กิน “ผักและผลไม้”ลดเสี่ยงโรค แต่กลับพบความไม่ปลอดภัย 

กิน “ผักและผลไม้”ลดเสี่ยงโรค แต่กลับพบความไม่ปลอดภัย 

กินผักและผลไม้วันละ 400 กรัม โรคหัวใจหลอดเลือด ลด 31 % เส้นเลือดสมอง ตีบ 19 % มะเร็วปอด 12 % แต่กลับพบความไม่ปลอดภัย สารเคมีตกค้างเพิ่มเสี่ยงโรตหนักขึ้น เดินหน้าทำระบบข้อมูลผักผลไม้ปลอดภัย "นำร่อง พริก -ส้ม"

KEY

POINTS

  • คนไทยเสียชีวิต 67% มาจากโรคNCDs หรือราว 370,000 ราย การแก้ปัญหาทางหนึ่งคือการรักษา แต่ผู้ป่วยก็มีจำนวนมาก การจะป้องกันให้น้อยลงต้องดำเนินการเรื่องของพฤติกรรม
  • องค์การอนามัยโลก(WHO)แนะนำควรกินผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน เพื่อลดภาระการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs)  โรคหัวใจหลอดเลือด ลด 31 % เส้นเลือดสมอง ตีบ 19 % มะเร็วปอด 12 %
  • ประเทศไทยมีรายงานการตรวจพบผักและผลไม้มีสารเคมีตกค้าง  เฉลี่ย 3 ปี อย.ตรวจเจอราว 22 % กลายเป็นหากกินผัก ผลไม้ที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้น ก็จะกลับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
  • ไทยขาดระบบข้อมูลเฝ้าระวังผักและผลไม้ระดับประเทศ เดินหน้าทดลองทำงานข้ามกระทรวง โมเดลนำร่องผลตรวจ "พริก-ส้ม"  คาด 2 ปีเห็นภาพชัด เสนอเริ่มจาก “ล้งผักผลไม้”ก่อน

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2567 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ The Centre for Addiction and Mental Health (CAMH) ร่วมแถลงข่าวและเสวนาวิชาการ “ยกระดับความร่วมมือ” การตรวจติดตามเฝ้าระวังสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรในผักและผลไม้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ภายใต้การดำเนินงาน โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับการทำงานหลายภาคส่วนที่มีประสิทธิผล ปฏิบัติได้และยั่งยืน เพื่อการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยวิธีการสื่อสารความรู้แบบครอบคลุมโดยมีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง

67 %คนไทยเสียชีวิตจากโรคNCDs

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิจัยประจำโครงการฯ, นักวิทยาศาสตร์จาก The Centre for Addiction and Mental Health (CAMH) กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ โรคNCDs เป็นปัญหาใหญ่ของโลกและไทย ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ โดยพบว่า 67% ของการเสียชีวิตในคนไทยมาจากโรค NCDs หรือราว 370,000 ราย เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 122,581 ราย มะเร็ง 96,988 ราย เบาหวาน 30,529 ราย และโรคปอดเรื้อรัง 22,531 ราย การแก้ปัญหาทางหนึ่งคือการรักษา แต่ผู้ป่วยก็มีจำนวนมาก การจะป้องกันให้น้อยลงต้องทำเรื่องของพฤติกรรม

จากการคำนวณพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค พบว่า บุหรี่ทำให้เกิดโรค 54,610 ราย เหล้า 21,843 ราย อาหารทำลายสุขภาพ 21,650 ราย และการไม่มีกิจกรรมทางกาย 11,453 ราย โดยเรื่องของการบริโภคอาหารเป็น 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 9.7% ของคนไทย

กิน “ผักและผลไม้”ลดเสี่ยงโรค แต่กลับพบความไม่ปลอดภัย 

ทำระบบข้อมูลระดับประเทศ นำร่องพริก ส้ม

การแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องอาศัยการบูรณาการข้ามกระทรวง หรือ Multisectoral Collaboration (MSC) ซึ่งโครงการวิจัยฯ ลงทุนทดลองวิธีทำงานข้ามกระทรวง ซึ่งจากการทำงานร่วมกันระยะแรกพบว่า เรื่องผักและผลไม้ยังไม่มีข้อมูลเฝ้าระวังระดับประเทศ แต่ละหน่วยงานจะมีข้อมูลตัวเองแต่ยังไม่ได้เอามาประกอบกันว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ชุดตรวจไม่ตรงกัน เช่น ใช้ 2 กลุ่มสาร หรือ 4 กลุ่มสาร เป็นต้น เมื่อเสนอคณะกรรมการอาหารแห่งชาติจึงห็นถึงความจำเป็นของการมีระบบข้อมูลระดับประเทศ จึงตั้งคณะทำงานทางการมีหน่วยงานทั้งสาธารณสุขและเกษตรฯ เข้าร่วม

"ระยะจากนี้โครงการจะสาธิตทดลองทำข้อมูลสมมติขึ้นใน 1 ผัก 1 ผลไม้ คือ พริกและส้ม ที่มีสัดส่วนการตรวจเจอสารพิษจำนวนมาก เพื่อดูว่าหน้าตาระบบข้อมูลควรเป็นอย่างไร ควรสุ่มแบบไหน ตรวจวัดด้วยเครื่องมืออะไร ควรบันทึกข้อมูลและเชื่อมข้อมูลอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลในระดับประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี รวมถึงจะคำนวณเงินที่จะต้องลงทุนในการตรวจเป็นเท่าไร และรัฐต้องตัดสินใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐต้องคุ้มครองประชาชน" ดร.นพ.บัณฑิตกล่าว

3 ปี ผักและผลไม้เจอสารพิษตกค้างราว 22%

ภญ.สุภาวดี ธีระวัฒน์สกุล ผู้อำนวยการกองอาหาร สำนักงานคณกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการตรวจผักผลไม้ทั้งที่นำเข้าและในประเทศเอง เฉลี่ย 3 ปีตรวจเจอสารพิษตกค้างประมาณ 22% สิ่งที่ทำได้คือ ประชาสัมพันธ์วิธีการล้างผักผลไม้ เพื่อลดการปนเปื้อนที่ตกค้าง นอกจากนี้ อยากจะส่งเสริมตลาดค้าส่งหรือค้าปลีกถ้ามีศักยภาพ อยากให้ใช้เทสต์คิทคัดกรองเบื้องต้น เพราะไม่เจอดีกว่าไม่ใช้เลย หรือหากไม่มีงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายดำเนินการ อย่างน้อยการรับผักมาขอให้มีใบเซอร์หรือเอกสารรับรอง หรือผลตรวจวิเคราะห์อย่างน้อยปีละครั้งก็ยังดี เรียกจากคู่ค้า

การขับเคลื่อนลดการปนเปื้อนของผักและผลไม้ ปี 2567 มีการตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการประเมินและจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอาหารและโรคที่เกิดจากอาหาร คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ บูรณาการร่วม 4 หน่วยงาน ได้แก่ อย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิชาการเกษตร และ มกอช. อยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการ

นอกจากนี้ มองว่าสิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ ฐานข้อมูล (Database) ที่จะระบุว่า เกษตรกรที่ได้มาตรฐานอยู่ตรงไหนที่จะช่วยให้จุดรวบรวมแทร็กถึงต้นทางได้ เพื่อที่จะง่ายต่อการซื้อ รวมถึงต้องเน้นย้ำเรื่องการเปลี่ยนมุมมองผู้บริโภคด้วย เพราะที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเกิดปัญหาว่าทำแบบปลอดภัยแต่ขายไม่ได้เพราะอาจจะรูปลักษณ์ไม่สวย ก็ต้องสื่อสารว่าของดีและปลอดภัยไม่จำเป็นต้องสวย

กิน “ผักและผลไม้”ลดเสี่ยงโรค แต่กลับพบความไม่ปลอดภัย 

กินผักและผลไม้ลดอัตราเสี่ยงเกิด 5 โรค

รศ. ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ นักวิชาการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก(WHO)แนะนำให้คนกินผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม หรือประมาณ 2 ทัพพี โดยเน้นการบริโภคผักและผลไม้ที่มีใยอาหารไม่ต่ำกว่า 30 กรัม รวมธัญพืชและเครื่องเทศ แต่ไม่รวมพิชประเภทหัวใต้ดิน เช่น เผือก มัน เนื่องจากการบริโภคผักและผลไม้ ช่วยลดอัตราเสี่ยงเกิด 5 โรค NCDs  โดยสามารถลดภาระ

  • โรคหัวใจหลอดเลือด 31 %
  • เส้นเลือดสมองตีบ 19 %
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร 19 %
  •   มะเร็งปอด 12 % 
  • และมะเร็งลำไส้ใหญ่  2 %

อย่างไรก็ตาม หากผักผลไม้ไม่ปลอดภัย คนก็จะได้รับสารพิษไปด้วย ยิ่งรับประทานมาก ยิ่งไม่ปลอดภัยมากขึ้น  เช่น กิน 600 กรัม หรือ 1 กิโลกรัมต่อวัน ปริมาณสารพิษตกค้างก็จะเพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรค NCDs ชนิดหนึ่ง

“การกินผักผลไม้อาจมีผลในการลดโรค NCDs แต่สิ่งที่มาปนเปื้อนหรือสารพิษตกค้างก็ก่อโรค NCDs อีกชนิด นั้นคือมะเร็งเหมือนกัน”รศ. ดร.ชนิพรรณกล่าว


ใช้น้ำหมักปลูกผัก ก็อาจเจอสารเคมีตกค้าง 

ที่มาของสารพิษตกค้างในผักผลไม้ที่ต้นน้ำหรือเกษตรกรมีการใช้ เท่าที่ทำโครงการศึกษา พบว่า มี 2 ประเด็น คือ

1.ตั้งใจใส่ลงไปแล้วเกินขนาดที่อนุญาตและตกค้าง อาจจะเก็บเกี่ยวก่อนที่ยาจะสลายตัวไป อย่างวันนี้ราคาดียังไม่ครบกำหนดก็ตัดไปขาย หรือมีคนมารับซื้อถึงหน้าแปลงไม่ต้องเอาไปขาย เมื่อมองในเชิงรายได้ก็จะขายไป

2.เกษตรกรไม่ทราบว่าปนเปื้อนหรือตกค้างมาจากแหล่งอื่นหรือเรียกว่า "ปนเปื้อนข้าม" เช่น ไม่ใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยหมักแบบชีวภาพรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ผักผลไม้ที่เอามาหมักบางทีมีการใช้เคมีอยู่ เมื่อนำมารดแปลงผักก็เลยไปปนเปื้อนทั้งที่ไม่ได้ใช้สารเคมี

“การพัฒนาแนวทางการติดตั้งระบบเฝ้าระวังผัก/ผลไม้ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสแกนเส้นทางของการใช้สารเคมีในพืชผัก ผลไม้ จนถึงมือผู้บริโภค โดยคาดหวังให้เกิดกระบวนการการตามสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งหากทำได้จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะเราจะสามารถรู้ต้นตอของปัญหาแล้วมีวิธีแก้ไขเพื่อเฝ้าระวังการใช้สารเคมี ให้ผู้บริโภคสามารถกินผักผลไม้ได้อย่างมั่นใจ” รศ. ดร.ชนิพรรณ

นายสมเกียรติ สำพันแดง เจ้าของฟาร์ม สมเกียรติผักอร่อย กล่าวว่า ฟาร์มของตนมีพื้นที่ 37 ไร่ ขึ้นทะเบียนเกษตรกรถูกต้อง ผ่านการรับรองผักปลอดภัยกว่า 60 ชนิดพืช หลีกเลี่ยงไม่ใช้สารเคมี ทำปุ๋ยหมักใช้เอง น้ำหมักขับไล่แมลง ก็มีเคสว่าก่อนที่จะได้ใบรับรองต้องผ่านการตรวจติดตามและเก็บตัวอย่างไปตรวจ ประมาณ 1 สัปดาห์แจ้งผลว่ากะเพรามีการปนเปื้อนตกค้าง เมื่อตรวจสอบบันทึกข้อมูลย้อนหลังก็พบว่า ไม่มีการใช้สารเคมี

แต่เมื่อตรวจสอบน้ำหมัก ซึ่งช่วงแรกๆ ยังไม่ได้ทำเอง แต่ไปมาจากเพื่อนบ้าน ก็พบว่า มีการใช้ข่า ตะไคร้ พริก เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าน่าจะปนเปื้อนมาจากพริกจากยาฆ่าแมลง ก็เป็นการใช้แบบไม่ตั้งใจ ส่วนเรื่องของจุดรวบรวมมองว่าเป็นหัวใจสำคัญ หลายหน่วยงานต้องช่วยเหลือ เกษตรกรก็ต้องให้ความร่วมมือ โดยจุดรวบรวมจะมีมาตรฐานต่างๆ เข้ามาบังคับ เช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข GMP CODEX หรือมาตรฐานของโมเดิร์นเทรด หากไม่ปลอดภัยเขาก็จะไม่รับซื้อขายไม่ได้ ก็ต้องคุยกับเกษตรกรที่จะมาขายว่าผลผลิตต้องมีมาตรฐานและปลอดภัย ถือเป็นตัวกลางสำคัญ

กิน “ผักและผลไม้”ลดเสี่ยงโรค แต่กลับพบความไม่ปลอดภัย 

ต้องให้เกษตรกรเห็นข้อดีไม่ใช่สารเคมีต่อตัวเอง

น.ส.ก่อวดี ผลเกลี้ยง นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการพิเศษ กองควบคุมมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า การขึ้นทะเบียน GAP สามารถใช้สารเคมีได้ แต่ต้องใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะลงไปตรวจตรวจประเมิน หากไม่ผ่านการรับรองจะมีการให้คำแนะนำ แม้ GAP จะไม่สามารถการันตีเรื่องมูลค่าได้ แต่ที่ผ่านมาชี้ให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของสุขภาพของตนเองว่า หลังรับ GAP สามารถประเมินได้ว่าสุขภาพตนเองดีขึ้นหรือไม่

“มีเกษตรกรบางรายเข้ามาบอกว่า สุขภาพตนเองดีขึ้น เพราะเมื่อก่อนเวลาฉีดยาต้องใช้มือลงไปกวนสาร หรือมาบอกว่าไก่บ้านตนเองไม่ตาย เพราะใช้และเก็บสารเคมีอย่างถูกต้อง ไม่วางระเกะระกะ ไก่ที่เดินอยู่ก็ไม่โดนส่วนที่ปนเปื้อน ส่วน มกอช.จะสุ่มตรวจในท้องตลาดที่แสดงเครื่องหมายการรับรองแล้ว เราไปทวนสอบให้อีกที หากยังเจอตกค้างก็จะรู้แหล่งที่มาตามสอบกลับไปที่เกษตรกรได้ เพราะมีเลขรหัสที่จะรู้ว่าใครเป็นคนรับรอง รับรองด้วยมาตรฐานฉบับไหน เกษตรกรอยู่พื้นที่จังหวัดอะไร สินค้าชนิดไหน แปลงเกษตรกรที่ไหน”น.ส.ก่อวดีกล่าว  

แนะเริ่มตรวจสอบจากจุดรวบรวมสินค้า

นายโอฬาร พิทักษ์ ที่ปรึกษาสมาคมตลาดสดไทยและสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย กล่าวว่า ตลาดก็อยากตรวจ แต่ก็มีคำถามว่าตรวจทำไม คุ้มไหม และแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ตลาดสดแทบแย่เพาะต้นทุนการตรวจมาก อีกทั้งไม่ใช่สินค้าของเขา และมาเร็วขายเร็วมาจากสารพัดแหล่ง

“ มองว่าต้องให้ความสำคัญและเททรัพยากรให้ถูกจุด คือ จุดรวบรวมสินค้า เพราะประเทศไทยเป็นเกษตรกรรายย่อยทั้งหมด ผักผลไม้จึงเป็นสินค้าที่ต้องการจุดรวบรวม ถ้าไปพัฒนางานตรงจุดรวบรวม หลายหน่วยงานก็พร้อมเข้ามาช่วยกันตรงนี้ เหมือนอย่างล้งทุเรียนที่มีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานจะได้ส่งออกได้”นายโอฬารกล่าว