เตรียมชงร่าง ‘ระเบียบสำนักนายกฯ’ กันธุรกิจยาสูบแทรกแซงนโยบาย

คกก.นโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าฯ เผยเตรียมเสนอ “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี” ป้องกันธุรกิจบุหรี่กแทรกแซงนโยบาย ชงดีอี ปิดกั้นซื้อขาย โฆษณาผ่านออนไลน์เพิ่มเติม
ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2568 ได้พิจารณาถึง แนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 5.3 กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามรับรองมาตั้งแต่ปี 2546 เพื่อเดินหน้าให้เกิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการป้องกันไม่ให้ธุรกิจยาสูบ เข้ามาแทรกแซงนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบภายในประเทศ
ในส่วนของความคืบหน้าล่าสุดพบว่า ทางกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กำลังเตรียมที่จะเสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายจากธุรกิจบุหรี่ เข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายภายในเดือน ก.พ.นี้ ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบในสารัตถะของหนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยการให้คำมั่นอันเป็นหนึ่งเดียวของประเทศสมาชิกอาเซียนในการปกป้องสุขภาพของประชาชนจากการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการควบคุมยาสูบ หรือ ASEAN FCTC ไปแล้ว
“ทุกคนก็หวังให้มีระเบียบออกมาเพื่อที่จะเอาไปดำเนินการป้องกันการแทรกแซงจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรมบุหรี่ เพราะหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าควรมีปฏิสัมพันธ์อย่างไร คือไม่ใช่ว่าห้ามพูด ห้ามคุย แต่จะไม่ให้ฝ่ายธุรกิจเข้ามามีส่วนกับการออกนโยบายสาธารณะ รวมถึงในการประชุมที่เกี่ยวกับนโยบาย เพราะจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าว
ขณะเดียวกันที่ประชุมในครั้งนี้ยังได้ร่วมกันพิจารณา แผนขับเคลื่อนประเด็นการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ตามข้อสรุปของเวทีประชุมเชิงปฏิบัติเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 ซึ่งภาคีภาคส่วนต่างๆ กว่า 42 หน่วยงานได้ร่วมกันหารือและสรุปออกมาเป็นเป้าหมาย ประกอบด้วย 1. สร้างความรู้ความเข้าใจ ติดตามประเมินผล รวมถึงการจัดการ Drop box ในสถานศึกษา 2. การควบคุมกำกับสื่อรูปแบบใหม่ในแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อป้องกันการตลาดการโฆษณา
3. ผลักดันให้กลไกคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ มีการบรรจุวาระบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานในระดับท้องถิ่น 4. ผลักดันให้เครือข่ายในท้องถิ่นร่วมเฝ้าระวัง รับเรื่อง ประสานงานต่างๆ 5. ให้มีการสำรวจความชุกการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทุก 2 ปี โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอให้มีการส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ของข้อสรุปในเวทีดังกล่าวไปถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีส่วนช่วยกันผลักดันและดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ พบว่ามีความก้าวหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2568 โดยที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 ซึ่งมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธาน ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยบังคับใช้กฎหมายกับผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็กโดยเฉพาะร้านจำหน่ายรอบสถานศึกษา รวมถึงบังคับใช้กฎหมายกับผู้ปกครองที่จงใจหรือละเลยปล่อยให้เด็กและเยาวชนซื้อใช้หรือเป็นตัวแทนจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า
ด้านผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย รองประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ยังได้มีความกังวลต่อผลการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้า ที่ได้มีข้อสรุปออกมาเป็น 3 แนวทางคือ 1. ยังคงกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และให้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง 2. ให้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าชนิด Heated Tobacco 3. ให้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าได้ทุกชนิด โดยเตรียมที่จะส่งรายงานนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาว่าจะใช้แนวทางใด
ภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนต่างเห็นว่า แนวทางที่ 2 และ 3 จะทำให้การทำงานควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าทำงานได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น จึงได้มีกิจกรรมรวมตัวแสดงพลัง “เสียงประชาชนถึงรัฐบาลและรัฐสภา: คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2567 โดยสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และภาคีเครือข่ายต่างๆ อีกกว่า 972 องค์กร ได้ร่วมกันส่งเสียงสะท้อนเพื่อให้คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีประชาชนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนล่าสุดขณะนี้มากกว่า 6.5 แสนคน
“ได้ส่งข้อเรียกร้องไปถึงรัฐบาลและส่งหนังสือไปถึงหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้รับรู้ถึงความเห็นของผู้คนส่วนใหญ่ ที่ต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด ส่วนจังหวะก้าวต่อไปยังมองไปถึงบทบาทขของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่สามารถพัฒนาศักยภาพเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายในการดูแลเรื่องนี้ได้อีกมาก” ผศ.ดร.ลักขณา กล่าว
ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้มีการหารือร่วมกันในประเด็นอื่นๆ เช่น ข้อเสนอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการปิดกั้นการซื้อขาย โฆษณา หรือส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มเติม รวมไปถึงประเด็นที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เตรียมเสนอขอให้พิจารณาอนุญาตให้มีการเปิดห้องสูบบุหรี่ภายในท่าอากาศยาน ซึ่งเห็นว่าไม่มีความเหมาะสม โดยภาคีเครือข่ายส่วนหนึ่งเตรียมที่จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ภายในสัปดาห์หน้า