กฎหมายคุมเหล้าเบียร์(ใหม่) เอาผิด 'คนขาย' ให้ 'คนเมา' จับตาสภาฯ ถก 19 ก.พ.นี้

คลี่(ร่าง)กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ก่อนสภาฯ พิจารณา 19 ก.พ.68 นี้ พบเปลี่ยนแปลง 4 เรื่องใหญ่ ผ่อนคลาย - เข้มขึ้น กังวลผู้แทนธุรกิจน้ำเมานั่ง คกก.ควบคุมฯ เกิดผลประโยชน์ขัดกัน กระทบออกมาตรการควบคุม ขณะที่มีการกำหนดเอาผิด “คนขาย” จำเลยร่วม กรณีขายคนเมา
KEY
POINTS
- จับตา 19 ก.พ. สภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่...)พ.ศ....เปลี่ยนแปลงการควบคุมน้ำเมาในไทย
- คลี่(ร่าง)กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ พบ 4 เรื่องใหญ่ ผ่อนคลาย-เข้มขึ้น คลายล็อกการโฆษณา -กำหนดเอาผิด “คนขาย” จำเลยร่วม กรณีขายคนเมา
- กังวลผู้แทนธุรกิจน้ำเมานั่งคกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิดผลประโยชน์ขัดกัน ผลประโยชน์ทับซ้อน กระทบออกมาตรการควบคุม
วันที่ 19 ก.พ.2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 มีวาระพิจารณาเรื่อง (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่...)พ.ศ.... เป็นฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการวิสามัญเสียงส่วนใหญ่ จากที่ก่อนหน้ามีการเสนอร่างแก้ไข 5 ฉบับจากหลายภาคส่วน
“กรุงเทพธุรกิจ”คลี่(ร่าง)พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับดังกล่าว พบว่า มีหลายส่วนที่แตกต่างจากพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งใช้บังคังมาแล้วเข้าสู่ปีที่ 17 ทั้งผ่อนคลาย และเข้มมาตรการควบคุมอย่างน้อย 4 เรื่องใหญ่
ผู้แทนธุรกิจน้ำเมานั่งใน คกก.ควบคุมฯ
1.องค์ประกอบของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มี 34 คน โดยมี รมว.สาธารณสุขเป็นประธานนั้น ได้มีการเสนอเพิ่มผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์กรนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิต นำเข้า และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวม 4 คน
ผ่อนคลายให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2.การโฆษณา มีการแก้ไขให้มีความชัดเจนขึ้นแยกแยะเป็น 5 มาตรา คือ
- ห้ามไม่ให้ผู้ใดดำเนินการโฆษณา ยกเว้น ผู้ผลิต นำเข้า จำหน่าย ที่จะดำเนินการพูดถึงคุณสมบัติ แหล่งที่มาได้ แต่ต้องไม่โฆษณาในเงื่อนไข ที่เป็นช่องทางที่เป็นการรับรู้โดยทั่วไป เช่น บิลบอร์ด ฟรีทีวี ,เป้าหมายต้องไม่เป็นบุคคลมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ,ต้องมีข้อความคำเตือน และห้ามอ้างสรรพคุณอันเป็นเท็จ เกินความจริง
- ผู้มีชื่อเสียง อินฟลูเอนเซอร์ ห้ามใช้ชื่อเสียงเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนสื่อสารข้อมูลต่อสาธารณชน โดยมุ่งหมายชักจูงใจให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กรณีการทำ CSR หรือสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ ห้ามในลักษณะที่ส่งเสริมการดื่มมากขึ้น
- ห้ามใช้ตราเสมือน โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ห้ามเผยแพร่กิจกรรมหรือข่าวสารเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมเกี่ยวกับการทำCSR
ขายให้คนเมา เอาผิดร้านค้า
3.เพิ่มเรื่องความรับผิดชอบของผู้ขาย โดยกำหนดให้ผู้ขายที่มีข้อสงสัยว่าผู้ซื้อมีอายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถขอดูบัตรประชาชนได้ รวมถึง กรณีขายให้คนเมา จะมีระเบียบออกมาในเรื่องการพิจารณาคนเมา และสามารถปฏิเสธไม่ขายให้ได้ และถ้าผู้ขายประมาท เลินเล่อแล้วขายให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือคนเมา แล้วไปเกิดปัญหาตามมานั้น บุคคลที่ 3 นอกจากจะเอาผิดทางแพ่งกับคู่กรณีแล้ว สามารถเอาผิดต่อร้านค้าเป็นจำเลยร่วมได้
และ4.คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด จะมีอำนาจหน้าที่มากขึ้น ในการออกประกาศเพิ่มเติมหรือผ่อนคลายมาตรการบางอย่างที่ไม่ขัดกับกฎหมายแม่ ในการบังคับใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้ เช่น กรณีก่อนหน้านี้การให้ขายได้ถึงตี 5 ใน 5 พื้นที่ ภูเก็ต เชียงใหม่ กทม. ชลบุรี และเกาะสมุย เพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ หรือ บางพื้นที่จะกำหนดเวลาห้ามขายมากขึ้นก็ได้
กังวล คกก.ผลประโยชน์ขัดกัน
ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจ"ว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนี้ ส่วนที่เป็นข้อน่ากังวลมากที่สุด คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“เรื่องนี้น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอำนาจหน้าที่ออกมาตรการควบคุมต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีผู้ที่มีผลประโยชน์ขัดกัน หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ซึ่งผมและกรรมาธิการเสียงส่วนน้อยได้ขอสงวนความคิดเห็นว่าขัดกันแห่งผลประโยชน์” ธีระ กล่าว
ธีระ กล่าวด้วยว่า หลักการของ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ใช่สินค้าโดยทั่วไป เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และเด็กเยาวชน ซึ่งพ.ร.บ.ปี 2551 วางหลักไว้เช่นนี้ เพื่อให้ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พอควรแก่เหตุ เช่น การโฆษณา การขาย การดื่ม ลด แลก แจก แถม กระทำได้บางอย่าง แต่ขัดแย้งกับสิ่งที่ทางภาคธุรกิจต้องการ ที่ต้องการกำไรจึงพยายามขายด้วยวิธีการต่างๆ เหมือนสินค้าโดยทั่วไป
เมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขแล้วให้ผู้แทนภาคธุรกิจเข้ามาเป็นกรรมการควบคุมฯ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลการมีส่วนร่วม หรือการจะให้มาให้ข้อมูล แม้ว่าจำนวนผู้มีผลประโยชน์โดยตรงจะมี 1 คน จาก 4 คน แต่เป็นสิ่งที่ขัดหลักการ
ฉะนั้น จึงต้องให้ที่ประชุมสภาฯ ตัดสินใจว่าจะยึดหลักการสำคัญของกฎหมายมหาชนที่ว่าด้วยควบคุม และจำกัดสินค้าที่ปัญหาต่อสังคม สุขภาพแค่ไหนอย่างไร
กระทบออกมาตรการควบคุม
ถามว่าจะส่งผลต่อมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ธีระ บอกว่า คาดจะส่งผลต่อการพิจารณาและตัดสินในอนาคตที่จะออกมาตรการควบคุมต่างๆ เนื่องจากในการพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมฯ จะต้องออกมาตรการเพิ่มเติมตามสิ่งที่กฎหมายกำหนด เช่น เรื่องฉลาก สถานที่ดื่ม สถานที่ขาย วันเวลาจำหน่าย เป็นต้น
จะต้องมีการพิจารณา และลงมติ ก็เป็นไปได้ที่การพิจารณาในที่ประชุมจะไม่มีคุณภาพเพียงพอ แม้ว่าในร่างพ.ร.บ.จะพยายามลดทอนการขัดกันของผลประโยชน์ ด้วยการให้ออกจากห้องประชุมเมื่อจะมีการพิจารณาตัดสิน
ทว่า เมื่อดูลักษณะของกฎหมายมหาชน การใช้บังคับโดยทั่วไป เพราะฉะนั้น ผู้แทนจากภาคธุรกิจก็ไม่ต้องออกจากห้องประชุมก็ได้ เพราะเป็นการออกมาตรการที่เป็นบังคับโดยทั่วไป ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ก็สามารถบอกได้ว่า ไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการที่พิจารณาก็ไม่ต้องออกจากห้องประชุม เพราะฉะนั้น แม้กฎหมายจะเขียนให้ออกจากห้องประชุม ก็ไม่มีผลต่อการบังคับใช้
“ส่วนเรื่องโฆษณา การกำหนดในพ.ร.บ.ปี 2551 มีความกำกวม แต่ในร่างฉบับใหม่มีการกำหนดชัดเจน ละเอียดมากขึ้น แยกแยะประเภทของการโฆษณา ไม่ต้องมาตีความกันเยอะแยะ น่าจะช่วยให้ภาคธุรกิจทำอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น”ธีระกล่าว
กฎหมายใหม่ ทำคนดื่มมากขึ้น
ภาพรวมของกฎหมายใหม่ ในแง่ของสุขภาพ และชุมชน ธีระ มองว่า น่าจะทำให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ถ้ายังไม่มีมาตรการควบคุม การบังคับใช้กฎหมายยังย่ำแย่เหมือนเดิม บทบาทหน้าที่กรรมการไม่ได้พัฒนา งบประมาณยังได้น้อยเหมือนเดิม ก็จะทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้นผลกระทบตกกับครอบครัว ชุมชน และรพ. ระบบสุขภาพจะรองรับได้ยากขึ้น
"เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 3 ที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคNCDs แต่รัฐก็มีการคาดหวังว่าเมื่อผ่อนคลายมากขึ้นแล้ว จะได้ภาษี และเอาไปรักษาพยาบาลคน เป็นการซ่อมสุขภาพนำสร้าง แทนที่จะสร้างสุขภาพดีจะได้ไม่ต้องซ่อมเมื่อป่วย” ธีระ กล่าว
กฎหมายใหม่ผ่าน ยกเลิกเวลาห้ามขาย
หากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน ก็จะมีผลต่อกรณีที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ไปศึกษาเพื่อทบทวนเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการห้ามขายใน 5 วันพระใหญ่ด้วย ธีระ บอกว่า พ.ร.บ.ใหม่จะยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติที่ 253 ซึ่งกำหนดเวลาห้ามขายไว้ ก็จะปลดล็อกเรื่องนี้
จากนั้นพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ก็มีกลไกจะพิจารณาเรื่องเวลาห้ามขาย โดยคณะกรรมการควบคุมฯเป็นผู้ตัดสิน และออกเป็นประกาศคณะกรรมการควบคุมฯได้เลย ไม่ต้องเสนอต่อไปคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติแล้วออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเหมือนที่ผ่านมา แต่คณะกรรมการนโยบายฯ สามารถให้เป็นนโยบายในเรื่องนั้นๆ ได้
ทั้งนี้ หากพ.ร.บ.ใหม่ผ่านสภาฯ แล้ว ต้องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา หากผ่านก็จะมีผลบังคับใช้ 60 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก็จะไม่ทันกับการปลดล็อกเวลาห้ามขายในช่วงสงกรานต์อย่างที่รัฐบาลต้องการ
ส่วนกรณีการพิจารณายกเลิกห้ามขายวันพระใหญ่ สามารถดำเนินการได้ผ่านกลไกพ.ร.บ.ปี 2551ด้วยการเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมฯก็ทำได้ทันทีแล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติออกเป็นประกาศสำนักนายกฯ แต่จะกล้าทำหรือไม่ เพราะไม่ใช่เรื่องศาสนาอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องดูแลสุขภาพ และความปลอดภัยต่างๆ ด้วย
ไทยรายได้ปีละ 6 แสนล้าน
"กรุงเทพธุรกิจ" พลิกรายงานทีดีอาร์ไอ เรื่อง 15 ปีกับกฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อ ต.ค.2567 เพื่อดูรายได้ที่ส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผลกระทบเชิงสุขภาพและสังคม พบว่า
ประเทศไทย อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจเกือบ 6 แสนล้านบาทต่อปี อย่างในปี 2565 มีมูลค่า การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 5 แสนล้านบาท มีมูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปยัง ประเทศเพื่อนบ้านอีกกว่า 6,500 ล้านบาท
ทว่า ข้อมูลสำคัญที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจในภาพรวมคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) และการจ้างงาน ระหว่างปี พ.ศ. 2558 - 2565 มูลค่า GDP จากธุรกิจแอลกอฮอล์ทั้งที่เป็นตัวเงิน (ราคาตลาด) และราคาคงที่มีแนวโน้มลดลง
โดย GDP ราคา ตลาด จาก 4.02 แสนล้านบาท ลดลงเหลือ 3.85 แสนล้านบาท หรือลดลง 4.39 % ขณะที่ GDP จากธุรกิจแอลกอฮอล์ ณ ราคาคงที่ ลดจาก 2.95 แสนล้านบาท เหลือ 2.57 แสนล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน
ภาระต่อสังคม 1.7 แสนล้านบาท
ขณะที่การบริโภคแอลกอฮอล์ทำให้เกิด ภาระต่อสังคมโดยรวมประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ในรูปแบบ
- เกิดความสูญเสียความสามารถในการผลิต ที่ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบต้องขาดรายได้ คิดเป็นมูลค่าถึง 1.3 แสนล้านบาท
- เกิดภาระค่ารักษาพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่ มาจากภาระโรคที่เกิดจากการดื่มสุรา และการประสบอุบัติเหตุทางถนน สูงถึง 1.9 หมื่นล้านบาท
- เกิดความสูญเสียคุณภาพชีวิต และจิตใจ ของผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน และครอบครัวสูงถึง 1.6 หมื่นล้านบาท
- เกิดความสูญเสียของทรัพย์สินจากอุบัติเหตุดื่มขับประมาณ 6.4 พันล้านบาท
- เกิดภาระต้นทุนในการดำเนินคดี ประมาณ 1.7 พันล้านบาท
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์