เตือน! แม่ตั้งครรภ์ระวัง อย่าให้ยุงลายกัด เสี่ยงเจอไวรัสซิกาทำลูกหัวเล็ก

เตือน! แม่ตั้งครรภ์ระวัง อย่าให้ยุงลายกัด เสี่ยงเจอไวรัสซิกาทำลูกหัวเล็ก

ผอ.สคร.9 เตือน โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ชี้แม่ตั้งครรภ์ต้องระวัง! อย่าให้ยุงลายกัด เสี่ยงต่อทารกเกิดมามีความผิดปกติ หัวเล็ก-พัฒนาการช้า เผยแค่ปีเดียวพบผู้ป่วยพุ่งกว่า 700 ราย

วันที่ 11 มกราคม 2567 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา (สคร.9) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ยังมีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อนำโดย 'ยุงลาย' อยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคนี้สามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้

 

 

ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเฝ้าระวังและป้องกันตนเอง อย่าให้ถูกยุงกัด เพราะหากแม่ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วอาจส่งผลให้เด็กที่คลอดออกมามีความผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก การได้ยินผิดปกติ และพัฒนาการช้า เป็นต้น

 

หากมีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ควรรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์

 

เตือน! แม่ตั้งครรภ์ระวัง อย่าให้ยุงลายกัด เสี่ยงเจอไวรัสซิกาทำลูกหัวเล็ก

 

 

นายแพทย์ทวีชัย เผยต่อว่า โรคนี้มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นแดงตามลำตัวและแขนขา มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตาแดง และสามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ ทารกเกิดความพิการทางสมองและระบบประสาท ส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีความผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก การได้ยินผิดปกติ และพัฒนาการช้า เป็นต้น

 

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 3 มกราคม 2567 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 758 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กระจายอยู่ใน 36 จังหวัด โดยพบผู้ป่วยสูงสุดในจังหวัดจันทบุรี รองลงมาจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดตราด ตามลำดับ

 

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในเขตสุขภาพที่ 9 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 3 มกราคม 2567 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 19 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 14 ราย และจังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 5 ราย ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดชัยภูมิ ยังไม่พบรายงานผู้ป่วย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ 10-14 ปี รองลงมาคือ 0-4 ปี และ 5-9 ปี ตามลำดับ

 

ขอแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ควรป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด ไปฝากครรภ์ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์จนกว่าจะคลอด หากตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสซิกาต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสูตินรีแพทย์ ในประชาชนทั่วไปขอให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและในชุมชน โดยใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค คือ

 

1. เก็บบ้าน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก

 

2. เก็บขยะ ภายในบริเวณบ้านและชุมชน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

 

3. เก็บน้ำ เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดด้วยการทายากันยุง และนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุง เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ได้แก่ ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด มารับประทาน และให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 

เตือน! แม่ตั้งครรภ์ระวัง อย่าให้ยุงลายกัด เสี่ยงเจอไวรัสซิกาทำลูกหัวเล็ก