ชงพรรคการเมือง คลอดนโยบาย 'ส่งเสริมมีลูก' ไทยเผชิญปัญหาเกิดน้อย

ชงพรรคการเมือง คลอดนโยบาย 'ส่งเสริมมีลูก' ไทยเผชิญปัญหาเกิดน้อย

ชี้ช่องบอร์ดอนามัยเจริญพันธุ์ ช่วงเลือกตั้งชงพรรคการเมืองเสนอนโยบายส่งเสริมมีบุตร หลังอัตราเกิดไทยต่ำ 

   นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) กล่าวถึงกรณีการส่งเสริมการมีบุตร โดยเฉพาะการส่งเสริมการมีคู่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ว่า รัฐบาลทำงานเรื่องนี้ผ่านคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ มีหลายกระทรวงเข้ามาทำเรื่องนี้ มีคณะอนุกรรมการกำหนด ทั้งกฎหมาย นโยบายต่างๆ ซึ่งตนพยายามบอกให้คณะกรรมการฯว่าสิ่งไหนที่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายใหญ่ๆ ช่วงเลือกตั้งก็ให้ไปนำเสนอพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองออกนโยบายพรรคที่จะขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม เช่น บางพรรคอาจเสนอการตั้งครรภ์ได้เงิน หรือเบบี้โบนัส เป็นต้น

     “ทั้งหมดเป็นเรื่องค่านิยมไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันที รัฐต้องเพิ่มการเข้าถึงการวางแผนครอบครัวที่รัฐจ่ายให้ หรือเข้าถึงสิทธิที่เบิกจ่ายได้ คณะกรรมการฯ มีการทำ แต่การผูกมัดจำนวนเงินมากๆ ก็ต้องเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองและรัฐบาลต้องดำเนินการ”นายสาธิตกล่าว 

      นายสาธิต กล่าวอีกว่า กลุ่มที่แต่งงานแต่ไม่อยากมีลูก เป็นหนึ่งในสิ่งที่คณะกรรมการฯ พยายามพูดคุยกัน ข้อเสนอของตนคือ พยายามเอาอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความสุขกับการมีลูก และรีวิวให้เห็นว่าการมีลูกมีความสุขแบบไหนอย่างไร จะเป็นการให้ข้อมูลในเชิงการสร้างค่อยๆ เปลี่ยนค่านิยมไปเรื่อยๆ รวมทั้งเรากำลังคิดว่า คนรุ่นใหม่จะคำนวณการมีลูกในเชิงเศรษฐกิจ ดังนั้น การช่วยเหลือในด้านเศรษฐกิจ ทางคณะอนุฯ พยายามดำเนินการเรื่องนี้เพื่อคำนวนและช่วยตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
แอปฯหาคู่ใช้อย่างรู้เท่าทัน

       นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ และโฆษกประจำตัวรมช. สธ. กล่าวถึงการส่งเสริมให้คนมีคู่ว่า เรื่องของการหาคู่ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ นั้น คิดว่าถ้าเราใช้เครื่องมืออย่างรู้เท่าทัน คิดว่าเป็นประโยชน์ ส่วนตัวก็เคยเห็นหลายคู่ที่รักกันจริง แต่งงานกันได้จากแอปพลิเคชันหาคู่ อย่างประเทศไทยปีที่แล้วมีการจัดความร่วมมือกันแอปพลิเคัชชื่อว่า Seriously App เป็นของคนไทย ความยากคือลงทะเบียนยาก เพราะต้องการความซีเรียสในการหาคู่ ไม่ใช่มาเจอกันแล้วเป็น Friend with Benefit
     เพจที่เกี่ยวกับคนโสดที่จะให้คนไทยอยากมีคู่ เป็นอีกพื้นที่หนึ่ง การสนับสนุนแอปฯ เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องศึกษาก่อนว่ามีความเสี่ยงอะไรหรือไม่อย่างไร ต้องให้ความรู้ผู้มาใช้บริการและผู้ให้บริการด้วยว่าจะทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย เช่น ให้ความรู้เรื่องความสัมพันธ์ ความรู้การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย

โลกเผชิญปัญหาเกิดน้อย

         อนึ่ง ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกต่างประสบกับปัญหาอัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) ต่ำกว่าระดับทดแทนประชากร จากสถานการณ์การเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ สำหรับประเทศไทย ถือว่าลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราการเกิด

  • ปี 2555 อยู่ที่ประมาณ 800,000 คน
  • ปี 2560 อยู่ประมาณ 700,000 คน
  • ปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 500,000 คน

           หลายประเทศจึงจัดทำนโยบายเพื่อเพิ่มประชากร โดยให้สิทธิ สวัสดิการเพื่อจูงใจให้ประชาชนมีบุตรเพิ่มขึ้น แต่พบว่ายังไม่มีประเทศใดทำได้สำเร็จ

          เด็กเกิดน้อยเกิดจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งเพราะคนรุ่นใหม่ที่ยังโสด เนื่องจากมีความรักอิสระ ความก้าวหน้าในการทำงาน การหารายได้เพื่อดูแลตัวเอง  การมีบุตรจึงถูกมองว่าอาจทำให้เสียโอกาสในการทำงานและการท่องเที่ยว บางมุมมอง พบว่า การแต่งงานและการมีบุตรไม่ใช่เรื่องสำคัญเสมอไป

      ส่วนคู่แต่งงานเองก็ชะลอการมีบุตร หรือตัดสินใจไม่มีบุตร ซึ่งเหตุผลเดียวกับคนโสด และบางครอบครัวยังประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากได้ ประกอบกับการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ค่าครองชีพสูง และสภาพสังคมในปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยด้านความปลอดภัยอีกด้วย

       ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรของไทยในอนาคต ทำให้สัดส่วนของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้ประชากรในวัยทำงาน นอกจากจะต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูตัวเองแล้ว จะต้องเตรียมพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ

"ส่งผลให้ประเทศพบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่อาจต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น การจัดเก็บภาษีอาจจะไม่เพียงพอกับงบประมาณที่จะใช้ในการบริหารประเทศ รวมถึงกองทุนสวัสดิการต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องกันไปด้วย”นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัยกล่าว