วาทกรรมของการหลอกลวง : โลกปลอดควันยาสูบ

บริษัทยาสูบพยายามสร้างภาพว่าเปลี่ยนแปลง และจะทำให้โลก “ปลอดควันยาสูบ” แต่ก็ยังคงผลิตบุหรี่มวนไปขายในประเทศที่มาตรการการควบคุมยาสูบไม่เข้มงวด

วันที่ 27 พ.ย. เป็นวันสาธารณสุขแห่งชาติ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย (สพท.) ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ที่รัฐสภาและแถลงการณ์เพื่อให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ที่ห้ามสูบในสถานที่ราชการ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่เด็กและเยาวชนไทย

โดย น.ส. นันทิดา แก้วถาวร ประธานฝ่ายรณรงค์เพื่อสุขภาพ ผู้แทน สพท. ได้ยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และนายแพทย์ ทศพร เสรีรักษ์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ขอให้คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า

รวมทั้งมีประเด็นเพื่อให้ทบทวนเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบจากธุรกิจยาสูบและเครือข่ายบริวาร

ในขณะที่รายงานความก้าวหน้าจากการประชุมรัฐภาคีขององค์การอนามัยโลก (Conference of the Parties) เกี่ยวกับมาตรการการควบคุมผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ คือ

1. ป้องกันผู้ใช้หน้าใหม่ด้วยการห้ามหรือจำกัด รสชาติ ที่ดึงดูดเยาวชน

2. จำกัดความเสี่ยงต่อสุขภาพจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด ด้วยการตรวจสอบสารปรุงแต่งรสชาติในนิโคตินเหลว เพื่อห้ามหรือจำกัดการใช้สารที่อาจเป็นพิษ (toxicants) เมื่อได้รับความร้อน หรือหายใจเข้าสู่ร่างกาย

3.ป้องกันการแอบอ้างเกี่ยวกับสุขภาพที่ไม่มีการพิสูจน์เกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ และ

4. ป้องกันกิจกรรมการควบคุมยาสูบ จากกลุ่มที่มีผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ และผลประโยชน์อื่นๆ จากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์

  องค์การอนามัยโลกสรุปจากรายงานทางเทคนิคและงานวิจัยว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถช่วยในการเลิกสูบบุหรี่มวน เนื่องจากหลักฐานเชิงประจักษ์มีความมั่นใจน้อย และผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวยังไม่มีใครทราบ

ประกอบกับโอกาสที่ผู้ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์จะใช้ร่วมกับบุหรี่มวน (dual users) อีกทั้งมีหลักฐานบ่งชี้ว่าจะทำให้เสพติดนิโคตินนานขึ้นแทนที่จะเลิกเสพติดได้เร็วขึ้น

รายงานเชิงสืบสวนเกี่ยวกับผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทให้ความร้อน (The ‘Unsmoke’ Screen: The truth behind PMI’s cigarette-free future) พบว่าผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่อ้างว่าไม่มีการเผาไหม้นั้น แพทย์และนักวิจัยพบว่ามีการเผาไหม้แต่ไม่สมบูรณ์และมีควัน

นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Bath วิเคราะห์ว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทให้ความร้อนมุ่งทำการตลาดในประเทศที่ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ และห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ซึ่งมีอัตราการสูบบุหรี่และยอดขายบุหรี่มวนลดลง

บริษัทยาสูบข้ามชาติจำเป็นต้องหานวัตกรรมเพื่อความอยู่รอด ไม่ใช่เพื่อสุขภาพของผู้บริโภค

รายงาน (The Bureaus of Investigative Journalism) ให้รายละเอียดว่า ในปี 2549 ผู้พิพากษา Gladys Kessler แถลงข้อค้นพบและหลักฐานบ่งชี้ว่า บริษัทยาสูบดำเนินกระบวนการนับทศวรรษในการปิดบังผลกระทบต่อสุขภาพของการสูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่ โกหกเกี่ยวกับฤทธิ์เสพติดของนิโคติน ปรับระดับของ นิโคติน เพื่อให้ผู้สูบบุหรี่ไม่สามารถเลิกสูบ

หลอกลวงสาธารณะให้หลงเชื่อว่า บุหรี่ที่มีปริมาณน้ำมันดินน้อย (low tar) และนิโคตินน้อย (light cigarette) มีผลดีต่อสุขภาพ และทำการตลาดมุ่งเป้าไปยังกลุ่มเยาวชน

บริษัทยาสูบ “ทำการตลาดเพื่อขายสินค้าแห่งความตายอย่างมุ่งมั่น ด้วยการหลอกลวงเพื่อมุ่งเน้นผลกำไรเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจต่อความเศร้าโศกของเพื่อนมนุษย์หรือความสูญเสียของสังคม”

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่า ผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ประเภทให้ความร้อน แอบอ้างว่าสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด ถุงลมปอดโป่งพองและหัวใจวายได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการสูบบุหรี่

แต่เมื่อบริษัทยาสูบแห่งนี้ยื่นเอกสารเพื่อขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้ยอมรับว่าผลิตภัณฑ์ประเภทให้ความร้อนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

แท่งความร้อน (HeatSticks) มีสารนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติด และยังไม่มีหลักฐานว่าลดความเสี่ยงจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่มวนได้

กระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลสหรัฐฟ้องบริษัทยาสูบในข้อหากระทำผิดกฎหมายองค์กรอิทธิพลอั้งยี้ (The Racketeer Influence and Corrupt Organization-RICO-Act) และสั่งให้บริษัทยาสูบดำเนินการดังต่อไปนี้ (US Racketeering verdict against big tobacco, 2018.)

- ห้ามหลอกลวง หรือทำให้เข้าใจผิดถึงอันตรายของผลิตภัณฑ์ยาสูบต่อสุขภาพ

- บังคับให้บริษัทยาสูบเปิดเผยต่อสาธารณะ เอกสารภายในและเอกสารที่ใช้ในการฟ้องร้องคดีความ

- บังคับให้บริษัทยาสูบรายงานข้อมูลด้านการตลาดรายปีต่อรัฐบาล

บริษัทยาสูบพยายามสร้างภาพว่าเปลี่ยนแปลง และจะทำให้โลก “ปลอดควันยาสูบ” แต่ก็ยังคงผลิตบุหรี่มวนไปขายในประเทศที่มาตรการการควบคุมยาสูบไม่เข้มงวด

ในสหราชอาณาจักร ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทให้ความร้อนมีอยู่ในนครลอนดอน แมนเชสเตอร์ บริสตอล และคาร์ดิฟฟ์ แต่ไม่พบในเมืองฮัลล์ เบิร์นเลย์และแมนส์ฟิลด์ ซึ่งมีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดในประเทศ

มูลนิธิโลกปลอดควันยาสูบ (Foundation for a Smoke-Free World) จัดตั้งเมื่อปี 2560 และได้รับงบประมาณจากบริษัทยาสูบ “เพื่อทำวิจัยและยุติการแพร่ระบาดของการสูบบุหรี่” ปีละ 80 ล้านดอลลาร์ เป็นเวลา 12 ปี แต่ปรากฏว่างบประมาณส่วนใหญ่ใช้สำหรับการจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ “เพื่อส่งเสริมวาทกรรมการลดอันตราย” มากกว่าการวิจัย

พฤติกรรมองค์กรและการสื่อสารต่อสาธารณะ มีความย้อนแย้งมากสำหรับบริษัทยาสูบข้ามชาติที่ประกาศว่าจะทำให้โลกปลอดควันยาสูบ เพราะนอกจากจะไม่ได้ลดปริมาณการผลิตบุหรี่มวนลงมากนัก กลับไปซื้อบริษัทผู้ผลิตบุหรี่มวนเพิ่ม

อีกทั้งผลิตบุหรี่มวนตราสินค้าใหม่ และดำเนินการฟ้องร้องในประเทศต่างๆ ที่ออกกฎหมายและนโยบายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

เยาวชนไทยหวังว่ารัฐสภาจะเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้นแบบของสถานที่ปลอดควันยาสูบและปลอดไอระเหยของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์อย่างแท้จริง