"ยาบ้า5เม็ดผู้เสพ" เปิดเบื้องหลัง ก่อนกระทรวงสาธารณสุข ประกาศกับอีก 20 ชนิด

"ยาบ้า5เม็ดผู้เสพ" เปิดเบื้องหลัง ก่อนกระทรวงสาธารณสุข ประกาศกับอีก 20 ชนิด

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกประกาศกำหนด 20 ยาเสพติด ปริมาณครอบครองเพื่อเสพ รวม“ยาบ้า5เม็ดผู้เสพ” ไม่ใช่แปลว่าไม่มีความผิด และไม่ใช่ครั้งแรก เรื่องนี้มีที่มาจากนโยบายรัฐบาล

Keypoints:

  • กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ออกประกาศเมื่อวันที่ 9  ก.พ. 2567 กำหนดให้แอมเฟตามีน ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้หรือ ยาบ้า5 เม็ด ให้สันนิษฐานว่าครอบครองเพื่อเสพ  แต่ไม่ได้แปลว่าครอบครองแล้วไม่มีความผิด
  • กำหนดยาบ้า 5 เม็ดมีที่มา และการกำหนดปริมาณครอบครองให้ถือเป็นผู้เสพไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น มีดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เคยมีการเสนอกำหนด  1 เม็ดแต่ไม่ผ่านครม.
  • เช็กจุดบำบัดยาเสพติดสามารถเข้ารับบริการได้ฟรี ข้อมูลปี  2566 พบยาบ้า เป็นประเภทยาเสพติดที่เข้ารับบำบัดมากที่สุด และมีนักเรียน นักศึกษาจำนวนไม่น้อย 

 

ประกาศใหม่ ยาบ้า5เม็ดผู้เสพ
 

เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 ลงนามโดย นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

มีสาระสำคัญ การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท ในปริมาณเล็กน้อยตามที่กำหนดดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ

(1) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1


(ก) แอมเฟตามีน (amphetamine หรือ amfetamine) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม
(ข) เอ็น - เอทิล เอ็มดีเอ หรือเอ็มดีอี (N - ethyl MDA หรือ MDE) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,255 มิลลิรัม
(ค) เฮโรอีน (heroin หรือ diacetylmorphine) มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 300 มิลลิกรัม
(ง) เดกซ์โทรไลเซอร์ไจด์ (+) - lysergide) หรือแอลเอสดี (LSD) หรือแอลเอสดี - 25 (LSD 25) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม
\"ยาบ้า5เม็ดผู้เสพ\" เปิดเบื้องหลัง ก่อนกระทรวงสาธารณสุข ประกาศกับอีก 20 ชนิด


(จ) เมทแอมเฟตามีน (methamphetamine หรือ metamfetamine) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม หรือในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม
(ฉ) เมทิลีนไดออกซีแอมเฟตามีน (methylenedioxyamphetamine หรือ tenamfetamine หรือ MDA) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม
(ช) 3,4 - เมทิลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (3,4 - methylenedioxymethamphetamine หรือ methylenedioxymetamfetamine หรือ ecstasyหรือ MDMA) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม

(2) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2


(ก) โคคาอีน (cocaine) มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 200 มิลลิกรัม
(ข) ฝิ่น มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 5,000 มิลลิกรัม

 

(3) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5


(ก) พืชฝิ่นหรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้ฝิ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 15,000 มิลลิกรัม
(ข) เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควายหรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 135,000 มิลลิกรัม
(ค) สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinolหรือ THC) ที่เป็นสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน30,000 มิลลิกรัม หรือในกรณีที่เป็นของเหลวมีปริมาตรสุทธิไม่เกิน 30 มิลลิลิตร

 

(4)วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1


(ก) ฟลูอัลพราโซแลม (fualprazolam) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 650 มิลลิกรัม
(ข) ฟีนาซีแพม (phenazepam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,640 มิลลิกรัม

(5) วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2


(ก) อัลพราโซแลม (alprazolam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,300 มิลลิกรัม
(ข) คีตามีน (ketamine) ในกรณีที่เป็นของเหลวมีปริมาตรสุทธิไม่เกิน 10 มิลลิลิตร หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 10,000 มิลลิกรัม หรือในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม
(ค) มิดาโซแลม (midazolam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 2,080 มิลลิกรัม
(ง) ไนเมตาซีแพม (nimetazepam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,890 มิลลิกรัม
(จ) ไนทราซีแพม (nitrazepam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 5,560 มิลลิกรัม
(ฉ) เฟนเทอร์มีน (phentermine) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 3,200 มิลลิกรัม
 

ยาบ้า5เม็ดผู้เสพ ไม่ใช่ทุกรายไม่มีความผิด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข  กล่าวว่า  เจตนารมณ์ของกฎกระทรวงนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ในมาตรา 24 วรรคสอง และมาตรา 107 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ต้องการแยกผู้เสพกับผู้จำหน่ายยาเสพติด โดยกำหนดให้ผู้เสพถือเป็นผู้ป่วย ที่หากสมัครใจเข้ารับการบำบัด ก็จะหายจากการใช้ยาเสพติดได้

 “หากครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานไว้ว่าเป็นการครอบครองเพื่อเสพ แต่ก็ต้องดูปัจจัยแวดล้อมด้วยว่าเป็นการครอบครองเพื่อเสพหรือเพื่อจำหน่าย เพราะการครอบครองเพื่อจำหน่ายจะมีโทษสูงกว่า หากปัจจัยแวดล้อมเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้มีต่ำกว่า 5 เม็ดก็มีความผิดตามกฎหมาย"นพ.ชลน่านกล่าว
 

ส่วนการครอบครองเพื่อเสพจะให้ถือเป็นผู้ป่วยและจะต้องเข้าสู่การบำบัด หากบำบัดจนครบก็จะถือว่าผ่านการบำบัดยาเสพติด ผู้นั้นก็ไม่ต้องรับโทษในฐานครอบครองยาเสพติด 


ที่มา ยาบ้า5เม็ดผู้เสพ

ประกาศนี้มีที่มาจากที่รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” มีนโยบายมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติด ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ยึดหลัก “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ด้วยการสนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยมีกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564

นำมาสู่การพิจารณาออกประกาศนี้ โดยก่อนหน้า สธ. เคยเสนอไปที่ 10 เม็ด จนเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2566 มีการประชุมหารือร่วมกันระหว้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) กฤษฎีกา กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลยุติธรรม เป็นต้น เกี่ยวกับ “ร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.....”


\"ยาบ้า5เม็ดผู้เสพ\" เปิดเบื้องหลัง ก่อนกระทรวงสาธารณสุข ประกาศกับอีก 20 ชนิด

 มีมติร่วมกันเห็นชอบให้กำหนดปริมาณเมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดว่าสันนิษฐานว่ามีไว้ใช้คอบครองเพื่อเสพ ให้เข้ารับการบำบัดรักษา

จากนั้นจึงนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการพิจารณาเห็นชอบออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้

ทั้งนี้ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทธ์ ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต อธิบายในวันที่มีการประชุมร่วมว่า เหตุผลในทางการแพทย์มีข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมและข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี พบว่า การใช้ตั้งแต่ปริมาณน้อยจนถึงเพิ่มมากขึ้น จะมีผลต่อสมองและระบบประสาทของผู้เสพแตกต่างกันไป โดยการใช้ในระดับที่มากกว่า 55 มิลลิกรัม จะทำให้เกิดอาการทางจิต ชนิดหลงผิดแบบหวาดระแวง

“การเสพจึงถึงจุดนี้จะเข้าเกณฑ์ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง ต่อการก่อความรุนแรง มีความเสี่ยงสูงต่อทำร้ายตนเองและผู้อื่น ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในสังคม การอนุญาตให้ใช้ปริมาณที่สูงมากต่อครั้งต่อวัน เกินกว่าปริมาณที่ทำให้เกิดฤทธิ์ต่อสมองในแบบที่หลงผิด และเพิ่มเสี่ยงทำให้สังคมไม่ปลอดภัย”พญ.ดุษฎีกล่าว


อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยนั้น มีมาอย่างต่อเนื่อง  โดยในพ.ร.บ.ยาเสพติดฯ พ.ศ.2522 มีการกำหนดปริมาณหน่วยการใช้ไว้ เช่น แอมเฟตามีน มากกว่า 15 หน่วยการใช้ให้ถือว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย น้อยกว่านั้นให้สันนิษฐานว่า เป็นการครอบครองไว้เพื่อเสพ

สมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการใช้อำนาจออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณากำหนดปริมาณหน่วยการใช้ยาเสพติดไว้เพื่อเสพที่ 5 เม็ด

ต่อมาประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ให้อำนาจ รมว.สธ. กำหนดหน่วยการใช้เพื่อเสพ สมัยนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรมว.สธ. มีการเสนอให้กำหนด 1 เม็ดคือผู้ป่วย มากกว่า 1 เม็ดคือผู้จำหน่าย แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากครม.

ยาบ้า อันดับ 1 เข้าบำบัด

     จากข้อมูลการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2566 ของ ระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) และสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)

  •  ผู้เข้ารับการบำบัด ทั้งหมด 186,104 ราย
  • อายุมากกว่า 39 ปี จำนวนมากที่สุด 
  • อายุน้อยสุด ต่ำกว่า 7 ปี
  • อาชีพ 5 อันดับแรก รับจ้าง 95,043 ราย ว่างงาน 32,732 ราย การเกษตร 30,518 ราย การค้าขาย 7,438 ราย นักเรียน นักศึกษา 4,805 ราย 
  • ยาเสพติดที่ใช้ 3 อันดับแรก ยาบ้า 84.54 % เฮโรอีน 4.05 % กัญชา 3.46 %
  • จำแนกผู้ป่วย ผู้ใช้ 11.95% ผู้เสพ 62.91%ผู้ติด 25.09 % ไม่ระบุ 0.06%

    \"ยาบ้า5เม็ดผู้เสพ\" เปิดเบื้องหลัง ก่อนกระทรวงสาธารณสุข ประกาศกับอีก 20 ชนิด
     

ผู้ป่วยกลับเข้ารักษาซ้ำ

ปี 2562 จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 5,638 ราย  ,กลับเข้ารักษาซ้ำ 39.41 %

ปี 2563  จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 5,188 ราย  ,กลับเข้ารักษาซ้ำ 34.95 %

ปี 2564 จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 4,140 ราย  ,กลับเข้ารักษาซ้ำ 35.17 %

ปี  2565 จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 6,106 ราย  ,กลับเข้ารักษาซ้ำ 36.49 %

ปี 2566 จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 7,139 ราย  ,กลับเข้ารักษาซ้ำ 37.09 %
 

บำบัดยาเสพติด ฟรี

 ขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่

  • สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165
  • สายด่วนเลิกยาเสพติด ผ่านศูนย์ดำรงธรรม 1567ตลอด 24 ชั่วโมง
  • ผ่านช่องทางLine Official ‘ห่วงใย’เพื่อประเมินตัวเองเกี่ยวกับการติดสารเสพติดและการให้คำปรึกษา

และสามารถเข้าบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่

  • สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)
  • โรงพยาบาลธัญารักษ์ส่วนภูมิภาค 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี
  • โรงพยาบาลใกล้บ้าน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th