ตัดเกรด “อนุทิน”-“สาธิต” 4 ปี ในสธ. ก่อนเลือกตั้ง 2566

ตัดเกรด “อนุทิน”-“สาธิต” 4 ปี ในสธ. ก่อนเลือกตั้ง 2566

ชวนส่องก่อน'เลือกตั้ง 2566' ในฐานะรัฐมนตรีรัฐบาลเก่า ช่วง 4 ปีที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล”หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) “สาธิต ปิตุเตชะ”รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นั่งในกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการขับเคลื่อนนโยบายที่เคยหาเสียงไว้?

Key Point : 

  •  ตรวจการบ้านนโยบายเก่าของผู้สมัครหน้าเดิมที่นั่งตำแหน่งรมว.สาธารณสุข และรมช.สาธารณสุข ก่อนถึงวันกาคะแนนเสียงครั้งใหม่  14 พ.ค. เลือกตั้ง 2566
  • ผลการขับเคลื่อนนโยบายของอนุทิน ชาญวีรกูล และสาธิต ปิตุเตชะ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการรับมือสถานการณ์การระบาดโควิด-19
  • นโยบายด้านสาธารณสุขที่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นของ 2 พรรคการเมือง ภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ ที่ในรัฐบาลเดิมมีหัวหน้าพรรคและรองหัวหน้าพรรค รั้งตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสาธารณสุข

นโยบายในวันแรกที่รับตำแหน่ง

        ย้อนไปวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง 18 ก.ค. 2562  "อนุทิน" กล่าวถึงทิศทางการทำงานว่า มีเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ 1. ภารกิจที่จะสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ 2.การให้บริการเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ 3.อัตรากำลังของบุคลากรสาธารณสุข จะต้องมีการดำเนินการเรื่องบรรจุแพทย์ให้เพียงพอ ให้ความเป็นธรรมอย่างครอบคลุม  4.นโยบายกัญชา อยู่ในวาระเร่งด่วนหน้าที่ 28 ของรัฐบาล ต้องดำเนินการเพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เร่งรัดให้มาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกัญชา ต้องมีการควบคุมการใช้

    ขณะที่ "สาธิต" กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการเห็นมี 3 ประเด็น คือ 1. รณรงค์ให้ประชาชนออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เน้นการดูแลสุขภาพของตนเอง ป้องกันการเจ็บป่วย ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค 2.พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ลดความแออัดในโรงพยาบาลทุกระดับ โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และ 3.ใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ประชาชนเป็นเจ้าของข้อมูลทางการแพทย์ของตนเอง มีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในทุกหน่วยบริการ

ตัดเกรด “อนุทิน”-“สาธิต” 4 ปี ในสธ. ก่อนเลือกตั้ง 2566 ฟุ้งผลงาน 6 ด้าน

       เมื่อ 1 มี.ค.2566 อนุทิน สรุปผลงานช่วง 4 ปี ภายใต้นโยบาย “Health for Wealth” ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง 6 ด้าน คือ

 1.การให้ความสำคัญสูงสุดต่อโครงการพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ ได้แก่ การจัดทำฟันเทียม/รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ 177,832 ราย, ราชทัณฑ์ปันสุขฯ ดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง 279,812 ราย, พัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง และควบคุมโรคหนอนพยาธิในพื้นที่ทุรกันดาร 800 โรงเรียน 

2.ยกระดับระบบสุขภาพพื้นฐาน โดยระบบ 3 หมอ ดูแลประชาชน 33,432,465 ราย, 30 บาทรักษาทุกที่ ให้บริการแล้วครอบคลุมทั้งประเทศ, มะเร็งรักษาทุกที่ให้บริการแล้ว 246,444 คน และฟอกไตฟรีให้บริการแล้ว 82,463 คน

3.ยกระดับสมุนไพรไทย กัญชา กัญชง เพื่อการแพทย์และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดและศึกษาวิจัยพัฒนายาจากกัญชา กัญชง, ให้บริการคลินิกกัญชา 1,005 แห่ง ดูแลผู้ป่วย 103,694 ราย, ออกใบรับจดแจ้งการปลูก 1,095,785 ใบ, สร้างเงิน สร้างงาน ให้ประชาชน มีเม็ดเงินสะพัดกว่า 3 หมื่นล้านบาท

 4.ควบคุมโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ด้านการฟื้นตัวจากโควิด 19, เป็นต้นแบบการควบคุมโควิด 19 อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเปิดประเทศได้เป็นชาติแรกๆ ในเอเชีย และช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

5.สร้างขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน โดยมีการบรรจุข้าราชการรุ่นโควิด 45,684 อัตรา เพิ่มค่าตอบแทนเสี่ยงภัยบุคลากร และเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษ อสม. 25 เดือน รวมถึงเพิ่มสวัสดิการ อสม. เช่น ฌาปนกิจสงเคราะห์ และห้องพิเศษ

และ6.สร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขในระดับนานาชาติ โดยไทยได้รับการคัดเลือกจากประเทศในอาเซียน ให้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่

ตัดเกรด “อนุทิน”-“สาธิต” 4 ปี ในสธ. ก่อนเลือกตั้ง 2566

 โควิด-19ถูกถล่ม

      ทว่า ในมุมของเสียงจากสังคมนั้น ช่วงของการรับมือการระบาดของโควิด-19 ช่วงต้นอาจไม่ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากนัก แต่เมื่อถึงช่วงของการฉีดวัคซีนโควิด-19 นับเป็นช่วงที่ถูกถล่มไม่น้อย เป็นผลกระแสชาวโซเชียล ที่ไม่พอใจกับวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนตัวแรกที่ไทยจัดหามาได้เร็วที่สุดเพื่อใช้รับมือกับโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟา ก่อนที่สายพันธุ์จะเปลี่ยนแปลงไปสู่เดลตา โอมิครอนตามลำดับ  จึงโดน ทั้งเรื่องการจัดหาวัคซีนที่ชาวโซเชียลไม่พอใจ การบริหารจัดการฉีด

      จนถึงช่วงพีคที่สุดของการระบาดในประเทศไทย มีผู้ป่วยจำนวนมาก เกิดกรณีผู้ป่วยล้นรพ.โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็เกิดการถูกถล่มอย่างหนักอีกระลอก
      แต่บ่อยครั้งที่ก็มีกล้าตัดสินใจ ช่วยคลี่คลายสถานการณ์และเป็นฝ่ายสนับสนุนฝ่ายการแพทย์ ตามข้อเสนอของทีมโควิด-19ของสธ.ได้อย่างดี เช่น  กรณีATK ที่ยืนยันให้องค์การเภสัชกรรม(อภ.)จัดหาในช่วงแรก มีผลให้กลไกการตลาดของ ATK ราคาไม่สูงจนเกินสมควร
      รวมถึง การยืนยันเปิดประเทศและไม่ออกมาตรการสกัดนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงที่จีนเปิดประเทศใหม่ๆเหมือนอีกหลายๆประเทศ ทั้งที่สถานการณ์โควิด-19ทั่วโลกไม่ได้มีความจำเป็นจะต้องออกมาตรการจำกัดเฉพาะจีน ทำให้เพิ่มความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีนมากขึ้น  เป็นต้น 
     อย่างไรก็ตาม หากจะให้มองนับว่าช่วงระบาดใหญ่ของโควิด-19นั้น 2 รัฐมนตรีในสธ. บริหารจัดการในลักษณะที่เป็นผู้สนับสนุนและตัดสินใจในมาตรการสำคัญเมื่อจำเป็นต้องใช้อำนาจของรัฐมนตรีในการประสานหรือพิจารณาได้เป็นอย่างดี ตามคอนเซ็ปต์ที่มีการกล่าวกันว่า “ยามเกิดโรคระบาดนั้น การแพทย์ต้องนำการเมือง เมื่อไหร่ การเมืองนำการแพทย์ หายนะ”

ตัดเกรด “อนุทิน”-“สาธิต” 4 ปี ในสธ. ก่อนเลือกตั้ง 2566

กัญชาติดหล่ม
       สำหรับนโยบายที่มีการหาเสียงและมอบนโยบายไว้  อาจไม่ได้มีการขับเคลื่อนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมนัก เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่กว่า 3 ปีเป็นกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19
     ส่วนของ “อนุทิน”สิ่งที่มีการมุ่งผลักดันอย่างเห็นได้ชัด คือ “กัญชาเสรี”ที่หาเสียงไว้ ก่อนมาเพิ่มคำว่า “กัญชาเสรีทางการแพทย์” มีการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 ได้สำเร็จ 

    ช่วงแรกดูเหมือนจะได้รับเสียงสนับสนุนจากสังคมอย่างมาก กระทั่ง สถานการณ์พลิก เมื่อมีฝ่ายนักวิชาการออกมาคัดค้านและสะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปลดล็อกกัญชา โดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน ภายใต้การโจมตีว่า “ไม่มีมาตรการรองรับในการควบคุมการใช้กัญชา”
    จนทำให้มีการยกร่าง “พรบ.กัญชากัญชง”ขึ้น เพื่อหวังใช้เป็นกฎหมายหลักในการควบคุมการใช้กัญชา แต่สิ่งที่พลิกล็อกหนัก ก็เกิดขึ้น เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเกิดขัดแย้งกันเองในประเด็นนี้ 

     จนแล้วจนรอดจนยุบสภา กฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่ออกมา “กัญชา”ยังติดหล่ม
ตัวแบบออกกำลังกาย
     ขณะที่ “สาธิต” ด้วยความเป็นเบอร์ 2 อาจจะผลักดันอะไรค่อนข้างยาก แต่สิ่งที่โดดเด่นที่ทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ได้อย่างดี ภายใต้การได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมอนามัย คือ รณรงค์ให้ประชาชนออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โดยที่ “สาธิต”เองเป็นต้นแบบและตัวอย่างการออกกำลังด้วยตัวเอง มีการดำเนิน “โครงการก้าวท้าใจ” และกิจกรรรมรณรงค์อื่นๆ ซึ่ง “สาธิต”เข้าร่วมกิจกรรมด้วยตนเองแทบทุกครั้ง

ตัดเกรด “อนุทิน”-“สาธิต” 4 ปี ในสธ. ก่อนเลือกตั้ง 2566
นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง 2566

      การเลือกตั้ง 2566 นโยบายสาธารณสุข ที่พรรคภูมิใจไทย ดีกรีมีหัวหน้าพรรค “อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นรมว.สธ. นโยบายที่ถูกกำหนดขึ้น ผลักดันศูนย์ฉายรังสีมะเร็งฟรี เป็นการจัดตั้งศูนย์ฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งฟรี 1 จังหวัด 1 ศูนย์ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้นและจัดตั้งศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ ภายใน 4ปีเพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตทุกคน เข้าถึงการรักษาได้เร็ว และทั่วถึงเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงอาการป่วย 16 โรครับยาฟรีที่ร้านยา การคัดกรองผู้สูงอายุเชิงรุกในชุมชนผ่านแอพลิเคชั่น Smart อสม. สิทธิประโยชน์ผู้สูงอายุ และเพิ่มค่าป่วยการอสม.เป็น 2,000 บาท

        และพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีรองหัวหน้าพรรค ชื่อ “สาธิต นโยบายที่เห็น คือ นมโรงเรียน 365 วัน  เป็นการพัฒนาเด็ก ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ตรวจสุขภาพฟรี รักษาฟรี ส่งเสริมการเป็น Medical Hubผ่านการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพและกฎหมายอากาศสะอาด กำหนดเขตปลอดมลพิษ 16เขตชั้นในกทม. ให้มีการกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างอาคาร การเก็บภาษีรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ปล่อยควันดำ เพื่อนำเงินภาษีมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และ ลดหย่อนภาษีให้ผู้รักษาพื้นที่สีเขียว