12 มิ.ย.ชี้ชะตา เทียบเหตุผล แพทยสภา'ลงโทษ' – 'สมศักดิ์' ยับยั้ง โทษแพทย์รักษา 'ทักษิณ'

12 มิ.ย.ชี้ชะตา เทียบเหตุผล แพทยสภา'ลงโทษ' – 'สมศักดิ์' ยับยั้ง โทษแพทย์รักษา 'ทักษิณ'

เทียบข้อเท็จจริง-เหตุผล แพทยสภามติลงโทษ – “สมศักดิ์”ใช้สิทธิยับยั้ง ก่อนถึงวันที่ 12 มิ.ย.68 ชี้ชะตาลงโทษแพทย์ 3 คน ปมเกี่ยวรักษาทักษิณ ชั้น 14 รพ.ตำรวจ

KEY

POINTS

  • ก่อนถึงวันชี้ชะตา 12 มิ.ย.2568 “กรุงเทพธุรกิจ” พามาดู “ข้อเท็จจริง” ที่แพทย์ 3 คนนี้เข้าไปเกี่ยวข้องในสถานการณ์ต่างๆ ของการให้การรักษาคุณทักษิณ รวมถึงเทียบ “เหตุผล” ที่แพทยสภามีมติ “ลงโทษ” และ “นายสมศักดิ์” วีโต้”
  • นายสมศักดิ์ เทพสุทินใช้สิทธิสภานายกพิเศษเข้าร่วมประชุมด้วย โดยแพทยสภาให้เวลา 15 นาที ในช่วงเวลา 12.00 -12.15 น. เพื่อชี้แจง และอธิบาย และกรรมการแพทยสภาที่นัยว่าจะเข้าประชุมแบบ “พร้อมพรัก” โดยเฉพาะกรรมการจากการเลือกตั้ง 35 คนมาครบ 100 %
     
  • จับตา! การประชุมแพทยสภา 12 มิ.ย.68 นี้ “มติแพทยสภา” ในเรื่องนี้ จะออกมาอย่างไร  ท่ามกลางกระแสเสียง “เชียร์” และ “ดิสเครดิต” แพทยสภา ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่  8 พ.ค.2568 แพทยสภา มีมติ ลงโทษแพทย์ 3 คนที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจของนายทักษิณ ชินวัตร โดยเป็นการว่ากล่าวตักเตือน 1 ท่าน ในกรณีประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ได้มาตรฐาน และพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2 ท่าน ในกรณีให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง

ก่อนที่ต่อมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ แพทยสภา จะใชสิทธิ “ยับยั้ง” (วีโต้) มติของแพทยสภา โดยส่งหนังสือกลับไปยังแพทยสภาเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2568

ส่งผลให้แพทยสภาจะต้องประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้ง เพื่อมีมติว่าจะ “ยืนยัน”ตามมติเดิมในการลงโทษแพทย์ 3 คน หรือ เห็นด้วยกับการวีโต้ของนายสมศักดิ์ โดยหากจะยืนยันมติต้องได้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของกรรมการแพทยสภาทั้งหมด หรือ 47 เสียง ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 12 มิ.ย.68 นี้

ก่อนถึงวันชี้ชะตาอีกครั้ง 12 มิ.ย.2568 “กรุงเทพธุรกิจ” พามาดู “ข้อเท็จจริง” ที่แพทย์ 3 คนนี้เข้าไปเกี่ยวข้องในสถานการณ์ต่างๆ ของการให้การรักษาคุณทักษิณ รวมถึง เทียบ “เหตุผล” ที่แพทยสภามีมติ “ลงโทษ” และ “นายสมศักดิ์” วีโต้”

 

1.กรณี พญ.รพ.ราชทัณฑ์

ข้อเท็จจริง เป็นแพทย์ผู้ทําหน้าที่ตรวจร่างกายผู้ต้องขังแรกรับในเรือนจํา ได้ทําหน้าที่ในการตรวจร่างกายผู้ต้องขังแรกรับ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 มีการบันทึกผลเวชระเบียน ตรวจสอบเอกสารประวัติการรักษาของคนไข้ที่มีอยู่ก่อน โดยได้ประเมิน และมีความเห็นว่ากรณีผู้ต้องขังรายนี้ควรติดตามการรักษา และต้องพบแพทย์เฉพาะทาง หลายสาขา ซึ่งเป็นสาขาเฉพาะทางที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มี

จึงได้เขียนใบส่งตัวให้ผู้ป่วยไปรับการตรวจรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าในลักษณะผู้ป่วยนอก (OPD) โดยประสงค์ให้ทางเรือนจําประสานงานขั้นตอนการนําตัวออกไปทําการตรวจ และรักษาในวัน และเวลาราชการ

ต่อมามีการให้คําปรึกษาทางโทรศัพท์กับพยาบาลเวรในช่วงเวลาดึกของวันเดียวกันเกี่ยวกับอาการป่วยของผู้ต้องขัง และได้อนุญาตให้ใช้ใบส่งตัวที่เขียนไว้ดังกล่าวเพื่อเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาของผู้บัญชาการเรือนจําในการนําตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจํา และได้มีการนําตัวผู้ต้องขังคนดังกล่าวไปรักษาตัวนอกเรือนจําในเวลาต่อมา

เหตุผลแพทยสภาลงโทษ  ไม่ดําเนินการตามมาตรฐานการรักษาในกรณีดังกล่าวให้ถูกต้องครบถ้วน ควรให้ผู้มีหน้าที่ตรวจประเมินผู้ป่วยบันทึกข้อมูลความรุนแรงของโรคในภาวะวิกฤติ และเป็นผู้ลงความเห็นในแบบฟอร์มดังกล่าวเองว่าสมควรรีบส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อนอกเรือนจํา หรือหากผู้ถูกร้องจะอนุญาตให้ผู้มีหน้าที่ตรวจประเมินใช้แบบสําหรับส่งตัวผู้ป่วยไปตรวจหรือรับการรักษาต่อตามแบบที่ตนเองได้เขียนไว้ในเวลาแรกรับ 

ต้องแจ้งให้ผู้มีหน้าที่ตรวจประเมินระบุลงในแบบฟอร์มดังกล่าวให้ชัดเจนว่าข้อมูลทางคลินิกในแบบสําหรับส่งผู้ป่วยไปตรวจหรือรักษาต่อตามแบบที่ผู้ถูกร้องเขียนไว้นั้น เป็นผลจากการตรวจร่างกายผู้ป่วย ในตอนแรกรับ และใช้สําหรับส่งตัวในภาวะปกติเท่านั้น และแนะนําให้ ผู้มีหน้าที่ตรวจประเมินผู้ป่วยในขณะนั้นบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคในภาวะวิกฤติ เช่น สัญญาณชีพ ให้ครบถ้วน ลงในเอกสารที่ต้องแนบส่งไปพร้อมกับจดหมายของพัศดีเวร และผู้ป่วยในคืนนั้นด้วย

เหตุผลสมศักดิ์วีโต้  แพทยสภาเป็นการวินิจฉัยมาตรฐานการประกอบวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยไม่ได้นําข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับสถานการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้อง กฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องอันเป็นพฤติการณ์แวดล้อม และเป็นข้อจํากัดในสถานการณ์นั้นๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย

อีกทั้งข้อกล่าวหา และการสอบสวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบหรือความเสียหายของผู้ป่วยอันเกิดจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของผู้ถูกร้อง

 

2.กรณี อดีตนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ

ข้อเท็จจริง  ขณะเป็นนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตํารวจ ได้ให้สัมภาษณ์ตอบคําถามของผู้สื่อข่าว ซึ่งมีการกล่าวถึงอาการป่วยของผู้ต้องขังป่วย  ซึ่งมารับการรักษาที่โรงพยาบาลตํารวจ จํานวน 2 ครั้ง กล่าวคือ การสัมภาษณ์ในวันที่ 23 สิงหาคม 2566 และในวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ปรากฏถ้อยคําสัมภาษณ์ดังนี้ บันทึกบทสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566

นักข่าว : “ความดันเท่าไร”

ผู้ถูกร้อง : “ความดันเมื่อเช้าตอนก่อนที่จะมาเนี่ย เท่าที่หมอรายงานเนี่ย ยังความดัน สูงอยู่นะครับ ตัวบนยัง 170 ตัวล่างยัง 115-120 แล้วก็กลัวอยู่เหมือนกันครับ กลัวพวกความดันสูงมากๆ เดี๋ยวจะมีปัญหาเรื่องสมองขาดเลือดหรือเลือดออกในสมอง เราก็กลัวครับ ทางอาจารย์หมอราชทัณฑ์ก็กลัว เรื่องนี้ ก็เลยรีบส่งต่อจนความดันลง”

บันทึกบทสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566

ผู้ถูกร้อง : “คือ เราทําตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แล้วเราทํา echo ตอนแรกเราทํา echo mobile วันนี้เราทํา echo เครื่องใหญ่ echo หัวใจครับ ดูก็พบว่ายังมีอาการน่าเป็นห่วงอยู่ ความดันยังทรงตัว อยู่ ช่วงยังไม่พ้นระยะเวลากักตัวนะครับ แล้วก็ยังมีอาการไอแล้วก็หอบอยู่ จากเอกซเรย์ปอดหรืออะไรอย่างนี้ คือ คุณหมอทางด้านหัวใจ คุณหมอปอดเขายังเป็นห่วงเรื่องนี้อยู่”

เหตุผลมติแพทยสภาลงโทษ  การให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ไม่ครบถ้วน ประพฤติผิดจริยธรรมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมกรณีให้ข้อมูลทางการแพทย์ไม่ตรงกับความเป็นจริง การให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนตามที่ปรากฏอยู่ในเวชระเบียน ทําให้การเจ็บป่วยดูยังมีความรุนแรง

การให้สัมภาษณ์นักข่าวในกรณีที่เป็นประเด็นใหญ่ทางสังคมนั้น ควรมีความระมัดระวัง และไม่ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ถือเป็นความผิดร้ายแรง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทําให้สังคมเข้าใจว่าผู้ป่วยมีอาการฉุกเฉินรุนแรงจําเป็นต้องรับตัวไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นการบิดเบือนความจริงไปจากที่บันทึกไว้ในเวชระเบียน ส่งผลทําให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง

เหตุผลนายสมศักดิ์ วีโต้  การวินิจฉัยความผิด และการลงโทษของคณะกรรมการแพทยสภาดังกล่าวมิได้นําข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับพฤติการณ์แวดล้อมของการกระทําที่ถูกกล่าวโทษมาประกอบการพิจารณาเลย

ข้อเท็จจริงจากการสอบสวนรับฟังได้ว่า การให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์ดังกล่าวมิใช่เป็นการให้ ข้อมูลโดยการเตรียมการหรือตั้งโต๊ะแถลงข่าว แต่หากเป็นการให้ข้อมูลโดยการตอบคําถามผู้สื่อข่าวที่ไปรอพบ ผู้ถูกร้องหน้าห้องทํางานโดยมิได้มีการนัดหมาย ผู้ถูกร้องได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ชี้แจงหรือให้ข้อมูลชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการรับผู้ต้องขังป่วยรายนี้ ซึ่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตํารวจ

เป็นการตอบคําถามตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ถึงสาเหตุความจําเป็นทางการแพทย์ ในการรับตัวผู้ต้องขังป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตํารวจ ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคม และผู้สื่อข่าวให้ความสนใจข้อมูลของผู้ป่วยที่มีการกล่าวถึง  

ในการตอบคําถามผู้สื่อข่าวดังกล่าว ผู้ถูกร้องได้รับข้อมูลตามความเป็นจริงจากรายงานของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น ผู้ถูกร้องมิได้เป็นแพทย์ผู้ให้การรักษาที่จะสามารถให้ข้อมูล อย่างครบถ้วนในสถานการณ์เดียวกันได้

3.กรณีแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ

ข้อเท็จจริง  ออกใบแสดงความเห็นแพทย์ ในส่วนของความเห็นแพทย์ในใบแสดงความเห็นแพทย์เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ระบุว่า “การรักษายังไม่สิ้นสุด เพราะต้องรักษาแผลที่ผ่าตัด ตรวจ และวางแผนผ่าตัดโรคที่รายงาน จึงจําเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล”

และในใบแสดงความเห็น แพทย์เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ระบุว่า “ต้องรับการผ่าตัดเร่งด่วน เพราะมีอาการปวดรุนแรง มือและแขน อ่อนแรง”

 เหตุผลแพทยสภาลงโทษ การออกใบแสดงความเห็นแพทย์ของผู้ถูกร้องทั้งสองใบถือว่ามีข้อมูลทางการแพทย์ ไม่ตรงกับความเป็นจริง รวมทั้งผู้ถูกร้องเป็นประสาทศัลยแพทย์ ไม่ใช่ผู้มีความรู้ ความชํานาญทาง ศัลยกรรมกระดูก และข้อ ซึ่งเป็นโรคที่ได้รับการผ่าตัดในผู้ป่วยรายนี้ จึงไม่ควรลงความเห็นแทนแพทย์ศัลยกรรมกระดูก และข้อ โดยควรให้แพทย์เจ้าของไข้หรือแพทย์ผู้ผ่าตัดเป็นผู้ลงความเห็น

นอกจากนี้ ผู้ถูกร้องย่อมทราบว่าความเห็นแพทย์ทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นความเป็นแพทย์ที่จะถูกนําไปใช้ประกอบการขอความเห็นชอบสําหรับกรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวนอกเรือนจํานานเกินกว่า 30 วัน และ 60 วันตามลําดับ
ผู้ถูกร้องควรระบุความเห็นให้ชัดเจนว่าผู้ป่วยควรพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลาเท่าใด และเหตุผลที่ชัดเจนในการต้องพักรักษาตัว เป็นการให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรง กับความเป็นจริง มีพิรุธ ทําให้ผู้ป่วยที่เป็นนักโทษสามารถพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนอกเรือนจํานานเกินกว่าที่ควรจําเป็น อาจทําให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้ประโยชน์โดยมิชอบ เป็นการเลือกปฏิบัติ ส่งผลกระทบต่อสังคม และความเชื่อมั่นต่อวงการแพทย์อย่างชัดเจน

เหตุผลสมศักดิ์ วีโต้  ข้อความในส่วนความเห็นแพทย์ในใบแสดงความเห็นแพทย์ เป็นการให้ความเห็นในการใส่ใจดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด และอยู่ระหว่างการรอตัดไหม ซึ่งมีโรคเดิมหลายโรค และเป็นความเห็นตามปกติที่ศัลยแพทย์ทั่วไปที่รับผิดชอบติดตามดูแลคนไข้ของตนในโรงพยาบาลทั่วไปให้เสร็จสิ้นกระบวนการผ่าตัดรักษาจะให้ความเห็นแบบนี้ได้อยู่แล้ว การกระทําของผู้ถูกร้องยังไม่ถือว่าเป็นความผิดจริยธรรมตามที่ถูกกล่าวหา


ทั้งนี้ กรณีแพทย์ 3 คน จากข้อเท็จจริง และเหตุผลของแพทยสภาในการลงโทษ และเหตุผลนายสมศักดิ์ ในการวีโต้นั้น มีจุดที่เป็นหลักในการพิจารณาแตกต่างกัน โดยแพทยสภายึดหลัก “มาตรฐานวิชาชีพเวชกรรม” และ “จริยธรรมทางการแพทย์” 

ส่วนของนายสมศักดิ์ นั้นยึดหลัก “จริยธรรมทางการแพทย์” กฎหมายอื่นๆ และสภาพแวดล้อมอื่นๆ ไม่ได้พิจารณาในหลัก “มาตรฐานวิชาชีพเวชกรรม”

จับตา! การประชุมแพทยสภา 12 มิ.ย.68 นี้ ที่นายสมศักดิ์ จะใช้สิทธิสภานายกพิเศษเข้าร่วมประชุมด้วยในเวลา 12.00 -12.15 น. เพื่อชี้แจง และอธิบาย และกรรมการแพทยสภาที่นัยว่าจะเข้าประชุมแบบ “พร้อมพรัก” โดยเฉพาะกรรมการจากการเลือกตั้ง 35 คนมาครบ 100 %

“มติแพทยสภา”ในเรื่องนี้ จะออกมาอย่างไร  ท่ามกลางกระแสเสียง “เชียร์” และ “ดิสเครดิต” แพทยสภา ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง


 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์