ย้อนรอย 'โควิด-19' ช่วงนี้เมื่อปีที่แล้ว ผลพวง 'หลังสงกรานต์' เด็กเปิดเทอม

ย้อนรอย 'โควิด-19' ช่วงนี้เมื่อปีที่แล้ว ผลพวง 'หลังสงกรานต์' เด็กเปิดเทอม

ในช่วงนี้ มีผู้ป่วย 'โควิด-19' เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ตั้งแต่ช่วงก่อนสงกรานต์ จากการมีกิจกรรมรวมตัว อีกทั้ง ช่วงนี้เด็กนักเรียนมีการเปิดเทอม และ เริ่มมีฝนตก ทำให้เกิดการระบาดได้

Key Piont :

  • หลังสงกรานต์ และ เด็กนักเรียนเปิดเทอม นับเป็นช่วงที่เฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มระบาดมากขึ้น 
  • ก่อนหน้านี้ กรมควบคุมโรค รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ ได้ออกมาคาดการณ์การระบาดดังกล่าวว่าจะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และอาจมีการระบาดเป็นช่วงๆ แต่ความรุนแรงของโรคลดลง
  • หากเทียบกับในช่วงนี้ของปี 2565 พบว่า ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ สถานการณ์โควิดแนวโน้มเริ่มลดลง หลายภาคส่วนก็เริ่มผ่อนคลาย และเด็กเปิดเทอมช่วงกลางเดือน พ.ค. มีผู้ป่วยกำลังรักษาใน รพ.17,849 ราย มากกว่าในปีนี้ซึ่งอยู่ที่ 2,527 ราย 

 

จากปัจจุบัน ที่พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอม เริ่มมีฝนตก ทำให้เกิดการระบาดได้ หลายโรงพยาบาลได้ปรับโดยขยายระยะเวลาบริการเป็นนอกเวลา รวมถึงคัดกรองผู้ป่วยโควิดที่ห้องฉุกเฉิน โดยมีการแยกโรคเพื่อความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดความคับคั่ง และจัดการให้รับยาแบบผู้ป่วยนอกโดยใช้ Telemedicine ไม่ต้องมาตรวจที่โรงพยาบาล โดยวานนี้ (27 พ.ค. 66) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยในที่นอนมีเพิ่มขึ้น แต่ถ้าคิดเป็นจำนวนเปรียบเทียบก็ยังน้อยกว่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่สามารถบริหารจัดการได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนเตียงทั้งหมดในประเทศ พบว่า ขณะนี้ มีจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลสะสม 2,527 ราย อัตราครองเตียงร้อยละ 22.41 แบ่งเป็น กลุ่มไม่มีอาการ 240 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.7 กลุ่มอาการน้อย 687 ราย คิดเป็นร้อยละ 27.8 กลุ่มอาการปานกลาง 1,146 ราย คิดเป็นร้อยละ 46.30 กลุ่มอาการหนัก 402 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.2 และกลุ่มที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ 278 ราย คิดเป็นร้อยละ 11.2

 

คำเตือนก่อนหน้านี้

 

ช่วงก่อนสงกรานต์ กรมควบคุมโรค ได้ออกมาคาดการณ์ว่าช่วงสงกรานต์จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการทำกิจกรรมร่วมกัน การเดินทาง จึงมีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อได้ และเท่าที่รับรายงานตามโรงพยาบาลก็มีเคสผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาเพิ่มขึ้น แต่อาการไม่รุนแรง เมื่อซักประวัติส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนมาแล้ว และบางคนก็เคยติดเชื้อมาแล้ว ทำให้ยังมีภูมิคุ้มกันอาการจึงไม่หนัก

 

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ หมอยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า การระบาดของโควิด-19 จะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปถึงจุดสูงสุดเดือนมิถุนายนและจะไปลดลงในเดือนกันยายนตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ

 

"เหตุผลที่เริ่มสูงกลางเดือนพฤษภาคม เพราะเป็นฤดูฝน นักเรียนเปิดเทอม นักเรียนเป็นผู้แพร่กระจายที่ดี และ เป็นแล้วเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้มีโอกาสเป็นได้อีก มาตรการในการป้องกันที่สำคัญก็คงเหมือนเดิม สิ่งที่จะต้องเน้นคือ สถานที่มีบุคคลอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เรือนจำ ในโรงเรียน ดูแลเรื่องความสะอาด สุขอนามัย ล้างมือเป็นนิจ นักเรียนที่ป่วยไม่ควรไปโรงเรียน ผู้ป่วยทุกคนควรจะต้องใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด และมีระเบียบวินัย"

 

 

 

ทั้งนี้ เมื่อดู สถานการณ์หลังสงกรานต์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2566 กรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงาน สถานการณ์โควิด-19 พบว่า สถิติผู้ป่วยใน กทม.เพิ่มขึ้น จากช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่วันละ 300-400 คน มาอยู่ที่ประมาณกว่า 700 คนในช่วงเวลาดังกล่าว และยังมีที่ไม่ได้อยู่ในระบบรายงานอีก รวมแล้วน่าจะเป็นหลักพัน

 

ติดเชื้อแล้ว ติดซ้ำได้ 

 

ในช่วง เดียวกันนี้เอง รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยประมาณการณ์ว่าคนในประเทศติดเชื้อราววันละ 5,000-10,000 คน ถือว่าเป็นยอดสูงสุดขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับยอดสูงสุดของปีก่อน และน่าจะค่อยๆ ลดลงใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเชื้อตัวนี้อาจแหวกภูมิคุ้มกันได้บ้าง แต่ส่วนหลักน่าจะเป็นเพราะเปิดประเทศให้คนนอกและคนของไทยมากขึ้น อีกทั้ง คนที่เคยติด โอมิครอนช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ได้เวลาจะติดซ้ำอีกรอบเมื่อมีกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น

 

หน้าฝน เด็กเปิดเทอม ผู้ป่วยเพิ่มตามคาด

 

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา หมอยง เผยเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า โควิด-19 การระบาดเพิ่มขึ้นเป็นไปตามที่คาดหมายไว้เมื่อนักเรียนเปิดเทอม และเข้าสู่ฤดูฝนจะเป็นการระบาดของโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล และจะมีจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายนจนถึง เดือนสิงหาคมและหลังจากนั้นจะค่อยๆลดลง และจะไปเพิ่มอีกครั้งหนึ่งแต่ไม่มากในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ปีหน้าแล้วก็สงบ ประชากรส่วนใหญ่จะติดเชื้อ ความรุนแรงของโรคลดลง

 

สำหรับผู้ที่เป็นโควิดทั้งหลาย หรือที่ยังไม่เคยเป็น ก็จะเป็นในช่วงนี้มากขึ้นจะเหลือผู้ที่ไม่เคยเป็นจริงๆ น้อยลงอย่างมาก ในภาพรวมผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงอาการจะน้อย ความรุนแรงที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษจะอยู่ในกลุ่มเปราะบาง ในกลุ่มนี้จะต้องให้ความสำคัญในการป้องกัน และรีบรักษาให้เร็วที่สุดด้วยยาต้านไวรัส

 

"สาเหตุที่ทำให้โรคระบาดมาก เพราะชีวิตกลับเข้าสู่ปกติ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่อาการไม่รุนแรง ก็จะให้อยู่บ้าน และในขณะเดียวกันการติดเชื้อภายในบ้านเดียวกัน ก็เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น รวมทั้งในโรงเรียนสถานศึกษาและสถานที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมากเช่นตามโรงงาน"

 

การป้องกันการระบาดทุกคนจะต้องช่วยกันลดจำนวนให้ได้น้อยที่สุด และให้จำนวนค่อยเป็นค่อยไป ถ้าเกิดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก จะเป็นภาระในระบบสาธารณสุข เพราะในจำนวนนี้จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ต่อไปคำว่า โควิด มีจริงแต่ก็คงจะน้อยลงไปเรื่อยๆ และการติดซ้ำ 2 หรือ 3 สามารถเกิดขึ้นได้ แต่การเป็นซ้ำ ส่วนใหญ่อาการจะลดน้อยลง ทุกคนจะต้องช่วยกันลดการแพร่กระจายของโรค โดยเฉพาะในช่วงการระบาดใหญ่ที่กำลังจะมาถึงตามฤดูกาล

 

นายกฯ กำชับเฝ้าระวังใกล้ชิด

 

ล่าสุด นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นย้ำคำแนะนำกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 (กลุ่มอายุ 60 ปี, กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์) เร่งฉีดวัคซีน ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน หรือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต

 

พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์ พิจารณา ปรับมาตรการ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือประชาชนไม่ประมาท ปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข ติดตามประกาศของกรมควบคุมโรคอยู่เสมอ

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย 7 วัน ระหว่างวันที่ 14 – 20 พฤษภาคม 2566 พบจำนวนผู้เสียชีวิต 64 ราย เฉลี่ยวันละ 9 ราย ส่วนใหญ่อายุมาก 70 ปีขึ้นไป และไม่ยอมรับวัคซีน กลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 401 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 226 ราย ซึ่งมักไม่ได้รับวัคซีนและยังพบการระบาดลักษณะเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มวัยทำงาน นักเรียน และในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น มีการกระจายของผู้ป่วยในหลายจังหวัด

 

ส่วนกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรง พบว่า เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี และส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือบางรายพบฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็ม แต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรลดลงมาก สายพันธุ์ที่พบการระบาดเป็นสายพันธุ์ใหม่/สายพันธุ์ย่อยอื่นจากต่างประเทศ มีการระบาดเพิ่มทั้งในเมืองและชนบท ตามมาด้วยจำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่เพิ่มมากขึ้น

 

ย้อนสถานการณ์เมื่อปีที่แล้ว 2565

 

ช่วงนี้ของปี 2565 ซึ่งเป็นหลังเทศกาลสงกรานต์ ต่อเนื่องมาสู่การเปิดเทอม สถานการณ์โควิดแนวโน้มเริ่มลดลง หลายภาคส่วนก็เริ่มผ่อนคลาย แต่มีมาตรการเข้มในการรับมือ โดยเฉพาะการเปิดเรียนรูปแบบออนไซต์ (On-Site) ซึ่งจะเปิดกลางเดือน พ.ค. 2565 โดยทางกระทรวงสาธารณสุข ย้ำมาตรการ 4 เรื่องสำคัญ ดังนี้

1.เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิดโดยสถานศึกษา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยให้เปิดบริการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 60%  โดยการฉีดแบ่งเป็นเด็กอายุ 5-11 ปี   ซึ่งสถานศึกษาต้องเร่งสำรวจเด็กที่ยังไม่ได้เข้ารับวัคซีน  หรือการเข้ารับวัคซีนเข็ม 2 ให้ครอบคลุม ส่วนเด็กอายุ 12-18 ปี เป็นการฉีดบูสเตอร์ หรือเข็มกระตุ้น

2.สถานศึกษา ต้องเข้ารับการประเมิน Thai Stop COVID Plus โดยต้องผ่านการประเมินมากกว่าร้อยละ 95 ส่วนเรื่องการตรวจเชื้อ ATK กรมอนามัยได้มีการหารือกับศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว  ขอให้เป็นการตรวจเชื้อ  ในรูปแบบ เฝ้าระวังอย่างเหมาะสมเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยง หรือเมื่อมีอาการเท่านั้น จากเดิมตรวจ 3-5 วัน 

3. เน้นย้ำการทำตามแผนเผชิญเหตุ เมื่อเจอผู้ติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง   ไม่ดำเนินการปิดชั้นเรียนหรือโรงเรียน เป้าประสงค์นักเรียนควรได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน

4.เน้นย้ำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้ปฏิบัติตามมาตรการ โดยมอบหมายให้ศูนย์อนามัยในเขตสุขภาพเป็นพี่เลี้ยง   

 

โดยสถานการณ์การติดเชื้อหลังสงกรานต์ 2565 ดังนี้ 

 

23 เม.ย. 2565

ในช่วงหลังสงกรานต์ วันที่ 23 เมษายน 2565 สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวัน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 20,052 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 188,342 ราย และเสียชีวิต 129 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,962 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 25 ราย อัตราครองเตียง ร้อยละ 25.0 หากรวมตัวเลขรายงานผลตรวจ ATK พบผลบวกเพิ่ม 19,936 ราย รวมป่วยใหม่บวก ATK จำนวน 39,988 ราย

 

1 พ.ค. 2565

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2565 ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ในประเทศไทยรวม 11,535 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 11,480 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 55 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,039,049 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 22,022 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 140,989 ราย เสียชีวิต 91 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,751 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 23 ราย อัตราครองเตียง ร้อยละ 23.4 กรมควบคุมโรครายงาน ยอด ATK วันนี้ 9,924 ราย

 

8 พ.ค. 2565

ถัดมาอีก 1 สัปดาห์ วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 8,081 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 8,077 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 4 ราย ผู้ป่วยสะสม (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) 2,101,415 ราย หายป่วยกลับบ้าน 10,588 ราย หายป่วยสะสม (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) 2,035,989 ราย

 

15 พ.ค. 2565

วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ลดลงอยู่ที่ 6,094 ราย จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อในประเทศ 6,092 ราย และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 2 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,150,411 ราย สำหรับจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,304 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 17 ราย อัตราครองเตียง ร้อยละ 16.9

 

22 พ.ค. 2565

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ยอดผู้ติดเชื้อรวม 4,739 ราย หายป่วยกลับบ้าน 7,391 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 55,792 ราย เสียชีวิต 31 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,188,059 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,031 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 13 ราย อัตราครองเตียง ร้อยละ 14.1

 

29 พ.ค. 2565

วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 ยอดผู้ติดเชื้อ 3,649 ผู้ป่วยสะสม (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) 2,219,213 ราย หายป่วยกลับบ้าน 5,622 ราย หายป่วยสะสม (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) 2,199,445 ราย มีผู้ป่วยกำลังรักษา 44,737 ราย แบ่งเป็น รักษาอยู่ใน รพ. 17,849 ราย และ อยู่ใน รพ.สนาม 26,888 ราย

 

ปี 2566 ย้ำมาตรการป้องกันในโรงเรียน

 

ทั้งนี้ หากดูสถานการณ์ในปีนี้ เทียบกับ ปีที่ผ่านมา พบว่า ขณะนี้ มีจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลสะสม 2,527 ราย ส่วนในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยกำลังรักษา 44,737 ราย หากนับแค่การรักษาอยู่ใน รพ. จะอยู่ที่ 17,849 ราย

 

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขผู้ป่วยช่วงนี้จะน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทางรัฐบาลได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคในโรงเรียน ภายหลังการเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด–19 ในกลุ่มเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยขอความร่วมมือให้ครูประจำสถานศึกษาเข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังฯ ในโรงเรียนตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และหากพบเด็กนักเรียนป่วยจำนวนมาก อาจให้มีการหยุดเรียนเป็นรายห้องเรียน หรือชั้นเรียน โดยไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียน และแจ้งสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือศูนย์บริการสาธารณสุข ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคโดยเร่งด่วน

 

กรมควบคุมโรค แนะนำให้ฉีด วัคซีนโควิด–19 ในลักษณะเป็นเข็มกระตุ้นประจำปี ในทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้อ อย่างน้อย 3 เดือน โดยมีการจัดเตรียมวัคซีนโควิด-19 ให้กับทุกกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และได้มีการจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อายุ 12 ปีขึ้นไปด้วย โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ที่หน่วยบริการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 

ด้าน กรมการแพทย์ เน้นย้ำว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังคงมีเตียงรับผู้ป่วยโควิด 19 รวมทั้งยา และเวชภัณฑ์เพียงพอ อีกทั้งยังสามารถเปิดให้บริการผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ได้ตามปกติ โดยทุกหน่วยงานในสังกัดของกรมการแพทย์และเครือข่ายมีการบริหารเตียงรองรับผู้ป่วยหนักร่วมกันได้ถ้าจำเป็นต้องส่งรักษาต่อ

 

อนึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น ถ้าหากมีอาการแต่ตรวจ ATK ไม่พบ อาจสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ก็ได้ แม้ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็ทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้ามีอาการไม่มาก ก็สามารถใช้การรักษาตามอาการได้ ไม่ต้องไป รพ. แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น สูงอายุ มีโรคประจำตัว เป็นผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการวินิจฉัย