ไทย-ญี่ปุ่นร่วมวิจัย 'รักษามะเร็ง' ตรวจยีนก่อนให้ยาเหมาะสมเฉพาะบุคคล

ไทย-ญี่ปุ่นร่วมวิจัย 'รักษามะเร็ง' ตรวจยีนก่อนให้ยาเหมาะสมเฉพาะบุคคล

กรมการแพทย์-ศูนย์มะเร็งแห่งชาติญี่ปุ่น ลงนามความร่วมมือวิจัยด้านการรักษาโรคมะเร็งแบบทางไกลครั้งแรก  มุ่งศึกษาการให้ยาที่ตอบสนองเฉพาะเจาะจงคนไข้แต่ละรายมากขึ้น ด้วยการตรวจยีนก่อนให้ยา เพราะยาแต่ละตัวอาจจะตอบสนองต่อคนไข้แตกต่างกันหากมีเชื้อชาติต่างกัน

     เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566  กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย และศูนย์มะเร็งแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น  ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการรักษาโรคมะเร็ง  โดยนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคมะเร็ง 19 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 9.6 ล้านคน ซึ่งยารักษาแต่ละชนิดอาจไม่สัมพันธ์กับคนแต่ละประเทศ จึงจะมีการศึกษาวิจัยร่วมกัน โดยเฉพาะการนำยีน หรือรหัสพันธุกรรมของคนไทย กับยาว่า มีความสัมพันธ์ร่วมกันหรือไม่ ซึ่งทางญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับไทย เนื่องจากศักยภาพของไทยในเรื่องสาธารณสุข เรื่องทางการแพทย์ในการทำงานร่วมกันได้

ตรวจยีนก่อนให้ยา

          ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการศึกษาจีโนมิกส์ของคนไทยกับโรคมะเร็ง  และเป็นการทำวิจัยทางคลินิกแบบข้ามพรมแดนระหว่างประเทศครั้งแรก  โดยแพทย์จากประเทศญี่ปุ่นจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั่วคราวของประเทศไทย ตามมาตรฐานของแพทยสภา ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ได้ สามารถเข้าร่วมได้ทุกชนิดมะเร็งขึ้นอยู่กับตัวยาที่จะศึกษาว่าใช้สำหรับมะเร็งชนิดไหน และไม่เฉพาะคนไข้ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แต่รวมถึงในโรงเรียนแพทย์และรพ.เอกชนที่เข้าร่วมด้วย
          “การศึกษาจะดูเรื่องจิโนมิกส์ทางการแพทย์ ดูว่ายาเหมาะสมกับยีนของแต่ละคนเป็นอย่างไร จะทำให้ทราบว่าคนไทยเป็นมะเร็งชนิดไหน จะได้ใช้ยาได้เหมาะสม รวมถึงการเป็นมะเร็งแล้วจะเป็นซ้ำหรือไม่ เมื่อการวิจัยพบว่า ยาตัวใดสำเร็จก็จะสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยไทยในราคาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระยะยาว โดยยาตัวไหนเข้ามาก็จะมีการศึกษาร่วมกัน ทั้งของแพทย์ไทยและญี่ปุ่นจนสำเร็จ”นพ.ธงชัยกล่าว 

ไทย-ญี่ปุ่นร่วมวิจัย \'รักษามะเร็ง\' ตรวจยีนก่อนให้ยาเหมาะสมเฉพาะบุคคล

คนไทยเข้าถึงยาราคาต่ำลง
     พญ.นภา ศิริวิวัฒนากุล  ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า  โครงการนี้แผนระยะสั้น 3 เดือนจะเห็นโครงการวิจัยยาบางตัวที่ทางญี่ปุ่นจะนำเข้ามาใช้ในคนไทย ซึ่งจะเป็นยาที่ศึกษาทางจิโนมิกส์เป็นหลัก  จากนี้จะมีการหารือร่วมกันของคณะกรรมการวิจัย เพื่อวางโครงการย่อยในการศึกษา เช่น ยาตัวนี้ เหมาะกับการรักษามะเร็งโรคนี้ในกลุ่มอายุเท่าไหร่ หรือผู้ป่วยมะเร็งระยะไหน หลังการศึกษาวิจัยสำเร็จจะทำให้คนไทยได้รับยาที่เป็นประโยชน์ มีคุณภาพ แต่ราคาต่ำลง

     “การวิจัยร่วมกันก็เพื่อให้เห็นว่ายีนแต่ละคนเป็นอย่างไร ตอบสนองต่อยาตัวไหนหรือไม่อย่างไร เพราะคนแต่ละภูมิภาค แต่ละเชื้อชาติไม่เหมือนกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทราบว่า ยาตัวนี้คนไข้ในเอเชียตอบสนองได้ดีหรือไม่อย่างไร ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มการรักษามะเร็งจะมาทางการศึกษายีนของแต่ละคน เรียกว่าต้องลงระดับรหัสพันธุกรรมของคน เพื่อให้การรักษาดีขึ้น คนไข้มีอายุยืนยาวมากขึ้น” พญ.นภา กล่าว

       สำหรับสถานการณ์มะเร็งในไทยภาพรวมทั้งหญิงและไทย คือ มะเร็งตับ หรือมะเร็งท่อน้ำดี รองลงมามะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก

ไทย-ญี่ปุ่นร่วมวิจัย \'รักษามะเร็ง\' ตรวจยีนก่อนให้ยาเหมาะสมเฉพาะบุคคล

สาระสำคัญของความร่วมมือ

     สาระสำคัญของการร่วมมือในครั้งนี้ ประกอบด้วยกรมการแพทย์ และศูนย์มะเร็งแห่งชาติญี่ปุ่นจะร่วมกันหาแหล่งทุนสำหรับสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยระหว่างประเทศ ,ศูนย์มะเร็งแห่งชาติจะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพให้แก่สถาบันทางการแพทย์ของไทยจากการร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศและการดำเนินโครงการ DCTs ,กรมการแพทย์จะจัดตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ รวมถึงพัฒนาเครือข่ายสถาบันวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย และการทำงานวิจัยระหว่างประเทศร่วมกัน
           การทำวิจัยทางคลินิกภายใต้โครงการนี้จะดำเนินการในลักษณะโครงการนำร่อง ซึ่งผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการดูแลจากนักวิจัยซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งของทั้งไทยและญี่ปุ่น โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาขั้นตอนการดำเนินงานโครงการฯ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ,ฝ่ายไทยจะออกใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะชั่วคราวให้แก่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งของญี่ปุ่น เพื่อให้แพทย์ญี่ปุ่นสามารถร่วมให้การดูแลรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยได้โดยจะอยู่ภายใต้การกำกับของแพทย์ไทยที่เป็นนักวิจัยหลักของโครงการและมีการจัดประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างสองฝ่ายเพื่อดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือนี้
วิจัยด้านคลินิกทางไกลระหว่างประเทศ
           ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นโครงการวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศ หรือ DCTs เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยทางคลินิกเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช่จ่ายในการทำวิจัยทางคลินิกแบบเดิม เนื่องจากการบริหารจัดการโครงการวิจัยทางคลินิก เช่น การติดตามประเมินผลการวิจัย จะทำผ่านระบบทางไกล ซึ่งการวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศแบบทางไกลนี้ ดำเนินการภายใต้ โครงการเครือข่ายวิจัยทางคลินิกด้านโรคมะเร็งแห่งเอเชีย (Asian Clinical Trials Network for Cancers Project: ATLAS) ศูนย์มะเร็งแห่งชาติญี่ปุ่นเพื่อจัดตั้งเครือข่ายการวิจัยทางคลินิกในภูมิภาคเอเชียให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มบทบาทของเอเชียในการเป็นเสาหลักที่สามของการพัฒนายาและเครื่องมือแพทย์ให้เทียบเท่ากับสหรัฐอเมริกา และยุโรป

          จึงมีการสร้างเครือข่ายการวิจัยทางคลินิกสำหรับโรคมะเร็งให้มีความต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศที่ริเริ่มโดยเอเชีย ดำเนินการโดยเอเชีย และเพื่อประชาชนในเอเชีย ปัจจุบัน มีประเทศที่เข้าร่วมในเครือข่ายดังกล่าวแล้ว 8 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี จีนไทเป ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งศูนย์มะเร็งแห่งชาติญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อให้การทำวิจัยทางคลินิกมีคุณภาพ และมีการฝึกอบรมการทำวิจัยทางคลินิกระหว่างประเทศ