สปสช. ก้าวสู่ปีที่ 22 ยกระดับบัตรทอง สู่ '30 บาท อัปเกรด'

สปสช. ก้าวสู่ปีที่ 22 ยกระดับบัตรทอง สู่ '30 บาท อัปเกรด'

สปสช. ครบรอบ 21 ปี ก้าวสู่ปีที่ 22 ขับเคลื่อนยกระดับบัตรทอง สู่ '30 บาท อัปเกรด' เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน หนุนเดินหน้า 'บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่' จัดสรรงบประมาณสนับสนุนนโยบาย Quick win ให้ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดงานครบรอบ 'วันสถาปนาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ' ซึ่งตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน ของทุกปี โดยปีนี้เป็นการครบรอบปีที่ 21 พร้อมก้าวสู่ปีที่ 22' โดยภายในงานมีการจัดกิจกรรมร่วมรำลึกถึงการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมผู้บริหาร สปสช. ร่วมวางพวงมาลัยรูป นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนแรก และเป็นผู้ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีอดีตผู้บริหาร สปสช. และแขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงานในวันนี้

 

ทั้งนี้ พระราชวัชรธรรมภาณี (ส.ณ.สุภโร) เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง ได้ร่วมแสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง 'จริยธรรมในการทำงานเพื่อความสุขสมดุลในชีวิต' ให้กับบุคลากร สปสช.

 

สปสช. ก้าวสู่ปีที่ 22 ยกระดับบัตรทอง สู่ \'30 บาท อัปเกรด\'  

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์เพื่อดูแลคนไทยที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล และบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยวันที่ 19 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น 'วันสถาปนาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ' และในปี 2566 นี้ เป็นวาระครบรอบปีที่ 21 และก้าวสู่ปีที่ 22 โดย สปสช. ได้จัดกิจกรรมขึ้นในวันนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ตลอดในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. ได้ดำเนินการโดยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติราชการเพื่อขับเคลื่อน เริ่มตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันมี 5 ระยะ คือ  ระยะที่ 1 (ปี 2546-2550) สร้างความครอบคลุมด้านหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทย ระยะที่ 2 (2551–2554) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ระยะที่ 3 (ปี 2555–2559) ความยั่งยืนระบบฯ ครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย และระยะที่ 4 (ปี 2560-2565) ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังมั่นคง ดำรงธรรมาภิบาล และระยะที่ 5 (ปี 2566-2570) ที่มุ่งขับเคลื่อนให้ “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ”

 

ด้วยการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการข้างต้นนี้ ประกอบกับปัจจัยสนับสนุน ทั้งการบูรณาการระบบข้อมูล และมีชุดข้อมูลมาตรฐาน (Standard data set) การเชื่อมข้อมูลทุกระบบได้อย่างคล่องตัว และหน่วยบริการส่งข้อมูลบริการ/ข้อมูลเบิกจ่ายรวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน ทำให้ สปสช. สามารถดูแลประชาชนผู้มีสิทธิเกือบ 47 ล้านคน ได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง มีคุณภาพ และมาตรฐานทางการแพทย์ ส่งให้ผลการสำรวจความพึงพอใจที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้น

 

โดยล่าสุดในปี 2566 ความพึงพอใจของประชาชนอยู่ที่ร้อยละ 97.69 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 98.19 ส่วนภาคีเครือข่าย และภาคประชาชนความพึงพอใจ ปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 97.62 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 97.84 และหน่วยบริการความพึ่งพอใจ ปี 25666 อยู่ที่ร้อยละ 91.27 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 86.19

 

สปสช. ก้าวสู่ปีที่ 22 ยกระดับบัตรทอง สู่ \'30 บาท อัปเกรด\'

 

 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางของ สปสช. ในการก้าวสู่ปี 22 นี้ สปสช. เตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาการในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสู่ 30 บาท อัปเกรด (UPGRADE) เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมร่วมขับเคลื่อนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จัดกลไกให้ข้อมูล ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และหน่วยบริหาร เบื้องต้นเตรียมสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ประชาชนไทยทุกคน เข้าถึงบริการตามนโยบาย Quick win ทั้งวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก สถานชีวภิบาล และจิตเวชเรื้อรังในชุมชน

 

นอกจากนี้ยัง ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินการของ สปสช. ดังนี้

1. ประชาชนได้รับประโยชน์ สะดวก รวดเร็ว อาทิ นัดคิวหรือนัดแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ บริการรับยาใกล้บ้าน บริการตรวจแล็บ/เจาะเลือดใกล้บ้านหรือที่บ้าน บริการกายภาพบำบัด/การพยาบาลเบื้องต้นที่บ้าน และบริการแพทย์ทางไกล ฯลฯ  

2. หน่วยบริการได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ค่าชดเชยบริการเร็วขึ้น

3.ใช้ระบบ AI ตรวจสอบก่อนเบิกจ่าย เพิ่มความแม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ  

 

“วันนี้ สปสช. ได้ก้าวสู่ปีที่ 22 แล้ว แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมาจะได้ดำเนินการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่โจทย์ใหญ่ต่อจากนี้คือ การต่อยอด และพัฒนาระบบเพื่อให้สอดคล้องและสนองต่อความต้องการและวิถีชีวิตของประชาชนได้ โดยมุ่งขับเคลื่อนให้ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

 

สปสช. ก้าวสู่ปีที่ 22 ยกระดับบัตรทอง สู่ \'30 บาท อัปเกรด\'

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์