เล็งตั้ง “เคลียริ่ง เฮาส์” หน่วยงานกลางเงิน 3 กองทุนประกันสุขภาพ สปสช.คุม

เล็งตั้ง “เคลียริ่ง เฮาส์” หน่วยงานกลางเงิน 3 กองทุนประกันสุขภาพ สปสช.คุม

“หมอชลน่าน”เล็งตั้ง Provider Board ดูระบบให้บริการเป็นหลักรวม 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพ  มองถึงมีหน่วยงานกลาง “เคลียริ่ง เฮาส์” เงินในระบบ บัตรทอง-ประกันสังคม-ข้าราชการ แย้มสปสช.เป็นคนคุม

จากกรณีที่ 5 องค์กรสถานพยาบาล ได้แก่ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(UHosNet), ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป, ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์, สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เรียกร้องให้มีการแก้ไขระบบการบริหารจัดการงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านผู้ให้บริการ (Provider Board)
โดยเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 มีการหารือร่วมกันระหว่างนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ,นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ,นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)และผู้แทน 5 องค์กร เห็นชอบร่วมกันที่จะตั้ง Provider Board และสปสช.ไปยกร่างประกาศให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2567 นพ.ชลน่าน  ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า Provider Board จะเป็นคณะกรรมการฝ่ายผู้ให้บริการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป  รพ.ภาคเอกชน รพ.สังกัด สธ. หรือรพ.สังกัดกระทรวงอื่น ซึ่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545  ไม่ได้พูดถึงตรงนี้ แต่ระบุเรื่องกำหนดมาตรฐาน โดยมีคณะกรรมการควบคุมมาตรฐาน

เล็งตั้ง “เคลียริ่ง เฮาส์” หน่วยงานกลางเงิน 3 กองทุนประกันสุขภาพ สปสช.คุม

แต่จากวิธีการ กระบวนการ และเทคนิคการให้บริการต่างๆ และค่าใช้จ่ายที่ฝั่งผู้ให้บริการเห็น จึงอยากมีส่วนร่วมในการนำเสนอเพื่อพัฒนาระบบ เลยมีความคิดว่าน่าจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งมารองรับ ที่เป็นตัวแทนของผู้ให้บริการทุกฝ่ายเข้ามาอยู่ร่วมกัน จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและนำสู่ปฏิบัติ
ซึ่งเรื่องนี้บอร์ด สปสช.เคยมีมติให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่า อำนาจหน้าที่ของบอร์ดสปสช.จะสามารถแต่งตั้ง Provider Board ได้หรือไม่ อยู่ในขั้นตอนการศึกษาของอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง


Provider Board ดู 3 กองทุนประกันสุขภาพรัฐ

ผู้สื่อข่าวถามว่า  การตั้งProvider Board จะเป็นอนุกรรมการฯ อยู่ภายใต้บอร์ดสปสช. นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ถ้าอยู่ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ต้องอาศัยอำนาจบอร์ด สปสช.เป็นผู้ตั้งขึ้นมา จะเรียกอนุฯ อะไรก็ว่าไป ซึ่งกรรมการชุดนี้เป็นตัวแทนของทุกภาคส่วน หมายถึงคน 67 ล้านคน ไม่เฉพาะคนในสิทธิบัตรทอง เพียงแต่ว่าการจัดระบบบริการแต่ละสิทธิยังมาร่วมมือกันจัดไม่ได้ แต่อยู่ในร่มเดียวกัน คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะตั้ง Provider Board แยกจากบอร์ดสปสช. เพื่อดูการบริการของทั้ง 3 กองทุนประกันสุขภาพรัฐ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นไปได้ แต่ต้องไปดูว่ามีอำนาจอะไรกฎหมายที่มารองรับได้

อีกช่องทางหนึ่งที่กำลังมองและพิจารณากันอยู่ คือ ใช้อำนาจของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ หรือซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้มาช่วยพิจารณาแต่งตั้งมอบหมายก็ได้ แต่จะเป็นการอาศัยกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน มาแต่งตั้งจึงเป็นชุดเฉพาะด้านเฉพาะกิจ ถ้านายกฯ หรือฝ่ายการเมืองหมดวาระไป Provider Board ก็จะหมดและต้องแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ ก็จะไม่ยั่งยืน

"ถ้ามีกฎหมายเฉพาะทางเฉพาะด้าน เช่น กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องเน้นว่าแห่งชาติ ไม่ใช่กฎหมายบัตรทอง พูดถึงทุกสิทธิ เพราะฉะนั้น ถ้าอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ก็จะยั่งยืน" นพ.ชลน่านกล่าว

เล็งสปสช.เคลียริ่ง เฮาส์เงิน 3 กองทุน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าตั้ง Provider Board ภายใต้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะดูในส่วนของประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการด้วยใช่หรือไม่  นพ.ชลน่าน กล่าวว่า Provider Board ไม่ได้ดูเรื่องสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุน 

แต่มีหน้าที่ไปดูเรื่องระบบการให้บริการเป็นหลัก ดูเรื่องการให้บริการมีปัญหาอุปสรรคอะไร ต้องเพิ่มเติมตรงไหน เรื่องคน เงิน ของ ไปด้วยกันหรือไม่ ระบบที่ใช้เป็นอย่างไร ระบบการจ่ายเงิน Fee Schedule ดีไหม การเหมาจ่ายรายหัวต่างๆ จะเป็นคนสะท้อนมุมนี้ ซึ่งก็จะดูสะท้อนของประกันสังคมและข้าราชการด้วย

“ในส่วนที่เขาต้องการ Provider Board คาดหวังแม้กระทั่งเสนอเรื่องที่เรียกว่า National Clearing House เป็นหน่วยงานกลางดูแลการเบิกจ่ายเงินทั้งหมดทุกสิทธิ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานกลาง เป็นข้อเสนอ ส่วนจะเป็น สปสช.หรือไม่ จริงๆ โดยมิติของกฎหมายควรจะเป็นอย่างนั้น สปสช.ไม่ได้ดูเฉพาะสิทธิบัตรทอง สปสช.ควรจะต้องดูทุกระบบ เพราะบอร์ดสปสช.มาจากทุกภาคส่วนอยู่แล้ว เพียงแต่เข้าใจว่าวิธีปฏิบัติดูเหมือน สปสช.ดูเฉพาะบัตรทองซึ่งไม่ใช่" นพ.ชลน่านกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่สปสช.โดนสะท้อนปัญหาเรื่องของการจ่ายเงินค่อนข้างมาก นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตรงนี้เป็นหน้าที่ของ Provider Board สะท้อนข้อเท็จจริงออกมา
หนี้ค้าง ให้ชะลอหักเงินไว้ก่อน

ถามต่อเรื่องเงินบัตรทองที่มีการติดค้าง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นหนี้เชิงระบบทางบัญชีของวิธีการคิดค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่าง สปสช.กำหนดการจ่ายอยู่ที่ 8,350 บาทต่อหน่วยบริการ เมื่อไปดูหน่วยบริการต่างๆ ทำงานได้แค่ 7,900 บาท แต่จ่ายไปแล้ว 8,350 บาท ก็เป็นภาระหนี้ค้างบัญชี แต่กรณี รพ.ศูนย์/ รพ.ทั่วไป ทำงานถึง 20,000 บาทต่อหน่วย
ส่วน UHosNet  ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13,500 บาท ถ้าสปสช.จ่าย 8,350 บาท  แบบนี้ใครเป็นหนี้ใคร ซึ่งตอนนี้ สปสช.ถือหลักวิธี จ่าย 8,350 บาทไปแล้ว แต่ถ้าทำบริการได้ 7,900 บาท,8,100 บาท ก็เป็นหนี้ สปสช. จึงให้ไปดูรายละเอียดวิธีการคิดให้ถูกต้องเหมาะสม
เล็งตั้ง “เคลียริ่ง เฮาส์” หน่วยงานกลางเงิน 3 กองทุนประกันสุขภาพ สปสช.คุม

 “ไม่ว่าจะ รพ.รัฐ หรือคลินิกชุมชนอบอุ่น ก็เลยให้ชะลอการเรียกเก็บหนี้ไว้ก่อน เนื่องจาก เดิม สปสช.จะหักส่วนที่เป็นหนี้ไว้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ  เช่นเป็นหนี้ 100 ก็หักไปเรื่อยๆ ผมก็ให้แนวทางว่า จ่ายให้เต็มไป แต่ก็ต้องไปดูรายละเอียดด้วย เมื่อดูเสร็จแล้วจำเป็นต้องใช้หนี้กันอย่างไร หรือมีวิธีคิดแบบใหม่ที่ทำให้ยอดเท่ากัน หนี้ก็เป็นศูนย์  สปสช.ก็เป็นหนี้ด้วยซ้ำไป หรือหากวิธิคิดถูกแล้ว ก็อาจจะต้องหาเงินมาชดเชย”นพ.ชลน่านกล่าว 

กรณีคลินิกชุมชอบอุ่นที่มีการเบิกค่าใช้จ่ายไปถึง 50% แล้วเพียง 4 เดือนของปีงบประมาณ 2567 นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องดูวิธีการจ่ายที่ถูกต้องเหมาะสมคืออะไร ใช้โมเดล 5 จ่ายตามบริการจริง(Fee Schedule) ในการกำหนดรายการและเพดานการจ่ายอาจจะไม่เหมาะ คลินิกก็บอกไม่อยากใช้โมเดล 5 แล้ว เพราะวิธีการจ่ายแบบนี้ไม่สอดคล้องกับ ต้องไปดูรายละเอียด

ถามต่อว่าอีก 8 เดือนที่เหลืองบจะเพียงพอหรือไม่  นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วิธีคิดงบประมาณขาขึ้นคิดแบบเหมาจ่ายรายหัว ตอนนี้อยู่ที่ราว 3,400 บาทต่อคนต่อปี วิธีการจ่ายขาลงก็ต้องมาดูรายละเอียดให้พอเพียงอย่างไร เพราะการคำนวณขาขึ้นเชื่อว่าคำนวณรอบคอบพอแล้ว ยกเว้นว่าขาขึ้นคำนวณไม่ถูก ไม่สอดคล้องก็ต้องไปปรับ คือ วิธีการแก้ปัญหา