เด็กเกิดน้อย รัฐบาลต้องลงทุน 'เพิ่มประชากร'

เด็กเกิดน้อย รัฐบาลต้องลงทุน 'เพิ่มประชากร'

รัฐบาลต้องออก ‘นโยบายประชากร” หลังเผชิญเด็กเกิดน้อย  ทำให้ปี 66คนเข้าสู่วัยแรงงานไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงาน กรมอนามัยชงมาตรการทางเลือก กระตุ้นคนอยากมีลูก-นำเข้าแรงงานศักยภาพสูง

    นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 11 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันประชากรโลก (World Population Day) ซึ่งคณะมนตรีประศาสน์การของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาได้กำหนดขึ้น ตั้งแต่ปี 2532 เพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถึงประเด็นปัญหาของประชากรโลก ซึ่งในปี 2566 ประเทศไทยประสบปัญหาจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมในปี 2506-2526 มีเด็กเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ลดลงเหลือ 502,107 คน ในปี 2565 และอาจจะต่ำกว่า 500,000 คน ในปี 2566 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ เวียดนาม เกาหลีใต้ และอีกกว่า 120 ประเทศ
          ขณะที่จำนวนการเกิดลดลงจำนวนผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ คือ มีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 20% และในปี 2579 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คือ มีประชากรที่อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป 30% ทำให้ในปี 2566 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยแรงงาน อายุ 20-24 ปี ไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงาน อายุ 60-64 ปีได้

มาตรการแก้เด็กเกิดน้อย 

        กรมอนามัย ร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ฯ ซึ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 มาอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่า จำนวนการเกิดยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ ในระยะครึ่งแผนหลัง กรมอนามัย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงได้เสนอมาตรการทางเลือกในการแก้ไขปัญหา อาทิ

  •  การส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี     
  • การเพิ่มสิทธิการลาในการเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่
  • มาตรการ work from home การยืดหยุ่นเวลางาน
  • การลาคลอดได้ 6 เดือนโดยได้รับค่าจ้าง
  • สิทธิการรักษาและสิทธิการลาเพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก
  • การใช้ AI เข้ามาทดแทนการใช้มนุษย์ในสาขาที่มีความขาดแคลน
  •  การเลื่อนการเกษียณอายุให้สูงขึ้น
  • การส่งเสริมการออมสำหรับการเกษียณ และการส่งเสริมการสร้างอาชีพรอง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน

รัฐลงทุนนำเข้าแรงงาน

          นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กล่าวว่า การเพิ่มจำนวน การเกิดนี้ อาจต้องมองในหลายมิติเพิ่มเติม การเพิ่มจำนวนการเกิดจากผู้ที่มีความพร้อมหรือจากคนไทยเพียงอย่างเดียว อาจไม่ทันต่อการรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะกระทบต่อ GDP และความมั่นคงของประเทศในภาพรวม การให้ความสำคัญกับทุกการเกิดในประเทศ หรือการนำเข้าแรงงานที่มีศักยภาพสูงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่รับมือกับปัญหาได้เร็วกว่า และไม่ว่าจะเลือกมาตรการใดเป็นมาตรการหลัก รัฐบาลควรเป็นผู้ลงทุน เพื่อให้เกิดความครอบคลุม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

        “ ที่ผ่านมากรมอนามัย ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้ชีวิตคู่และการมีบุตร เพื่อพัฒนาศักยภาพคนโสดรุ่นใหม่ ให้มีทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้ชีวิตคู่และการมีบุตร ตลอดจนร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ตรงกับความต้องการของประชาชน โดยข้อเสนอดังกล่าวได้นำมากำหนดเป็นมาตรการทางเลือกให้กับรัฐบาลต่อไป”นพ.บุญฤทธิ์กล่าว