วัดความคุ้มค่า ‘ไทยพาวิลเลี่ยน’ งบเหยียบ 1 พันล้าน จัดแสดง 6 เดือน

วัดความคุ้มค่า ‘ไทยพาวิลเลี่ยน’ งบเหยียบ 1 พันล้าน จัดแสดง 6 เดือน

4 ปี งบเหยียบ 1,000 ล้าน ความคุ้มค่า? จัดแสดงอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) 6 เดือนที่ญี่ปุ่น  นำเสนอ 1-1,000,000 มุ่งสู่ไทย ศูนย์กลางสุขภาพโลก (Medical and Wellness Hub)

KEY

POINTS

  • ครม.อนุมัติ แผนการดำเนินงาน และกรอบงบประมาณ การจัดงาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เสนอ กรอบงบประมาณประจำปี 2566-2569 รวม 4 ปี รวม 973.48 ล้านบาท
  • จัดแสดงอาคารนิทรรศการไทย หรือ ไทยพาวิลเลี่ยน (Thailand Pavilion) 6 เดือนระหว่าง 13 เม.ย.-13 ต.ค.2568 ภายใต้แนวคิดหลัก “สร้างสรรค์ชีวิตเพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่” นำเสนอ 1-1,000,000  นำไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพโลก (Medical and Wellness Hub)
  • มองความคุ้มค่า ไทยพาวิลเลี่ยน (Thailand Pavilion) คาดมีคนเข้าร่วมกว่า 28 ล้านคน โดยเฉพาะประเทศกลุ่มเป้าหมายไทยขยายตลาดเศรษฐกิจสุขภาพ ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ถึง  2.2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2577

ย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อน วันที่ 20 ธ.ค.2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการดำเนินงาน และกรอบงบประมาณ การจัดงาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เสนอ กรอบงบประมาณจะใช้จ่ายจากงบประมาณประจำปี 2566-2569 รวม 4 ปี รวม 973.48 ล้านบาท แยกเป็น

  • ค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารและเตรียมงานรวม 105.60 ล้านบาท
  • และสำหรับดำเนินการจัดงานนิทรรศการ รวม 867.88 ล้านบาท 

หากแยกเป็นการใช้จ่ายงบประมาณรายปีจำแนกเป็น

  • ปี 2566 จำนวน 89.64 ล้านบาท
  • ปี 2567 จำนวน 331.31 ล้านบาท
  • ปี 2568 จำนวน 507.61 ล้านบาท
  • ปี 2569 จำนวน 44.91 ล้านบาท

แผนการดำเนินงาน จะแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่

1.การเตรียมการเข้าร่วมงาน ซึ่งส่วนนี้หลังจาก ครม. ให้ความเห็นชอบแล้วช่วงปี 2566  จะดำเนินการจัดจ้างผู้รับจ้างจัดงาน ยื่นแบบก่อสร้าง และเซ็นสัญญาเข้าร่วมจัดนิทรรศการ ประชุมกับ BIE ตามกำหนด  จากนั้นปี 2567 จะเป็นช่วงการก่อสร้าง Thailand Pavilion ให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.2567 และเริ่มเผยแพร่สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์

2.ระยะดำเนินการเข้าร่วมจัดนิทรรศการ ในปี 2568

และ 3.ระยะหลังดำเนินการเข้าร่วมจัดนิทรรศการ ในปี 2569 ที่จะดำเนินการรื้อถอน Thailand Pavilion และขนส่งวัสดุจัดแสดงกลับประเทศไทย

จุดเด่น ไทยพาวิลเลี่ยน

ประเทศไทยมีกำหนดจะเข้าร่วม งาน Expo 2025 Osaka Kansai ระหว่างวันที่ 13 เม.ย. -13 ต.ค.2568 รวมระยะเวลา 6 เดือน ณ เกาะยูเมะชิมะ นครโอซากา ซึ่งเป็นงานแสดงนิทรรศการระดับโลก หรือ World Expo ที่จัดขึ้นทุก 5 ปี ภายใต้การดูแลขององค์การนิทรรศการนานาชาติ (BIE)

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ เนื่องจากหัวข้อหลักของงานครั้งนี้เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การแพทย์ และสาธารณสุข ซึ่งประเทศไทยจะดำเนินการภายใต้แนวคิด สร้างสรรค์ชีวิตเพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่ (THAILAND Empowering Lives for Greatest Happiness)
วัดความคุ้มค่า ‘ไทยพาวิลเลี่ยน’ งบเหยียบ 1 พันล้าน จัดแสดง 6 เดือน

การจัดแสดงอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ในงาน EXPO 2025 OSAKA, KANSAI, JAPAN จัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “Designing Future Society for Our Lives” การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์เพื่อเป้าหมายชีวิตที่มีความสุขและสุขภาพดี

 ในส่วนของประเทศไทยมีแนวคิดหลัก “THAILAND Connecting Lives for Greatest Happiness”สร้างสรรค์ชีวิตเพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่ และแนวคิดรอง Thai-Smile Connecting Happiness World Destination ยิ้มสยามที่ก่อให้เกิดความสุขเป็นเป้าหมายปลายทางของคนทั่วโลก

อาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ตั้งอยู่ในพื้นที่ A13 โซน Connecting  Lives รูปแบบการก่อสร้างแบบ Type A หมายถึงประเทศที่ได้รับพื้นที่ขนาดใหญ่ มีการออกแบบ และดำเนินการก่อสร้างเอง ทำให้สามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์ และวัฒนธรรม รวมไปถึงศักยภาพของประเทศไทยได้อย่างเต็มที่

ตัวอาคารได้ออกแบบโดยนำศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณให้ผสานเข้ากับวิธีก่อสร้างสมัยใหม่ ใช้เทคนิคย่อมุมที่อยู่บนยอดอาคารมณฑป เป็นลักษณะ “ทรงจอมแห” เป็นรูปทรงของหลังคา  รูปทรงอาคารในครั้งนี้จึงถูกออกแบบให้เป็นทรงครึ่งจั่ว

โลโก้ประจำอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) คือ เฉลว ที่มีแนวความคิดมาจากเฉลวไม้จักสานที่ปักบนหม้อยา อันเป็นสัญลักษณ์ของการแพทย์แผนไทยตั้งแต่อดีตสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยสื่อความหมายถึงภูมิปัญญาไทยในการดูแลใส่ใจด้านสุขภาพ

1 สู่ 1,000,000 ไทยศูนย์กลางสุขภาพโลก

ภายในอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ จาก 1 สู่ 1,000,000 ที่จะนำประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพโลก (Medical and Wellness Hub) ประกอบด้วย

- 1 หมุดหมายสุขภาพโลก (World’s destination for healthcare and wellness) ปักหมุดอาคารนิทรรศการไทย ร่วมทำสัญลักษณ์ถ่ายภาพเช็กอินเพื่อแชร์ให้ทั่วโลกได้รู้จักดินแดนแห่งความกินดี อยู่ดีสไตล์ไทยๆ โดยมี “น้องภูมิใจ” มาสคอตตัวแทนประเทศไทยรอต้อนรับ

- 10  มนต์เสน่ห์ของประเทศไทย (Enchantments of Thailand) นำเสนอความงดงามของธรรมชาติ ภูมิปัญญา สมุนไพรไทย มนต์เสน่ห์ของประเทศไทย ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ และรอยยิ้มของผู้คน

- 100 ศักยภาพสาธารณสุขไทย (Potentials of Thai Public Health System) นำเสนอเรื่องราวการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ไทยอย่างครบวงจร ควบคู่กับวัตถุจัดแสดงกว่า 100 สิ่ง ที่สื่อถึงศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทย

- 1,000 สถานบริการทางการเเพทย์ (Medical Facilities) นำเสนอศักยภาพทางการแพทย์ และการบริการของไทยที่ได้มาตรฐานในระดับสากล ผ่านทัชสกรีนที่สามารถเข้าถึงการรักษา 15 กลุ่มโรคที่นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์นิยมมารักษาที่ไทย ผ่านโรงพยาบาลในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานสากล ตลอดจนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่นำเสนอสปา และเวลเนสที่ได้รับมาตรฐาน Thai World Class Spa และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของไทย

- 10,000 เมนูอาหารเพื่อสุขภาพ เรียนรู้เรื่องราววัตถุดิบและอาหารไทย

- 1,000,000 รอยยิ้มแห่งความประทับใจ พื้นที่รวบรวมล้านความรู้สึกประทับใจทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ที่ได้มีส่วนร่วมแบ่งปันรอยยิ้มให้กับคนทั่วโลก

ขยายตลาดเศรษฐกิจสุขภาพ

จากการประมาณการ คาดว่าจะมีผู้เข้าชมจากทั่วโลกรวมถึงประเทศสมาชิกและองค์กรระหว่างประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมงานประมาณ 28.2 ล้านคน คาดว่าจะมีประเทศกลุ่มเป้าหมายที่ประเทศไทยมุ่งขยายตลาดเศรษฐกิจสุขภาพ ประกอบด้วย ประเทศญี่ปุ่น, กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV รวมทั้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
วัดความคุ้มค่า ‘ไทยพาวิลเลี่ยน’ งบเหยียบ 1 พันล้าน จัดแสดง 6 เดือน
 นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเข้าร่วมจัดงาน World Expo 2025 Osaka Kansai รวมระยะเวลา 6 เดือน ถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพด้านสาธารณสุข การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Soft Power และมนต์เสน่ห์ของไทย ผ่านอาคารนิทรรศการไทย ภายใต้แนวคิด “ภูมิพิมาน ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน” 

อาคารนิทรรศการไทยจะมีการนำเสนอ 7 จุดแข็งของประเทศ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพโลก (Medical and Wellness Hub) และดึงดูดนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติให้เข้ามาลงทุน ซึ่งจะช่วยขยายตลาดอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยทั้งระบบ ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้แก่คนไทยอย่างยั่งยืน  ได้แก่

1.แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง

2.ความพร้อมของสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับโลก

 3.แพทย์ และบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ รองรับความต้องการรักษาพยาบาลของชาวต่างชาติ

 4.อัตราค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม

5.จิตใจบริการของคนไทย

6.สิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบถ้วน

7.ความโดดเด่นด้านการแพทย์ทางเลือก อาทิ การแพทย์แผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

“การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-การแพทย์ หรือ Medical and Wellness Tourism ของประเทศไทย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 1 ล้านล้านบาท และคาดว่าตลาดด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) จะเพิ่มขึ้นไปถึง  2.2 ล้านล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2577”นายกิตติกร กล่าว 

 

อนึ่ง สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวได้ที่

Website : thailandpavilionworldexpo2025 

ทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ Thailand Pavilion World Expo 2025

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์