'ถุงยางอนามัย' กรมวิทย์ตรวจแล้ว ได้มาตรฐาน

'ถุงยางอนามัย' กรมวิทย์ตรวจแล้ว ได้มาตรฐาน

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยปี 67 ตรวจถุงยางอนามัยก่อน-หลังจำหน่าย พบเข้ามาตรฐาน 100%แนะวิธีเลือกซื้อถุงยางอนามัย สารหล่อลื่น

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า "ถุงยางอนามัย"จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ต้องมีใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งรายละเอียดในการผลิตหรือนำเข้า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556  โดย"ถุงยางอนามัย"ที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติต้องมีมาตรฐานและข้อกำหนดตาม มอก. 625-2559, ISO 4074:2015 และ ถุงยางอนามัยที่ทำจากน้ำยางสังเคราะห์ต้องมีมาตรฐานและข้อกำหนดตาม ISO 23409:2011

ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพทุกรุ่นก่อนวางจำหน่ายในท้องตลาด และหากเป็นถุงยางอนามัยที่มีกรรมวิธีการผลิตใหม่ ต้องมีการทดสอบคุณภาพ โดยห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบว่าถุงยางอนามัยรุ่นใดไม่เข้ามาตรฐาน ผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะไม่สามารถวางจำหน่ายได้

ปัจจุบันถุงยางอนามัยมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น มีความบาง มีหลายสี หลายกลิ่น และหลายพื้นผิว เพื่อตอบสนอง  ความต้องการและความพึงพอใจของผู้ใช้ ซึ่งถุงยางอนามัยสามารถป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคแผลริมอ่อน โรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง และโรคเริม เป็นต้น
 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ เป็นหน่วยงานมีหน้าที่รับผิดชอบ
เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านรังสีและเครื่องมือแพทย์ของประเทศ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ถุงยางอนามัยทางห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน มอก.625-2559, ISO 4074:2015 และ ISO23409:2011 จำนวนทั้งสิ้น 71 ตัวอย่าง จำแนกเป็นตัวอย่างก่อนได้รับอนุญาต เพื่อขึ้นทะเบียน จำนวน 46 ตัวอย่าง พบเข้ามาตรฐานทั้งหมด  100% และตัวอย่างหลังจำหน่าย จำนวน 25 ตัวอย่าง พบเข้ามาตรฐานทั้งหมด 100% 

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ถุงยางอนามัยมีคุณภาพมาตรฐาน ผู้ผลิตควรเข้าร่วมการตรวจประเมินตามข้กำหนด GMP รวมถึงขอการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2017

สำหรับร้านค้าและผู้บริโภคควรใส่ใจในการเก็บรักษาถุงยางอนามัยอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ โดยเก็บถุงยางอนามัยไว้ในที่แห้ง ไม่ให้ถูกแสงแดดหรือแสงฟลูออเรสเซนต์ ไม่ควรเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ หรือกระเป๋ากางเกงด้านหลัง เพราะจะทำให้ฉีกขาดได้ง่าย ซึ่งเกิดจากการนั่งทับ เลือกซื้อถุงยางอนามัยที่มีเลขใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ ซึ่งรับรองจาก อย. ควรเลือกให้ขนาดพอดี ไม่หลวม หรือคับแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้ฉีกขาดง่าย หรือหลุดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ไม่ควรซื้อถุงยางอนามัยมาเก็บไว้นานๆ อาจทำให้เสื่อมสภาพได้ และสังเกตดูวันหมดอายุก่อนซื้อ


นอกจากนี้ การเลือกใช้สารหล่อลื่นก็มีผลต่อคุณภาพของถุงยางอนามัยเช่นกัน โดยทั่วไกระบวนการผลิตถุงยางอนามัย จะมีการเติมสารหล่อลื่นอยู่แล้ว คือ ซิลิโคน ออยล์ หากต้องการใช้สารหล่อลื่นเพิ่มเติมควรเลือกใช้ เช่น เค-วาย เจลลี่, คิว-ซี เจลลี่, ดูราเจลหรือกลีเซอรีน ซึ่งเป็นสารหล่อลื่นที่ละลายน้ำ ไม่ทำลายคุณภาพของเนื้อยางและการเติมปริมาณสารหล่อลื่นในถุงยางอนามัยจะขึ้นอยู่กับผู้ผลิตเป็นผู้กำหนด

ส่วนมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้มีปริมาณสารหล่อลื่นในถุงยางอนามัยอยู่ในช่วง 400-600 มิลลิกรัม ดังนั้น ไม่ควรใช้สารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมันพืชหรือน้ำมันแร่ เช่น เบบี้ออยล์, น้ำมันทาผิว,ปิโตรเลียม เจลลี, น้ำมันปรุงอาหาร และน้ำมันชนิดอื่นๆ เนื่องจากจะทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพและแตกขาดได้