สาวไทย 37 % 'ภาวะซีด' เสี่ยงลูกพิการแต่กำเนิด

สาวไทย 37 % 'ภาวะซีด' เสี่ยงลูกพิการแต่กำเนิด

สาวไทยมีภาวะซีดถึง 37 % เสี่ยงมีลูกพิการแต่กำเนิด แจกฟรี!  ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก-กรดโฟลิก พร้อมเปิดตัว 77 สถานประกอบการ “สาวไทยแก้มแดง” ต้นแบบทั่วประเทศ  มุ่งสู่เป้าหญิงวัยเจริญพันธุ์มีภาวะโลหิตจางไม่เกิน 12.4 %

            เมื่อวันที่ 22 ก.พ.25666 ที่กรมอนามัย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการเป็นประธานงานรณรงค์สาวไทยแก้มแดงว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ให้ความสำคัญต่อการพัฒนางานทางด้านสาธารณสุข ตามแนวพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติ โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อควบคุมและป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และป้องกันทารกพิการแต่กำเนิดจากการขาดโฟเลตมาอย่างต่อเนื่องโดยมีนโยบายเสริมธาตุเหล็กให้กับประชาชนไทยในกลุ่มต่างๆ ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่

  • เด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี ให้ได้รับยาน้ำเสริมธาตุเหล็ก
  • เด็กวัยเรียน อายุ 6 ถึง 12 ปี ให้ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก หญิงวัยเจริญพันธุ์ ให้ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก
  • หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอดบุตร 6 เดือน ให้ได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีน ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิก  

            สำหรับการรณรงค์สาวไทยแก้มแดงครั้งนี้ แสดงถึงพลังการบูรณางานสาวไทยแก้มแดงตั้งแต่เริ่มต้น รวมทั้งสร้างแรงกระเพื่อมให้ประชาชนรู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะหญิงไทยซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสิทธิการรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จากระบบหลักประกันสุขภาพมากขึ้น ประชาสัมพันธ์และขับเคลื่อนผ่านสถานประกอบการที่เห็นความสำคัญและสมัครใจเข้าร่วมโครงการมากกว่า 120 แห่ง
      พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี ส่งเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม สร้างการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีเป้าหมาย คือ หญิงวัยเจริญพันธุ์มีภาวะโภชนาการที่ดี ไม่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและโฟเลต ร่างกายมีความพร้อมรองรับการตั้งครรภ์ในอนาคต

       ภาวะซีด 37%
      นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูล Health Data Center กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่า

  • หญิงตั้งครรภ์มีภาวะโลหิตจาง หรือภาวะซีด 31.2 %  
  • และหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15 ถึง 49 ปี ที่ได้รับการคัดกรองภาวะโลหิตจาง
  • ในขณะที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ พบภาวะโลหิตจาง 37%
  • สมัชชาอนามัยโลก Global Nutrition Targets ได้กำหนดเป้าหมาย ลดอัตราภาวะโลหิตจางของหญิงวัยเจริญพันธุ์ลง50%
  • ภายในปี 2573 ดังนั้น ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายลดหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีภาวะโลหิตจาง ให้ไม่เกิน 12.4 %
    จึงต้องเร่งหามาตรการเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสื่อสารและรณรงค์ “สาวไทยแก้มแดง” รวมทั้งเปิดตัว 77 สถานประกอบการทั่วไทย มุ่งสู่สถานประกอบการสาวไทยแก้มแดงต้นแบบ

       กรมอนามัยยังได้เร่งหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อปรับ
แนวทางการให้บริการและเพิ่มการเข้าถึงชุดสิทธิประโยชน์สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ ให้มีการจ่ายยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิกแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 13 ถึง 45 ปี ในรายการ Fee schedule เพื่อให้หญิงวัยเจริญพันธุ์มีสุขภาพดีมากขึ้น เพราะเป็นวัยที่มีประสิทธิภาพในการทำงานและมีโอกาสตั้งครรภ์คุณภาพสูง การมีสุขภาพร่างกายที่ดี ไม่ซีด ไม่ป่วยง่าย จึงเป็นสิ่งสำคัญ
      นอกจากยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก กรมอนามัยยังส่งเสริมให้หญิงไทยกินผัก ผลไม้ และเลือกแหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ ตับ เลือด จะช่วยลดปัญหาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และลดความเสี่ยงของทารกพิการแต่กำเนิด ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ เป็นสาวไทยแก้มแดงของไทยต่อไป

รับฟรียาเม็ดเสริม 52 เม็ด/ปี   
  ด้านนพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า จากเดิมที่สปสช.สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการให้บริการยาเม็ดเสริมธาตเหล็กและกรดโฟลิกไปยังหน่วยบริการแบบเหมาจ่ายแล้วให้หน่วยบริการพิจารณาว่าจะจ่ายให้ใครบ้าง ทำให้เข้าไม่ถึงบริการ แต่ในปี 2566  เป็นปีแรกที่ดึงงบประมาณในส่วนนี้ออกมาจ่ายเป็นการเฉพาะ โดยจัดสรรให้ 80 บาทต่อคนต่อปี  เนื่องจากใน 1 ปี 1 คนจะกิน 52 เม็ดและเป็นการจ่ายครั้งเดียว
        ในส่วนของผู้ประกันตนที่ต้องรับบริการรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม อาจจะมีความไม่สะดวก เนื่องจากยังไม่สามารถไปรับที่หน่วยบริการเอกชนตามสิทธิ์ได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายของปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มอบหมายให้หน่วยบริการสังกัดสธ.ต้องให้บริการประชาชนทุกคน ดังนั้น ผู้ประกันตนสามารถไปรับบริการได้ที่หน่วยบริการสธ.ทุกแห่ง

   “อนาคต สปสช.อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลางและสำนักงานประกันสังคม เพื่อยกร่างกฎหมายให้สามารถดำเนินการได้ในทุกกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ หากแล้วเสร็จจะทำให้บริการเชิงรุก การเข้าถึงบริการการส่งเสริมป้องกันโรคมากขึ้น”นพ.กฤชกล่าว 
    เกณฑ์สถานประกอบการแก้มแดง

   พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า  เกณฑ์การคัดเลือกสถานประกอบการสาวไทยแก้มแดงต้นแบบ ได้แก่ 1.มีนโยบายหรือมาตรการส่งเสริมและป้องกันภาวะโลหิคจางจากการขาดธาตุเหล็ก หรือมีนโยบายหรือมาตรการส่งเสริมสุขภาพ 2.มีกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีธาตุเหล็กและโฟเลตสูง 3.หญิงวัยเจริญพันธุ์ในสถานประกอบการได้รับยาเม็ดเสริมธาตเหล็กและกรดโฟลิก และ4.มีการเปรียบเทียบผลตรวจสุขภาพประจำปีของค่าฮีโมโกบิลหรือฮีมาโตคริตในภาพรวมดีขึ้น