“เมดิคัล ฮับ” ซ้ำเติม “หมอขาด” สู่ทางสกัด “สมองไหล”

“เมดิคัล ฮับ” ซ้ำเติม “หมอขาด” สู่ทางสกัด “สมองไหล”

ข่าวแพทย์ลาออกและข่าวแพทย์ประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิตหลังเข้าเวรต่อเนื่อง ในช่วงที่ผ่านมาทำให้สังคมตั้งคำถามไปยัง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึง “ภาระงาน” และภาวะการขาดแคลนแพทย์ในระบบของรัฐ

การกดดันของสังคมน่าจะมีส่วนทำให้ สธ. ออกข่าวเรื่องการแก้ไขปัญหานี้ เช่น เพิ่มตำแหน่งข้าราชการแพทย์ให้ได้ตามกรอบขั้นสูงที่กำหนดไว้ภายในปี 2569 กล่าวคือเพิ่มตำแหน่งข้าราชการแพทย์ของ สธ.จาก 24,649 คนในปัจจุบันเป็น 35,578 คนภายในปี 2569

โดยหวังว่าจะสามารถช่วยชะลอภาวะ “สมองไหล”ออกจากระบบ นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ก็มีโครงการผลิตแพทย์ใหม่เพิ่มมาโดยตลอด โดยใน 10 ปีนี้ (2561-70) รับนักศึกษาแพทย์เฉลี่ยปีละกว่า 2,450 คน ซึ่งในปัจจุบันมีแพทย์จบใหม่ ที่ได้ใบประกอบโรคศิลปะ ปีละประมาณ 2,600-2,700 คน ส่วนใหญ่จะถูกเติมเข้าไปในระบบภาครัฐ 

แนวทางข้างต้นถือเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ดูดแพทย์ออกจาก สธ. และภาครัฐอย่างไม่ขาดสาย จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของ รพ.เอกชนของไทย รวมทั้งส่วนที่เรียกว่าเป็น “Medical Hub”

ซึ่งตั้งเป้าและประสบความสำเร็จในการดึงดูดคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศไทยในช่วงสองทศวรรษเศษที่ผ่านมา ซึ่งแทบทุกรัฐบาลต่างก็สนับสนุนนโยบายนี้ 

การที่ รพ.เอกชนขยายกิจการและนำเข้าคนไข้ต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (อาจจะชะลอลงบ้างในช่วงโควิด) ทำให้มีการดึงทีมแพทย์เฉพาะทางจาก รร.แพทย์ และ รพ.รัฐ เข้าไปอยู่ใน รพ.เอกชนจำนวนมาก 

“เมดิคัล ฮับ” ซ้ำเติม “หมอขาด” สู่ทางสกัด “สมองไหล”

และถึงแม้ว่าที่ผ่านมารัฐจะมีโครงการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เช่น ประมาณ 24,562 คนในช่วงปี 2561-70แต่ผลลัพธ์ที่ผ่านมาก็คือสถานพยาบาลของ สธ. ในต่างจังหวัดรวมทั้งในพื้นที่ห่างไกล ก็ยังมีปัญหาขาดแคลนแพทย์ ทำให้แพทย์ในระบบของ สธ. ยังคงมีภาระงานที่ยังหนักเหมือนเดิม 

ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการที่มีแพทย์พยาบาลที่ไม่เพียงพอ  ทำให้แพทย์ต้องตรวจคนไข้จำนวนมาก ความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดก็ย่อมจะสูงขึ้น ซึ่งแม้ว่ากรณีส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นปัญหา แต่ก็เป็นระเบิดเวลาที่อาจระเบิดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ 

การมีแพทย์พยาบาลที่ไม่เพียงพอ  ก็ทำให้การยึดหลัก  “ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง” ทำได้ยากขึ้นด้วย เพราะในแต่ละวันผู้ป่วยจะถูกส่งเข้ามามาก  เปรียบเสมือนการส่งชิ้นส่วนมาทางสายพานในระบบสินค้าอุตสาหกรรม ที่แต่ละจุดต้องทำให้เสร็จในเวลาสั้นๆ ในขณะที่อาการของผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันมากพอสมควร 

    แล้วการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ควรทำอย่างไร ?
    ทางออก คือ ควรมีการปรับแก้ในทุกจุดที่ทำได้ เช่น พิจารณาอนุญาตให้ รพ.เอกชนร่วมเปิดหลักสูตรสอนแพทย์เฉพาะทางได้ จากเดิมที่การสอนแพทย์เฉพาะทางจะอยู่ใน โรงเรียนแพทย์ของรัฐเท่านั้น 

รวมไปถึงการพิจารณาเปิดทางให้แพทย์ต่างชาติรักษาคนไข้ต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาใน รพ.เอกชนของไทย  โดยมีอนุญาตให้แพทย์ต่างชาติรักษาคนไข้ที่ใช้ภาษาเดียวกันกับที่ได้รับใบประกอบโรคศิลป์

โดยที่ไทยสามารถควบคุมมาตรฐาน  ผ่านกระบวนการรับรองร่วมกัน (mutual recognition) และ/หรือแพทยสภาอาจพิจารณาจัดสอบใบประกอบโรคศิลปะเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ ที่แพทยสภาไทยสามารถดำเนินการได้  

การมีแพทย์ต่างชาติเข้ามารองรับกระแสคนไข้ต่างชาติ จะช่วยให้มีแพทย์ที่สมดุลกับจำนวนคนไข้มากขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนของคนไทยด้วย

ทั้งนี้ในระยะยาวควรพิจารณาเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมพิเศษจากคนไข้ต่างชาติที่เป็น “medical tourist” ผู้ที่เดินทางเข้ามาเพื่อรับการรักษาในประเทศไทยโดยเฉพาะ (ไม่รวมผู้ป่วยที่เป็นนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่มาทำงานไทย) เพื่อชดเชยการใช้ภาษีคนไทยในการอุดหนุนการผลิตและฝึกอบรมแพทย์  

ซึ่งวิธีนี้แทบจะไม่กระทบคนไข้ต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง และยังช่วยสกัดไม่ให้ราคาค่ารักษาพยาบาลในไทยเพิ่มพรวดพราดตามกำลังซื้อที่มาจากต่างประเทศด้วย และสามารถนำเงินภาษีที่เก็บได้นี้ไปอุดหนุนการผลิตแพทย์เพิ่ม (ซึ่งปัจจุบันมีต้นทุนประมาณ 3.8 ล้านบาทต่อแพทย์ 1 คน) และ/หรือปรับปรุงพัฒนา รร.แพทย์ของไทยให้ดีขึ้น

“เมดิคัล ฮับ” ซ้ำเติม “หมอขาด” สู่ทางสกัด “สมองไหล”

นอกจากนี้ สังคมไทยควรคิดไปพร้อมกันด้วยว่า ควรทำอย่างไรกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย?
การที่ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก ทำให้กลุ่มคนที่มีฐานะดีจำนวนไม่น้อยสามารถเลือกไปใช้แต่บริการ รพ.เอกชน  รัฐอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปรับระบบบริการของรัฐมากนัก

ต่างจากในแคนาดาหรืออังกฤษ ที่ระบบบริการทางการแพทย์ของเขายังคงความเป็นระบบของรัฐ (National Health System) ที่แทบจะไม่ยอมเปิดให้มีทางเลือกอื่นสำหรับผู้ที่ต้องการระบบที่มีคุณภาพสูงกว่าเลย  

ทำให้คนในประเทศเหล่านั้นมักต้องคอยเฝ้าดูว่าระบบของรัฐพัฒนาไปในทางที่น่าพอใจสำหรับพวกเขาหรือไม่  และมักเรียกร้องให้ปรับปรุงระบบบริการทางการแพทย์ของรัฐอย่างแข็งขันอยู่เสมอ 

ในทางกลับกัน การแก้ไขปัญหาระบบบริการสุขภาพของไทยในระยะยาวอย่างจริงจัง คงจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนกว่าเมื่อคนไทยส่วนใหญ่มี “ฉันทามติ” ร่วมกันว่าต้องการระบบแบบไหน และยินดีจ่ายภาษีที่มากพอที่จะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพ

การที่คนไทยถึงประมาณ 1 ใน 5 ยังสามารถตัดช่องน้อยไปพึ่งบริการของภาคเอกชนหรือของ รร.แพทย์ ทำให้พวกเขาส่วนใหญ่อาจยังไม่เห็นความจำเป็นในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบบริการของรัฐอย่างมีนัยสำคัญในเร็ววัน

จึงมีโอกาสมากที่การแก้ไขปัญหานี้และปัญหาอื่นๆ ในระบบบริการสุขภาพของรัฐจะยังคงดำเนินไปข้างหน้าเพียงช้าๆ ในวงจำกัด และหลายปัญหาอาจจะยังถูกละเลยหรือเงียบหายไปเหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมา.

คอลัมน์ วาระทีดีอาร์ไอ
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร
[email protected]