“รางจืด” ลดพิษยาฆ่าแมลง โลหะหนัก จนขายดี Top 3 หมวดOTOP บน TikTok Shop

“รางจืด” ลดพิษยาฆ่าแมลง โลหะหนัก จนขายดี Top 3 หมวดOTOP บน TikTok Shop

สรรพคุณ“รางจืด” ช่วยล้างพิษ ถอนพิษ ลดพิษยาฆ่าแมลง โลหะหนัก แก้ไข ร้อนใน แถมจัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร  คนแห่ซื้อฮอตจนขายดี Top 3 ในหมวดOTOP บน TikTok Shop

KEY

POINTS

  • น้ำผึ้ง รางจืด และกุยช่ายกรอบTop 3 กลุ่มสินค้าขายดีจาก OTOP บน TikTok Shop เผยข้อมูลช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา
  • รางจืดในข้อมูลของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สรรพคุณช่วยล้างพิษ ถอนพิษ ลดพิษยาฆ่าแมลงศัตรูพืช โลหะหนัก ขายได้ราคาทั้งใบสด ใบแห้ง
  • ยารางจืดจัดอยู่ในบัญชายาหลักแห่งชาติ ด้านสมุนไพร โดยบรรจุไว้ใน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 4 ยารักษากลุ่มอาการไข้ และ กลุ่มที่ 11 ยาถอนพิษเบื่อเมา

ข้อมูลของ TikTok Shop พบว่า ในช่วงเดือนเมษายนปีนี้ ร้านค้าท้องถิ่น มีการนำ Live Streaming มาเพิ่มมิติให้กับการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการทำ Short Video ส่งผลให้ยอดการจำหน่ายสินค้า OTOP ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ กับกิจกรรม Refill Your Joy with TikTok Shop เติมความสนุก สุขเต็มตะกร้า ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย. ที่ผ่านมา

 

 Top 3 กลุ่มสินค้าขายดีจาก OTOP

  1. น้ำผึ้ง
  2. รางจืด
  3. กุยช่ายกรอบ

 

รางจืดปลูกได้ทุกภาค ขายได้ราคา

รางจืด มีดีอย่างไร ทำไมถึงขายดีมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ สรรพคุณรางจืด ช่วยในการล้างพิษ ถอนพิษ มีรายงานเรื่องของลดพิษยากำจัดศัตรูพืช โลหะหนัก รวมถึง แก้ไข ร้อนใน และมีการนำเป็นยาตัวหนึ่งในกระบวนการบำบัดยาเสพติดตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย 

รางจืด หรือมีชื่อเรียกอื่น เช่น  ภาคกลางเรียกเครือเขาเขียว ยาเขียว จ.ยะลาเรียก รางเย็น จ.ปัตตานีเรียก ดุเหว่า

จัดเป็นไม้เลื้อยเกลี้ยงหรือมีขน ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 8-16 เซนติเมตร ปลายแหลม เป็นติ่ง  โคนเว้ามนน ขอบเรียบ หยักซี่ฟันหยาบนหรือเป็นคลื่น แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง

รางจืดมีความเหมาะสมในการปลูกทุกพื้นที่ในประเทศไทย ในป่าทั่วไป ป่าไผ่ สวนผลไม้ ริมรั้วทั่วไป พันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย  พันธุ์ที่ใช้เป็นยา พันธุ์พื้นบ้านทั่วไป ดอกม่วง

การจำหน่าย  ใบ/เถารางจืดสด ราคากิโลกรัมละ 20 บาท -ใบ/เถารางจืดแห้ง ราคากิโลกรัมละ 120-200 บาท

รางจืด ถอนพิษ ล้างพิษยาฆ่าแมลง

ข้อมูลจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า รางจืด ส่วนที่ใชทำยา คือ ใบแห้งทั้งใบสมบูรณ์หรือชิ้นส่วนของใบและเถา  สีน้ำตาลรูปขอบขนานถึงรูปไข่ กลิ่นเฉพาะ รสจืด

รางจืดมีสารกลุ่มสเตอรอล (sterols) เช่น บีตา-ซิโตสเตอรอล (β-sitosterol), สติกมาสเตอรอล (stigmasterol) แอลฟา-สปนาสเตอรอล (a-spinasterol) สารกลุ่มฟีนอลิก (phenolics) เช่น เอพิเจนิน (apigenin) กรดแคฟเฟอิก (caffeic acid) สารกลุ่มแคโรทีน (carotenes) เช่น ลูเทอิน (lutein)

ตำรายาสรรพคุณยาไทย ว่า รางจืดมีรสเย็น สรรพคุณถอนพิษเบื่อเมา ปรุงเป็นยาเขียว สำหรับถอนพิษไข้ แก้พิษทั้งปวง ลดความร้อนในร่างกาย แก้ไข้ แก้พิษสำแดง และกระทุ้งพิษไข้หัว เป็นต้น

รายงานการวิจัยปัจจุบัน ข้อมูลการศึกษาวิจัยพรีคลีนิก พบว่า สารสกัดรางจืดด้วยน้ำมีฤทธิ์ลดพิษสารกำจัดศัตรูพืช กลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและกลุ่มคาร์บาเมต โดยทำให้อัตราการตายของสัตว์ทดลองลดลง และยังลดพิษของยาฆ่าหญ้าพาราควอต ในสัตว์ทดลองเช่นกัน

นอกจากนี้รางจืดยังมีฤทธิ์ต้านพิษของแอลกอฮอล์ต่อตับ ต้านพิษ ของตะกั่วต่อสมอง ต้านการก่อกลายพันธุ์  ต้านอักเสบ และลดน้ำตาลในเลือด

ส่วน ข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิก พบว่า เมื่อให้ชาชงรางจืดขนาดประมาณ 6-8 กรัมแก่เกษตรกรที่ได้รับสารกำจัด ศัตรูพืช มีผลทำให้ระดับเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรสเพิ่มขึ้น ลดพิษของพาราควอตได้ รวมทั้งมีรายงานผู้ป่วยที่แสดงให้เห็นผล ของรางจืดในการต้านพิษเทโทรโดทอกซิน จากไข่แมงดาทะเล

รางจืดใช้ร่วมบำบัดผู้ติดยาเสพติด

นอกจากนี้ ในกระบวยการรักษาผู้ติดยาเสพติดที่คลินิกบำบัดยาเสพติดการแพทย์แผนไทยฯ ดำเนินการนำร่อง 3 แห่ง ได้แก่  รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ ผสมผสาน ยศเส กรุงเทพมหานคร รพ.การแพทย์แผนไทยฯ จ.อุดรธานี และ รพ.การแพทย์แผนไทยฯ จ.พัทลุง

กรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังใช้ยารางจืด ร่วมกับยาแผนไทยและสมุนไพรอื่นๆ เช่น กลุ่มล้างพิษ ยารางจืด ชาสมุนไพรย่านางแดง กลุ่มยาปรับธาตุ ยาตรีผลา ยาบำรุง ยาขมิ้นชัน ยาหอมนวโกฐ กลุ่มแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ยาแก้ลมแก้เส้น นอนไม่หลับ ตำรับยาศุขไสยาศน์หรือ ตำรับยาการุณย์โอสถ  เป็นต้น 

ยารางจืดในบัญชียาหลักแห่งชาติฯ

รางจืด จัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2566 ใน 2 กลุ่มอาการ ได้แก่ 

1.ยารักษากลุ่มอาการไข้  ผงใบรางจืดโตเต็มที่  ถอนพิษไข้ แก้ร้อนใน

  • ชนิดชง รับประทานครั้งละ 2-3กรัม แช่น้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน และเย็น หรือเมื่อมีอาการ
  • ชนิดแคปซูล รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม-1กรัม  วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร  เช้า กลางวัน เย็น

ข้อควรระวัง

  • ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
  • หากใช้เป็นเวลานานเกิน 3 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
  • ควรระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ควรระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ต้องใช้ยารักษาโรคอย่างต่อเนื่อง เพราะยารางจืด อาจเร่งการขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกาย ทำให้ประสิทธิผลของยาลดลง

2.ยาถอนพิษเบื่อเมา ผงใบรางจืดโตเต็มที่

  •  ถอนพิษเบื่อเมา

ชนิดชง รับประทานครั้งละ 2-3กรัม แช่น้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน และเย็น หรือเมื่อมีอาการ

ชนิดแคปซูล รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม-1กรัม  วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร  เช้า กลางวัน เย็น

  • บรรเทาพิษยาฆ่าแมลงหรือโลหะหนัก

ชนิดชง รับประทานครั้งละ 2-3กรัม แช่น้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน และเย็น หรือเมื่อมีอาการ

 

 

 

อ้างอิง : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา , กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก