จับตา อีก 3 สัปดาห์ ยอด 'ป่วยโควิดในเด็ก'เพิ่ม

จับตา อีก 3 สัปดาห์ ยอด 'ป่วยโควิดในเด็ก'เพิ่ม

1 สัปดาห์หลังสงกรานต์ ป่วยโควิด-19เพิ่ม 2 เท่า ยังระดับสีเขียว เสียชีวิต 5 ราย  โดย 4 รายไม่เคยฉีดวัคซีน จับตาช่วงเปิดเทอมอีก 3 สัปดาห์ ยอดเด็กป่วยอาจเพิ่มขึ้น ห่วงผู้สูงอายุอีก 2 ล้านคนยังไม่รับวัคซีนเข็มแรก ยันผลการศึกษาฉีดวัคซีนคู่ไข้หวัดใหญ่ได้ไม่มีปัญหาภูมิต้านทาน

 เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2566 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19หลังสงกรานต์ 1 สัปดาห์ว่า  ระหว่างวันที่ 16-22 เม.ย.2566  มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับการรักษาในรพ. จำนวน  1,088 คน เฉลี่ยวันละ 155  คน สะสมตั้งแต่ต้นปี 6,571 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าราว  2  เท่ากว่า ผู้ป่วยปอดอักเสบ 73 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 35 คน  เสียชีวิต 5 คน เฉลี่ยวันละ 1 คน  โดย 4 ใน 5 คนเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว อีก 1 รายรับวัคซีน 2 เข็มและฉีดกระตุ้นทิ้งห่างนานแล้ว 
        “สถานการณ์เป็นไปตามคาดการณ์ว่าหลังเทศกาลสงกรานต์ จะมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19เข้ารักษาในรพ.เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเดินทางและทำกิจกรรมต่างๆ และติดตามอีก 1 สัปดาห์จะรู้ว่าหลังสงกรานต์ผู้ป่วยจะประมาณไหน แต่ปลัดสธ.ได้มีการประชุมEOC และสั่งการเตรียมยา ทรัพยากรและเตียงรองรับ แต่หากดูอัตราการป่วยขณะนี้อยู่ในระดับที่เป็นสีเขียว”นพ.ธเรศกล่าว   
 ห่วงสูงวัย 2 ล้านไม่รับวัคซีน

        นพ.ธเรศ กล่าวด้วยว่า  อยากจะเชิญชวนประชาชนให้เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งช่วงนี้มีการเตรียมวัคซีนทั้งแบบดั้งเดิมและ2สายพันธุ์ไว้ที่สถานพยาบาลทุกแห่ง และตั้งแต่พ.ค.นี้ ในกลุ่เสี่ยงก็จะมีการฉีดวัคซีนพร้อมกัน 2 ตัว ฟรี คือวัคซีนโควิดและวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีการทดลองสามารถฉีดวัคซีนทั้ง 2 ตัวคู่กันได้ ไม่เกิดปัญหาภูมิต้านทาน ขณะนี้มีผู้สูงอายุอีกราว 2 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว เพราะผู้เสียชีวิตที่พบตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง608 และไม่ได้รับวัคซีน หรือรับเข็มกระตุ้นนานแล้ว

      “กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยมีประมาณ 2 ล้านคน จึงขอเชิญชวนมาฉีด ขออย่ากังวลเรื่องอันตราย ซึ่งฉีดวัคซีนโควิดมา 2 ปี แล้ว จากข้อมูลเทียบกับการลดความรุนแรง ถือว่าคุ้มค่า และมีการทดลองว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด สามารถฉีดร่วมกันได้ ไม่เกิดปัญหาภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น และที่จริงกำลังมีการศึกษาว่าจะรวมวัคซีน 2 โรคนี้ไว้ในเข็มเดียวด้วย แต่ยังอยู่ระหว่างการศึกษา”นพ.ธเรศกล่าว
     ถามถึงความคืบหน้าการสอบสวนโรคกรณีการเสียชีวิตของแรงงานเมียนมาร์ที่มีการสงสัยว่าเสียชีวิตจากติดโควิด-19สายพันธุ์ XBB.1.16 เพราะมีตาแดง  นพ.ธเรศ กล่าวว่า  ข้อมูลเบื้องต้นจากรพ.จุฬาลงกรณ์ พบว่า มีอาการของปอดอักเสบและติดโควิด-19 โดยผู้เสียชีวิตไม่ได้รับการรักษาใดๆ รวมถึงไม่ได้ฉีดวัคซีน ขณะอยู่ระหว่างการสอบสวนในรายละเอียดเพิ่มเติม

จับตา อีก 3 สัปดาห์ ยอด \'ป่วยโควิดในเด็ก\'เพิ่ม
 จับตาอีก 3 สัปดาห์เด็กป่วยโควิดเพิ่ม
     ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  ข้อมูลปัจจุบันอาการของโควิด XBB.1.16 ไม่ได้แตกต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์อื่น เพียงแต่มีรายงานว่าบางคนอาจจะมีตาแดง มีขี้ตา แต่ผู้ป่วย 20 กว่ารายในประเทศไทย ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีอาการตาเด่น มีรายงานในอินเดียที่เป็นเด็กและมีผู้ใหญ่ 1-2 รายที่เป็นข่าวทางโซเชียลมีเดีย
       ส่วนคนทั่วไปที่ติดสายพันธุ์XBB.1.16 มีอาการเหมือนติดโอมิครอนตัวอื่นๆ คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว  อาจจะมีตาแดงในบางคน ซึ่งเป็นส่วนน้อย  ขณะที่ในประเทศอื่นที่มีรายงานการระบาดของโควิดXBB.1.16 ยังไม่ค่อยมีประเทศไหนพูดถึงอาการทางตาเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ในอดีตก็เคยเจอโควิด ที่มีอาการตาแดง ตาอักเสบได้แต่เป็นส่วนน้อยมากๆ

“อีกสักระยะน่าจะมีผู้ป่วยโควิดXBB.1.16 ในประเทศไทยที่ต้องติดตามดูอาการ ก็จะได้ข้อมูลในส่วนของประเทศไทย นอกจากนี้ ในอีก 2-3สัปดาห์ข้างหน้า ผู้ป่วยโควิดที่เป็นเด็กอาจจะเพิ่มขึ้น จากที่จะมีการเปิดเทอม”นพ.โสภณกล่าว

ปชช.ป่วยงดร่วมงานคนมาก

        นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ขอให้ผู้จัดงานจัดงานต่างๆ อาทิ การจัดคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานมหรสพรื่นเริง ยังคงปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเว้นระยะห่างและกำหนดจำนวนคนต่อพื้นที่ไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะในอาคารพื้นที่ปิดที่อาจมีการระบายอากาศไม่ดี ที่สำคัญ ต้องใส่ใจเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะจุดสัมผัสร่วม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ไมโครโฟน ราวบันได ที่จับประตู ปุ่มกดลิฟท์ และห้องน้ำห้องส้วม จัดให้มีจุดบริการล้างมือเพียงพอ และกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกสุขลักษณะทุกวัน เพื่อลดการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อ
ไปในวงกว้าง

ประชาชนหากมีอาการเสี่ยงหรืออาการทางระบบทางเดินหายใจให้เลี่ยงเข้าร่วมงาน ผู้ที่เข้าร่วมงาน สามารถป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮออล์บ่อยๆ หลังจากสัมผัสจุดสัมผัสร่วม และเมื่อกลับถึงบ้านควรเปลี่ยนเสื้อผ้าและอาบน้ำทันที ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการ ไอ เจ็บคอ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ หายใจลำบาก ให้ตรวจ ATK ถ้าผลเป็นบวก ให้สวมหน้ากากเมื่อใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 และสถานที่มีคนจำนวนมาก หากอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาในโรงพยาบาล สำหรับกลุ่ม 608 ให้รีบไปพบแพทย์และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด