เปิดผลสำรวจ "บุหรี่ไฟฟ้า" พื้นที่กรุงเทพฯรอบสถานศึกษา

เปิดผลสำรวจ "บุหรี่ไฟฟ้า" พื้นที่กรุงเทพฯรอบสถานศึกษา

เปิดผลสำรวจพื้นที่กรุงเทพฯ พบร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าใกล้สถานศึกษากว่า 70 ร้าน เลือกทำเลร้านรัศมี 500 เมตร มุ่งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ชง 4 มาตรการถึงรัฐบาล เข้มปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า

ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีข้อห่วงใยต่อสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน รวมถึงสั่งการเร่งรัดปราบปรามผู้กระทำความผิดที่ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบสถานศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งสร้างความปลอดภัยให้เด็ก เยาวชน และประชาชน

 เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2567 ที่ โรงแรมอัศวินแกรนด์ กรุงเทพฯ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับเครือข่ายยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวเปิดผลการเฝ้าระวังการจัดจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และช่องทางจัดจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์

พร้อมส่งมอบข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปราบปรามการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบสถานศึกษาให้เด็กและเยาวชนต่อรัฐบาล โดยมีนายวราวุธ ยันต์เจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด) นางสาววิลาวัลย์ ธรรมชาติ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รับข้อมูลและข้อเสนอเชิงนโยบาย

บุหรี่ไฟฟ้าขายใกล้สถานศึกษา

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า
ยท. ได้ร่วมกับเครือข่ายแกนนำยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) และเครือข่ายสถานศึกษา เฝ้าระวังการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต พบร้านค้าจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า (ประเภทมีหน้าร้านถาวร) สูงถึง 70 ร้านค้า

จากการเก็บข้อมูลเชิงลึกและวิเคราะห์พื้นที่โดยรอบสถานที่จัดจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า พบว่าผู้กระทำความผิดมักจะเลือกสถานที่ในการตั้งร้านค้าภายในรัศมี 500 เมตร ใกล้เคียงสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาเป็นหลัก

เฉพาะในเขตดินแดง มีสถาบันอุดมศึกษา 2 แห่ง และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 2 แห่ง พบร้านค้าจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามากถึง 7 ร้านค้า

“สะท้อนให้เห็นว่าการทำการตลาดเพื่อจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า มุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยท. ยังได้เฝ้าระวังการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ พบเว็บไซต์ที่มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ประกอบการสูบมากกว่า 100 เว็บไซต์” นายพชรพรรษ์กล่าว

4 ข้อเสนอคุมบุหรี่ไฟฟ้า

ยท.มีข้อเสนอมายังสำนักนายกรัฐมนตรี 4 ข้อ

 1.ขอให้ สคบ. เร่งรัดดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเร่งดำเนินการเป็นกรณีพิเศษกับร้านค้าที่ใกล้เคียงสถานศึกษาและชุมชน

2.ขอให้ สคบ. ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายสถานศึกษาในทุกสังกัด และมีกลไกเฝ้าระวังร้านค้าจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและรายงานผลการเฝ้าระวังกลับมายัง สคบ. เพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อไป

3.ขอให้ดำเนินการคงมาตรการการตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า

 4.ขอให้ สคบ.เฝ้าระวัง ติดตาม และบังคับใช้กฎหมายกับผู้โฆษณา หรือจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในระบบออนไลน์ เพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน

ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีเป้าหมายลดอัตรานักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน ผ่านการสนับสนุนกลไกเครือข่ายทุกภาคส่วน ในปี 2567 มุ่งเน้น

 1.การสร้างเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพด้านการควบคุมยาสูบ จัดกิจกรรมพิเศษและสร้างกระแสทางสังคม

2.การขยายพื้นที่ปลอดบุหรี่ให้เป็นรูปธรรม รณรงค์บ้านปลอดบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า การรักษาสิทธิของตนเองจากการได้รับอันตรายของควันบุหรี่มือสอง

3.พัฒนาสื่อโฆษณารณรงค์ประเด็น “ไอน้ำมันในบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย” เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีอนุภาคขนาดเล็กเทียบเท่าหรือเล็กกว่า PM2.5 เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และลึก เสี่ยงต่อการทำงานของเฉพาะปอด

4. พัฒนานิทานพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปลูกฝังในระดับจิตใต้สำนึกให้แก่เด็กปฐมวัยและเด็กประถมศึกษา ให้มีภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังล่าเหยื่อในเด็กประถมที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยอุปกรณ์ส่งนิโคตินตรงเข้าปอดในรูปแบบที่เหมือนของเด็กเล่น แนวทางของ สสส. ต่อการสื่อสารและรณรงค์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอย่างไร