โรงพยาบาลเอกชนไทย ติด Top 250 อันดับดีที่สุดในโลก

โรงพยาบาลเอกชนไทย ติด Top 250 อันดับดีที่สุดในโลก

ผลการจัดอันดับ World's Best Hoapitals 2024 จำนวน 250 อันดับ พบว่า ปีนี้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ติดอันดับ 130 ขยับจากปีที่แล้วที่ติดอันดับ 182 ทั้งนี้ไทยยังมีทั้ง Wellness Retreat และ Retirement Hub สิ่งเหล่านี้ เป็นช่องทางสร้างรายได้ให้ประเทศได้มากขึ้น

ประเทศไทยมีการผลักดันสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ของโลก ขณะที่ Medical Tourism ทำรายได้ให้กับประเทศไทยได้ไม่น้อย เมื่อปี 2019 มีผู้ที่เดินทางมารักษาตัวและใช้จ่ายในประเทศไทย 2,600 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 ที่เกิดโควิด-19 ลดลงราว 900 ล้านดอลลาร์ และปี 2021 ลดลงมา 8 ล้านดอลลาร์

แต่จากนั้นตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา พบว่ารายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 2,400 ล้านดอลลาร์ ล่าสุด ปี 2023 เชื่อว่าอย่างน้อยไทยจะมีรายได้ 2,900 ล้านดอลลาร์ โดยเฉลี่ย Medical Tourism จะใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 3 - 5 เท่า และคาดการณ์ว่าปี 2024 รายได้ในส่วนนี้จะเพิ่มมากขึ้นอีก เนื่องจากมีกลุ่มนักท่องเที่ยวแนว Medical Tourism จากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา กัมพูชา รวมถึง ญี่ปุ่น เอธิโอเปีย และจีน ที่นิยมเข้ามาตรวจสุขภาพ รักษามีบุตรยากในไทยมากขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ของสหรัฐอเมริกา “Newsweek” ร่วมกับ Statista ได้ประกาศ "อันดับโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2567" (World's Best Hospitals 2024) ใน 30 ประเทศ รวม 2,400 แห่งสำรวจระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 2566 โดยวัดผลคะแนนมาจาก 4 แหล่ง คือ 

1. การสำรวจออนไลน์จากแพทย์ ผู้บริหารโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ มากกว่า 85,000 ราย 

2. ข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจโดยทั่วไปของผู้ป่วยหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 

3. ดัชนีตัวชี้วัดคุณภาพของโรงพยาบาล เช่น มาตรการด้านสุขอนามัย ความปลอดภัยของผู้ป่วย และอัตราส่วนผู้ป่วยต่อแพทย์ หรือผู้ป่วยต่อพยาบาล และ

4. การสำรวจของ Statista ที่ใช้แบบประเมินผลลัพธ์ด้านการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย คือ Patient Reported Outcome Measures (PROMs) ซึ่งเผยแพร่ผ่าน www.newsweek.com

ปรากฏว่าผลการจัดอันดับ World's Best Hoapitals 2024 จำนวน 250 อันดับ พบว่ามีโรงพยาบาลเอกชนไทยอย่าง "โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์" ติดอันดับ 130 ซึ่งขยับขึ้นจากปีที่แล้วที่เคยติดอันดับ 182 และเป็นการติดอันดับต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว

ส่วนการจัดอันดับโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในประเทศไทยปี 2567 (World's Best Hospitals 2024 - Thailand) จำนวน 30 แห่งส่วนใหญ่เป็น รพ.เอกชน โดย"กรุงเทพธุรกิจ"ขอยกตัวอย่างมาให้ดู 10 อันดับ ที่ได้รับคะแนนรวมสูงสุด ดังนี้

อันดับ 1 รพ.บำรุงราษฎร์ ได้คะแนน 93.00% 
อันดับ 2 รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้คะแนน 87.34% 
อันดับ 3 รพ.สมิติเวช สุขุมวิท ได้คะแนน 84.15%  
อันดับ 4 รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้คะแนน 83.92%
อันดับ 5 รพ.รามาธิบดี ได้คะแนน 83.72% 
อันดับ 6 รพ.เมดพาร์ค ได้คะแนน 76.54%
อันดับ 7 รพ.กรุงเทพ ได้คะแนน 75.35%
อันดับ 8 รพ.ธนบุรี ได้คะแนน 71.90%
อันดับ 9 รพ.พระรามเก้า ได้คะแนน 71.79% 
อันดับ 10 รพ.ราชวิถี ได้คะแนน 71.77% 

โดย 30 อันดับนี้มี รพ.รัฐ หรือในกำกับของรัฐติดอันดับรวม 12 แห่ง ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 3 แห่ง ผลการประเมินและอันดับดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดและสะท้อนให้เห็นว่าโรงพยาบาลของไทย มีศักยภาพในการให้บริการ ทั้งในสายตาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ทั้งคนไทยและต่างประเทศ

อีกทั้งเชื่อว่าระบบบริการทางการแพทย์จะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ซึ่งในจำนวนนี้จะมีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วย ที่คาดการณ์ว่าปี 2567 นี้จะมีประมาณ 35.3 ล้านคน หรือ 40.4 ล้านคน ในปี 2568 ประมาณการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อทริปประมาณ 42,000 บาทไม่รวมค่ารักษาพยาบาล 

โดยเฉพาะเรื่องของ Wellness เป็นภาวะที่ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่เป็นโรค หลังโควิด-19 ผู้คนตระหนักแล้วว่า การมีภูมิต้านทานที่ดีจะช่วยป้องกันความรุนแรงของโรค โรงพยาบาลชั้นนำจะมีศูนย์ Wellness Retreat & Retreat Resort ที่รองรับนักท่องเที่ยวและฟื้นฟูสภาพร่างกายด้วย ที่จะมีทั้ง Wellness Product ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมให้สุขภาพดีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแพทย์ รวมทั้งศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเนอร์สซิงโฮมส์ Retirement Hub รองรับสูงวัยที่เกษียณอายุหนีหนาวจากต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้มากขึ้น