วาเลนไทน์ เทคนิคคุยสุขภาพวัยรุ่นให้เข้าใจ

วาเลนไทน์ เทคนิคคุยสุขภาพวัยรุ่นให้เข้าใจ

วาเลนไทน์  ‘เลิฟแคร์’เผยวัยรุ่นให้เข้าใจ กว่า 70 % วัยรุ่นปรึกษาเรื่องกังวล-ท้องไม่พร้อม แนะเทคนิคคุยกับวัยรุ่นให้เข้าใจ ฟังอย่างตั้งใจใส่ใจ ไม่ตัดสิน


          เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2566 กรมอนามัยจัดเสวนาออนไลน์ เรื่อง “วัยรุ่น วัยใจ คุยยังไงให้เข้าใจกันดี”โดยพรพรรณ ทองทนงศักดิ์ หัวหน้าห้องแชทเลิฟแคร์ กล่าวว่า เว็บไซต์เลิฟแคร์ให้บริการปรึกษาออนไลน์ทั้ง 3 ช่องทาง คือแชท ไลน์ หรือข้อความในเฟซบุ๊ก บนเวบไซต์ก็จะมีเหมือนคลังข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพวัยรุ่นให้เด็กสามารถอ่านเองได้  หรือถ้าเป็นประเด็นสุขภาพจิตก็มีแบบประเมินภาวะซึมเศร้า ภาวะความเครียด ความเสี่ยงเอชไอวี เป็นต้น    

      “การให้คำปรึกษาวัยรุ่นปัจจุบันกับสมัยก่อน โดยหลักไม่ต่าง แต่เทรนด์ ธรรมชาติของเด็กปัจจุบันจะอยู่กับออนไลน์ อารมณ์ พฤติกรรมจะเปลี่ยนมากกว่าเมื่อก่อน  คิดเร็ว ทำเร็ว การควบคุมอารมณ์ยากกว่าเมื่อก่อน รู้สึกว่าทุกอย่างต้องรวดเร็ว”พรพรรณกล่าว

      พรนุช สถาผลสวัสดิ์  หัวหน้าโครงการเลิฟแคร์  กล่าวว่า  ในคลังข้อมูลเว็บไซต์เลิฟแคร์สเตชั่น มีคนเข้ามาสืบค้นข้อมูลเองจำนวนมากทั้งประเด็นท้องไม่พร้อม สุขภาพจิต ปีละ 1.2 ล้านคนเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ และเป็นผู้ใช้รายใหม่และอายุน้อยด้วย ทั้งนี้ ในส่วนที่เข้ามาปรึกษาผ่านห้องแชท โดยเฉลี่ยเดือนละราว 1,200 คน เพิ่มขึ้นทุกๆปี  และเป็นอายุน้อยลงเรื่อยๆ จากเดิมเมื่อ 10 ปีก่อนจะเป็นเด็กม.ปลายและมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก แต่ในปี 2565  จะมีเด็กม.ต้นมากขึ้น

ปรึกษาท้องไม่พร้อมมากสุด 

            พรนุช กล่าวว่า ในสถิติเว็บไซต์ของเลิฟแคร์ ปัจจุบันวัยรุ่นจะขอคำปรึกษา 54 % เป็นเรื่องความกังวลใจในการตั้งครรภ์ไม่พร้อม แปลว่ามีเพศสัมพันธ์ไปแล้วแบบไม่ได้ป้องกัน  ส่วนใหญ่อายุอยู่ช่วงม.ปลาย ถึงมหาวิทยาลัย อีก 20 %เป็นเรื่องท้องไม่พร้อม คือชัดเจนแล้วว่ามีการตั้งครรภ์ กำลังตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร ตามด้วยเรื่องการคุมกำเนิด สุขภาพจิต ราว 10 % และเอดส์ราว 3-4 %
       พรนุช กล่าวว่า  พื้นฐานของการให้คำปรึกษา เรื่องการให้เกียรติผู้รับคำปรึกษา ทักษะต่างๆ การฟังอย่างตั้งใจ หรือการตั้งคำถามเป็นหลักการของการให้คำปรึกษา แต่เมื่อเป็นพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดจะมีเรื่องความรู้สึกเข้าไปผูกโยง ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่าย  ทั้งนี้ พ่อแม่อาจจะไม่ต้องปรึกษาทุกเรื่อง แต่ให้รู้แหล่งที่จะขอความช่วยเหลือได้ และเป็นคนแนะนำให้ลูกได้ เพราะบางเรื่องพ่อแม่อาจจะไม่มีข้อมูล
        “เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนเด็กเรียนรู้เรื่องเพศเร็วขึ้น และเด็กหาข้อมูลเอง ในระยะหลังๆคำถามที่ถามจึงไม่ได้เป็นเรื่องพื้นฐานแบบง่ายๆเมื่อก่อน เช่น ช่วยตัวเองเป็นอย่างไร แต่จะมีความซับซ้อนของคำถามมากขึ้น เพราะเด็กมีข้อมูลเบื้องต้นมาแล้ว แต่เหมือนมารีเช็กว่าใช่หรือไม่ ก็เป็นเรื่องดีที่มีข้อมูลมาก่อน”พรนุชกล่าว

วาเลนไทน์ เทคนิคคุยสุขภาพวัยรุ่นให้เข้าใจ

           ส่วนคำถามที่เจอ พรพรรณ กล่าวว่า ถ้าเป็นเรื่องเพศ จะเป็นเรื่องกังวลเรื่องท้อง เพราะอาจจะไม่ได้เตรียมการก่อนว่าจะมีเพศสัมพันธ์ จึงไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน แต่ก็จะรู้แล้วว่าต้องกินยาคุมฉุกเฉิน ก็จะมาถามว่าโอเคหรือไม่ ปลอดภัยหรือไม่ เด็กบางคนใช้ถุงยางอนามัยแต่ก็ยังกลัว ยังกังวล เราก็ให้ข้อมูลเสริมว่าปลอดภัย 

     ปัจจุบันมีเพศทางเลือกมากขึ้น การให้คำปรึกษาแตกต่างกันหรือไม่ พรพรรณ กล่าวว่า โดยหลักไม่ได่ต่าง เพราะเป็นวัยรุ่นคนหนึ่ง ก็ใช้กระบวนการเข้าใจ รับฟัง เพียงแต่จะเข้าถึงมากขึ้น ควรจะรู้ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศว่าตอนนี้ มีไลฟ์สไตล์แบบไหน หรือมีหน่วยบริการที่ไหนที่เปิดเฉพาะกลุ่มหลากหลายทางเพศ ก็จะสามารถเข้าใจและช่วยเหลือได้มากขึ้น หรือมีศัพทืเฉพาะที่ไม่ได้รู้มาก่อน ก็ต้องไปหาความรู้ว่าแปลว่าอะไร
ขั้นตอนให้คำปรึกษา
      ขั้นตอนกระบวนการในการให้คำปรึกษา  พรพรรณ กล่าวว่า ถ้าเป็นการพูดคุยต่อหน้าอาจจะสังเกตสีหน้า ท่าทาง  สร้างสัมพันธ์เล็กๆน้อยว่าเรื่องที่คุยเป็นความลับ เพื่อให้รู้สึกไว้วางใจ ถามให้เขาเล่ามาก่อน  ก็ค่อยคุย ถามโดยใช้คำถามปลายเปิด เพื่อให้ได้เล่า สะท้อนเรื่องราว ความรู้สึก เมื่อรู้ปัญหา สาเหตุแล้ว เขาอยากจะแก้ปัญหาอย่างไร ก็ให้เริ่มคุยวางแผนร่วมกัน

     “ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าปัญหาเป็นของเขา เพราะฉะนั้น ต้องให้เขามีส่วนร่วมในการคิดและตัดสินใจ และต้องเริ่มจากการฟังอย่างตั้งใจและใส่ใจ ไม่ใช่ฟังไปเล่นมือถือไปหรือทำกับข้าวไป โดยฟังต้องให้ได้ทั้งความคิดและความรู้สึกของเขา จากทั้งภาษาพูดและภาษากายที่แสดงออกมา ทำให้เขารู้สึกว่าเราเข้าใจเขาจริงๆ และต้องฟังแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร ทำอะไรต่างจากสิ่งที่เราคาดหวัง ต้องยอมรับ เพราะเขาต้องการที่ที่ปลอดภัยพอ”พรพรรณกล่าว 
ฟังอย่างตั้งใจ ใส่ใจ 
    พรนุช เสริมว่า สิ่งสำคัญในการให้คำปรึกษา หากพ่อแม่จะเป็นที่ปรึกษา การฟังเป็นสิ่งสำคัญ คือ การฟังอย่างตั้งใจ เปิดใจ ไม่ไปตัดสิน เพราะหลายครั้งเด็กอยากจะคุยกับพ่อแม่ แต่บางครั้งพูดหรือถามไปแล้ว กลายเป็นถูกเรื่องอื่นเข้ามาแทน จึงเป็นเหมือนกำแพงระหว่างพ่อแม่กับลูก แต่ถ้าเปิดกำแพงก่อนแล้วฟังเขา ก็จะช่วยได้  โดยฟังอย่างเดียวก่อนอย่าเพิ่งถามอะไร
      เทคนิคเข้าใจวัยรุ่น  พรนุช กล่าวว่า  หัวใจสำคัญคือการให้เกียรติเขา ไม่ตัดสินเขา และไม่ทำให้รู้สึกว่าเราเหนือกว่า แต่เราแค่อายุมากกว่า แต่อย่างอื่นเท่ากัน  ต่างฝ่ายต่างมีความรู้แล้วนำความรู้มาแชร์กัน แลกเปลี่ยนระหว่างวัย และทำให้เขารู้สึกว่าพลาดได้ แต่เมื่อพลาดแล้วไม่เป็นไร ก็ลุกขึ้นมาและให้อภัยกัน 
ทำให้เขาไว้วางใจ

        พรพรรณ กล่าวว่า สัมพันธภาพระหว่างกันต้องดีต่อกัน ทำให้เขาไว้วางใจ ให้รู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เรื่องที่คุยจะเป็นความลับ ทำให้เขายอมเปิดใจและเล่าเรื่องออกมา ใช้ภาษาเป็นกันเอง เรียนรู้บุคลิกของแต่ละคนด้วยว่าเป็นอย่างไร อยู่ในอารมณ์แบบไหน เพื่อปรับการสื่อสารให้เหมาะและเข้าถึงมากขึ้น
     สิ่งที่ควรระวังในการให้คำปรึกษาวัยรุ่น พรพรรณ กล่าวว่า เป็นเรื่องของการใช้ความคิดหรือความรู้สึกส่วนตัวของเราหลุดออกไป อันตรายมาก เช่น การระบุว่า ดี ไม่ดี ถูก หรือผิด ต้องระวังเรื่องความคิดเห็นและความรู้สึกของเราเอง เพราะเป็นการตัดสิน เขาจะปิดประตูใส่เราทันที

      พรนุช กล่าวว่า ผู้ใหญ่หรือผู้ให้คำปรึกษา ต้องไม่เอาความคิดเราไปตัดสิน เช่น บอกว่าถ้าเป็นเราจะทำแบบนี้ เพราะในการให้คำปรึกษา คือการชวนให้คนที่กำลังมีปัญหาใช้ศักยภาพเขาเองในการแก้ปัญหา สิ่งสำคัญเราก็เติมช่วยเสนอแนะบางอย่างได้ แต่ไม่ใช่บอกว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ให้เขาเลือกทางเลือกแก้ปัญหาเอง เพราะสุดท้ายเขาต้องรับผิดชอบกับทางเลือกนั้น