กาง(ร่าง)แผนขับเคลื่อน ‘โรค NCDs วาระแห่งชาติ’ มาตรการภาษี-ราคา-กฎหมาย

กาง(ร่าง)แผนขับเคลื่อน ‘โรค NCDs วาระแห่งชาติ’ มาตรการภาษี-ราคา-กฎหมาย

สธ.เตรียมชงแผนขับเคลื่อนห่างไกล โรค NCDs วาระแห่งชาติ  เข้าครม.ในเดือนมี.ค.นี้ มุ่ง 3 เป้าหมายสำคัญ หลังพบตัวเลขคนไทยป่วยพุ่ง สูญเสียทางเศรษฐกิจสูง 

KEY

POINTS

  • รค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทำไทยต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท สธ.ขับเคลื่อนลดโรค ลดเสี่ยงเป็นวาระแห่งชาติ ชงเข้าครม. มี.ค. 2568 มี 3 เป้าหมายสำคัญ  พร้อมมาตรการทางภาษี-ราคา-กฎหมายปกป้องคนจากการตลาดผลิตภัณฑ์กระทบสุขภาพ  
  • ลดโรค NCDs นโยบายสาธารณสุขปี 2568 เดินหน้า ลดบริโภคเกลือและโซเดียม ส่งเสริมการออกกำลังกาย เพิ่มโปรตีน เพิ่มไขมันดี
  • สธ.ตั้ง คลินิก NCDs รักษาหาย สำหรับรักษาผู้ป่วย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแล้ว 131 แห่ง จาก 134 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 563 แห่ง จาก 770 แห่ง และ รพ.สต. 2,343 แห่ง จาก 4,794 แห่ง

โรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ในปี 2562 ประเทศไทยต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท 91% หรือประมาณ 1.495 ล้านล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายแฝงที่เกิดจากการขาดงาน ทำงานไม่เต็มความสามารถ ออกจากงานก่อนวัยอันควร และการสูญเสียกำลังผลิตจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

อีก 9% หรือประมาณ 1.39 พันล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายทางตรงในการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นรายจ่ายส่วนใหญ่ของระบบสาธารณสุข

อาทิ การใช้เงินในการล้างไต ฟอกไต ที่มีการเพิ่มเงินในแต่ละปีกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เพิ่มขึ้น ก็จะมีปัญหาแน่ รวมถึงเห็นตัวเลขการใช้เงินถึง 52% ของงบประมาณสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) หรือ กว่า  7.9 หมื่นล้านบาทในการรักษา

ชงครม. ลดโรคNCDs วาระแห่งชาติ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)  กล่าวว่า นโยบายคนไทยห่างไกล โรค NCDs มุ่งเป้าในการลดจำนวนผู้ป่วยจากโรคโรคไม่ติดต่อเรื้อรังรายใหม่ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง และลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า ด้วยการส่งเสริมให้มีการปรับพฤติกรรมสุขภาพ

ที่ผ่านมา การมอบหมายให้ อสม.เป็นแกนนำถ่ายทอดความรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการกินแบบ นับคาร์บ หรือคาร์โบไฮเดรตที่มาจากอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีอสม.และประชาชนทั่วประเทศสามารถนับคาร์บได้ถึง 14,592,424 คน ช่วยให้เกิดความตระหนักและปรับพฤติกรรมการกิน รวมถึงเข้าใจและตระหนักถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรค NCDs
กาง(ร่าง)แผนขับเคลื่อน ‘โรค NCDs วาระแห่งชาติ’ มาตรการภาษี-ราคา-กฎหมาย

“จำเป็นต้องเสนอเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะลำพังกระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน เช่น การใช้มาตรการทางภาษี ที่ต้องอาศัยกระทรวงการคลัง การขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดขับเคลื่อนนโยบายลงสู่พื้นที่ ต้องขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ขณะนี้ อยู่ระหว่างการร่างแผนดำเนินการ คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในเดือนมี.ค.นี้”นายสมศักดิ์กล่าว   
 

ลดโรค NCDs สธ.มุ่งเน้น 4 ประเด็น

ส่วนการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs ในปี 2568 จะมุ่งเน้น 4 ประเด็นหลัก คือ 1.ลดบริโภคเกลือและโซเดียม เนื่องจากโซเดียมจะดึงน้ำและของเหลวในระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจ ไต และหลอดเลือด ทำงานหนักมากขึ้น
2. ส่งเสริมการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรค NCDs ได้ 20 – 30% โดยข้อมูลของ WHO ปี 2567 พบว่า สามารถลดโอกาสเกิดโรคหัวใจ 30% โรคเบาหวาน 27% มะเร็งเต้านมและลำไส้ใหญ่ 21 – 25%

3. เพิ่มโปรตีน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ โดยควรได้รับโปรตีน 1 – 2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เน้นโปรตีนจากธรรมชาติ เช่น ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเมล็ดแห้ง/ผลิตภัณฑ์ น้ำนม และควรเป็นโปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นหลัก เพราะมีคุณภาพดีและมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนมากกว่าโปรตีนจากพืช

4. เพิ่มไขมันดี เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง สมดุล โดยไขมันดีจะช่วยขจัดคอเลสเตอรอลหรือไขมันเลว (LDL) ที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ แหล่งไขมันดี เช่น ปลาทะเลน้ำลึก อะโวคาโด้ หอมหัวใหญ่ ไข่ไก่ ถั่วเหลือง ดาร์กช็อกโกแลต น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ เป็นต้น นอกจากนี้ จะขยายคลินิก NCDs รักษาหาย ให้ครบทุกโรงพยาบาล ศูนย์ป้องกันโรคไม่ติดต่อทุกอำเภอ ศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ทุกตำบล และ NCDs ดีได้ด้วยกลไก อสม. ในทุกหมู่บ้าน

คลินิก NCDs รักษาหาย กระจายรพ.ทั่วประเทศ

นพ.โอภาส  การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ.กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีการดำเนินการ 3 ส่วน ได้แก่ 1.การสร้างระบบบริการด้านสุขภาพ โดย จัดตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs 2.ส่งเสริมความร่วมมือสหสาขาวิชาชีพ โดยพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และร่วมมือกับสหสาขาวิชาชีพในการดำเนินงาน

และ 3. ให้ความรู้ อสม. เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน เชิญชวนกลุ่มเสี่ยงเข้าศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงและติดตามผล โดยล่าสุด มี อสม. ที่สอนนับคาร์บ 1,075,255 คน และมีประชาชนทั่วไปร่วมนับคาร์บ 13,517,169 คน รวมคนที่สามารถนับคาร์บได้ 14,592,424 คน

“การขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน รวมถึงการป้องกัน ควบคุมโรค และส่งเสริมสุขภาพในทุกมิติ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรค NCDs รายใหม่แล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยที่ป่วยแล้วสามารถลดหรืองดใช้ยาในการรักษา ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว”นพ.โอภาสกล่าว  

ด้าน นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดสธ. กล่าวว่า การจัดตั้งหน่วยบริการตามนโยบายฯ ปัจจุบันมีคลินิก NCDs รักษาหาย สำหรับรักษาผู้ป่วย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแล้ว 131 แห่ง จาก 134 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 563 แห่ง จาก 770 แห่ง และ รพ.สต. 2,343 แห่ง จาก 4,794 แห่ง
 มีศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ช่วยประเมินสุขภาพ ส่งต่อผู้ป่วยเข้าระบบรักษาในคลินิก NCDs รวมถึงดูแลกลุ่มเสี่ยง/ผู้ป่วย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในรพ.สต. 1,567 แห่ง จาก 7,256 แห่ง และมีศูนย์ป้องกันโรคติดต่อในชุมชน (NCDs Prevention Center) ในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอครบทั้ง 878 แห่ง

3 เป้าหมาย ลดโรค NCDs วาระแห่งชาติ

สำหรับ (ร่าง) แผนการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs เป็นวาระแห่งชาติ  มีเป้าหมาย 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1..ลดผู้ป่วยโรค NCDs
2.ลดอัตราตายจากโรค NCDs

3.ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

ดำเนินการผ่าน 4 มาตรการสำคัญ ประกอบด้วย

1.ยกระดัลการสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพของประชาชน เช่น ยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับบุคคลในทุกกลุ่มวัย ,ส่งเสริมองค์กรสุขภาวะ(Healthy Workplace)และผลักดันแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว เชื่อมโยงสุขภาพคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม

2.เพิ่มศักยภาพการป้องกันและควบคุมโรค อย่างบุรณาการ ตามบริบทของพื้นที่ เช่น  พัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อการป้องกัน ควบคุมโรค ,เพิ่มศักยภาพอสม. และเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ในการป้องกัน ควบคุมโรคNCDs

3.ยกระดับการดูแลรักษาพยาบาล โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เช่น จัดตั้งคลินิก NCDsในรพ.ทุกระดับ ,พัฒนาระบบบริการการดูแลรักษา การส่งต่อผู้ป่วยกลุ่มโรคNCDs อย่างบูรณาการใน 5+1 โรคสำคัญ คือ  หัวใจและหลอดเลือด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็ง เบาหวาน สุขภาพจิต ความดันโลหิตสูง รวมถึง ยกระดับระบบการดูแลรักษาทางการแพทย์วิถีใหม่แบบผู้ป่วยในที่บ้าน หรือ Home Ward ,ยกระดับบริการของสถานชีวาภิบางและกุฎิชีวาภิบาล และบูรณาการการดูแลรักษาระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันกับการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

4.เพิ่มขีดความสามารถบริหารจัดการ เพื่อจขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลNCDsอย่างยั่งยืน อาทิ ผลักดันพ.ร.บ.โรคไม่ติดต่อ ,พัฒนามาตราการทางภาษีและราคาของผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ,ผลักดัดนร่างกฎหมาย/มาตรการเพื่อปกป้องประชาชนจากการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และพัฒนากลไกการจ่ายแบบมุ่งเน้นคุณค่า(Value base payment) เพื่อการดำเนินงานส่งเสริมป้องกันโรคNCDsอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล