หมอทวีศิลป์ รับแพทย์ 9 โรงพยาบาล ทำงานหนัก วางเป้า 3 เดือนแก้ไขทำงานเกินเวลา

หมอทวีศิลป์ รับแพทย์ 9 โรงพยาบาล ทำงานหนัก วางเป้า 3 เดือนแก้ไขทำงานเกินเวลา

‘นพ.ทวีศิลป์’ รองปลัด สธ. ยอมรับ 9 โรงพยาบาลแพทย์ทำงานหนัก วางเป้า 3 เดือนแก้ไขทำงานเกินเวลา 64 ชม.ต่อสัปดาห์ สั่งเร่งผลิตเพิ่มแก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลน พร้อมยืนยันมีแพทย์ลาออกเฉลี่ยปีละ 455 คน ไม่ถึง 900 คน และแพทย์ลาออกส่วนใหญ่ต้องการ ‘Work Life Balance’

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย แพทย์หญิงพิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ร่วมกันแถลงข่าวจากกรณีปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุข

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่าปัจจุบันแพทย์ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข อยู่ในภาวะขาดแคลนจริง แม้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแผนผลิตระหว่าง กระทรวงอุดมศึกษาฯ จำนวนกว่า 3,000 คนต่อปี และกระทรวงสาธารณสุข ผลิตเองอีกกว่า 1,000 คนต่อปี แต่แพทย์ในระบบกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ

เนื่องจากแพทย์เมื่อสำเร็จการศึกษา จะต้องเข้าสู่ระบบการจัดสรร เพื่อไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงกลาโหม หรือกรุงเทพมหานคร ทำให้มีแพทย์เหลือเข้าสู่ระบบของกระทรวงสาธารณสุข ปีละแค่กว่า 2,000 คน แต่บางปีก็ไม่ถึง เช่นปี 2565 เหลือแพทย์เข้าสู่ระบบของกระทรวงสาธารณสุขจริง ๆ เพียง 1,850 คนเท่านั้น สวนทางกับภาระงานของแพทย์ทีมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา

หมอทวีศิลป์ รับแพทย์ 9 โรงพยาบาล ทำงานหนัก วางเป้า 3 เดือนแก้ไขทำงานเกินเวลา

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแพทย์ในระบบแพทยสภา 50,000-60,000 คน แต่ในกระทรวงสาธารณสุข 24,649 คนเท่านั้น ซึ่งอัตราการรักษาผู้ป่วยแพทย์ 1 คนต่อผู้ป่วย 2,000 คน หากเปรียบเทียบกับอังกฤษ ซึ่งมีระบบสาธารณสุขคล้ายกับไทย และมีประชากรใกล้เคียงกัน อัตราแพทย์ของอังกฤษ อยู่ที่ 3 คนต่อผู้ป่วย 1,000 คนเท่านั้น

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่ามีโรงพยาบาลในสังกัด 9 แห่ง อยู่ในภาวะ "Work Load" ซึ่งแพทย์ต้องทำงาน 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถือว่าเป็นปริมาณงานที่หนัก เมื่อเทียบกับชั่วโมงงานของแพทย์ในโลก นับว่า ทะลุเกินมาตรฐาน ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

แนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วนกรณีแพทย์ทำงานนอกเวลา 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้แก้ปัญหาภายใน 3 เดือน ขณะนี้ความคืบหน้าเป็นอย่างไร นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีการติดตามข้อมูล ซึ่งมีการดีเลย์ไปนิดหนึ่ง โดยเอาข้อมูลแพทย์ใช้ทุนที่จะจบ โดยขณะนี้ข้อมูลถึง 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งรวบรวมข้อมูลน้องทำงานครบปี กำลังรวบรวมและจะอัปเดตข้อมูล ซึ่งขณะนี้ปลัดสธ.ได้ให้ผู้ตรวจราชการทุกเขต ที่รับผิดชอบรพ.เพิ่มพูนทักษะ 117 แห่งให้ไปดูแลตรงนี้ และน้องๆรุ่นใหม่กำลังไปเติมอยู่ในระบบตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือนนี้ โดยผู้ตรวจฯทุกท่านลงไปกำกับดูแลเอง

หมอทวีศิลป์ รับแพทย์ 9 โรงพยาบาล ทำงานหนัก วางเป้า 3 เดือนแก้ไขทำงานเกินเวลา

สำหรับแผนการแก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลน นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแผนผลิตแพทย์ ให้เพียงพอ โดยในระยะเวลา 10 ปี ตั้งเป้าผลิตแพทย์ให้ได้ปีละ 3,300 คน พร้อมหารือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือ (ก.พ.) ขอขยายอัตราการบรรจุแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมา ก.พ.ไม่ใช่อุปสรรคปัญหาของการขยายอัตราแพทย์

นอกจากนี้ จะใช้มาตรการเพิ่มค่าตอบแทน มาตรการด้านสวัสดิการ มาตรการความก้าวหน้าในอาชีพ และมาตรการลดภาระงานของแพทย์ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แพทย์จบใหม่ยอมอยู่ในระบบกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจแก้ปัญหาโดยเปิดรับแพทย์จบเอกชน หรือแพทย์จบจากต่างประเทศ เข้ามาเป็นลูกจ้างของกระทรวงฯ และบรรจุเป็นราชการในภายหลัง

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังยืนยันว่าปี 2565 มีแพทย์ลาออกไม่ถึง 900 คนตามที่มีแพทย์บางรายออกมาให้ข้อมูล โดยชี้แจงข้อมูลแพทย์ลาออกย้อนหลัง 10 ปีคือตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2565 จะเฉลี่ยปีละ 455 คน ซึ่งถ้านับรวมกับแพทย์เกษียณราชการปีละ 150-200 คน รวมอยู่ประมาณ 655 คนเท่านั้น ซึ่งจากการสำรวจแพทย์ที่ลาออกส่วนใหญ่ต้องการการทำงานที่มีเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ ส่วนสาเหตุค่าตอบแทนจัดอยู่ในลำดับท้ายๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองเรื่องแพทย์ขาดแคลนเป็นการปั่นกระแสของฝ่ายการเมืองหรือไม่ นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า มองเป็นโอกาสที่จะได้พูดถึงปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไขและให้กำลังใจแพทย์รุ่นน้อง ๆ ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากสต๊าฟ หรือแพทย์รุ่นพี่ ให้ช่วยกันประคับประคองดูแลรุ่นน้องด้วย

ส่วนกรณีการเขียนเวชระเบียนหรือ ประวัติผู้ป่วยจำนวนมากในแต่ละวันเป็นอีกหนึ่งสาเหตุให้แพทย์ลาออกนั้น แพทย์หญิงพิมพ์เพชร กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายโรงพยาบาล กำลังใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ซึ่งบางโรงพยาบาลทำได้ทั้งหมด มีบางโรงพยาบาลทำได้บางส่วนขึ้นอยู่กับระบบ ต้องยอมรับว่า การเขียนเวชระเบียนคนไข้ เป็นสิ่งที่แพทย์หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในอนาคต จะพยายามหาเครื่องมือและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานในส่วนนี้