆ ทั่วไทย พบ 24 จังหวัดไร้พ่อเมือง (ข้อมูล ณ 1 ต.ค. 65) โดยคาดว่าสาเหตุมาจากการ "เกษียณอายุราชการ"

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ในโลกโซเชียลแห่แชร์ความเห็นเกี่ยวกับการ ร้องเรียน/ร้องทุกข์ "ปัญหาน้ำท่วม" ที่กำลังเกิดขึ้นหลายจังหวัดในขณะนี้ โดยชาวกรุงเทพฯ สามารถร้องเรียนจุดน้ำท่วมต่อ ผู้ว่าฯ กทม. ได้โดยตรงผ่านระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ ขณะที่ชาวเน็ตจังหวัดอื่นๆ ออกมาแชร์ว่า แจ้งร้องเรียน/ร้องทุกข์ อะไรไปก็ไม่ถึงมือ "ผู้ว่าราชการจังหวัด" และไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา

ที่สำคัญยังพบด้วยว่าบางจังหวัดไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัด โดยระบุว่าตำแหน่ง “ว่าง”

มีข้อมูลจาก "กระทรวงมหาดไทย" ว่าด้วยการอัปเดตรายนามผู้ว่าราชการจังหวัดรอบใหม่ ของจังหวัดต่างๆ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา พบว่ามี 24 จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท นครนายก นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พิจิตร เพชรบุรี แพร่ มุกดาหาร ยโสธร ยะลา ระนอง เลย ศรีสะเกษ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สุโขทัย หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุทัยธานี

24 จังหวัดยังไม่มี \"ผู้ว่าราชการจังหวัด\" เหตุคนเก่า \"เกษียณอายุราชการ\"

ทั้งนี้ สาเหตุที่บางจังหวัดไม่มี “ผู้ว่าราชการจังหวัด” มาจากการที่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ข้าราชการหลายหน่วย เข้าสู่การ “เกษียณอายุราชการ” จึงสิ้นสุดการทำงานในตำแหน่งนี้ไปตามระเบียบ และยังไม่มีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการคนใหม่ขึ้นมาแทน

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะทำหน้าที่ต่างๆ แทน “ผู้ว่าฯ” ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้ว่าคนใหม่ขึ้นมานั้น ก็คือ “รองผู้ว่าราชการจังหวัด” โดยตามกฎหมาย พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2553 ในส่วนที่ 2 “การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค” มาตรา 56 ระบุไว้ว่า

ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ “รองผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ “ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นผู้รักษาราชการแทน หรือถ้าไม่มีอีก ก็ให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่ลดหลั่นลงไป (ปลัดจังหวัด,หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด) มาทำหน้าที่แทน 

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายในมาตรา 57 ได้ระบุถึงอำนาจและหน้าที่ของ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” และ/หรือ ผู้รักษาการแทน ผู้ว่าฯ ที่ต้องปฏิบัติงานแทนผู้ว่าฯ เอาไว้ดังนี้

1. บริหารราชการตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และตามแผนพัฒนาจังหวัด

2. บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มอบหมายหรือตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ

3. บริหารราชการตามคำแนะนำและคำชี้แจงของผู้ตรวจราชการกระทรวง ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม มติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรี

24 จังหวัดยังไม่มี \"ผู้ว่าราชการจังหวัด\" เหตุคนเก่า \"เกษียณอายุราชการ\"

4. กำกับดูแลการปฏิบัติราชการอันมิใช่ราชการส่วนภูมิภาคของข้าราชการซึ่งประจำอยู่ในจังหวัดนั้น ยกเว้น ข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และข้าราชการครู ให้ปฏิบัติราชการ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม หรือมติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรี หรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ของข้าราชการในจังหวัดที่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม มติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรีไว้ชั่วคราวแล้วรายงานกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง

5. ประสานงานและร่วมมือกับข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และข้าราชการครู ผู้ตรวจราชการ และหัวหน้าส่วนราชการในระดับเขตหรือภาค ในการพัฒนาจังหวัดหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ

6. เสนองบประมาณต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หรือเสนอขอจัดตั้งงบประมาณต่อสำนักงบประมาณตามมาตรา 52 วรรคสาม และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ

7. กำกับดูแลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย

8. กำกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานองค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ ในการนี้ให้มีอำนาจทำรายงานหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดองค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ

9. บรรจุ แต่งตั้ง ให้บำเหน็จ และลงโทษ ข้าราชการในส่วนภูมิภาคในจังหวัดตามกฎหมาย และตามที่ปลัดกระทรวง ปลัดทบวง หรืออธิบดีมอบหมาย

24 จังหวัดยังไม่มี \"ผู้ว่าราชการจังหวัด\" เหตุคนเก่า \"เกษียณอายุราชการ\"

ส่วนประชาชนในต่างจังหวัด หากต้องการส่งเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ ให้ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถส่งเรื่องไปได้ที่ #ศูนย์ดำรงธรรม ประจำจังหวัดต่างๆ โดยสามารถติดต่อร้องเรียน/ร้องทุกข์ ได้หลายช่องทาง ได้แก่

  • ช่องทาง 1 : ร้องเรียนด้วยตนเองที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดได้ทุกจังหวัด หรือศูนย์ดำรงธรรมในทุกอำเภอ
  • ช่องทาง 2 : คือ ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ www.damrongdhama.moi.go.th
  • ช่องทาง 3 : ส่งเอกสารร้องเรียนทางไปรษณีย์ จ่าหน้าซองถึงศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด แจ้งส่งถึงมือผู้ว่าราชการจังหวัด
  • ช่องทาง 4 : ร้องทุกข์/ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1567
  • ช่องทาง 5 : ร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชัน “MOI 1567”

------------------------------------------

อ้างอิง : รายนามผู้ว่าราชการจังหวัดพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินศูนย์ดำรงธรรมคู่มือใช้งานระบบร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม