'LAAB-วัคซีนโควิด-19' ในไทยประสิทธิภาพยังได้ผล

'LAAB-วัคซีนโควิด-19' ในไทยประสิทธิภาพยังได้ผล

แม้มีการกล่าวว่าทั่วโลกผ่านพ้นการระบาดใหญ่แล้ว แต่ “โควิด-19”ยังคงกลายพันธุ์ตลอดเวลา บางตัวอาจหลบภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น ทว่า ยังไม่มีรายงานว่าจะมีการก่อให้โรคอาการรุนแรงขึ้น และสายพันธุ์ที่ระบาดมากในไทย วัคซีนและLAAB ยังใช้ได้ผล

   เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2566 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดเสวนาวิชาการออนไลน์ " ย้อนรอยโอมิครอนกับการใช้วัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นของประเทศไทย " โดยนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทั่วโลกผ่านพ้นการระบาดใหญ่ของโควิด-19แล้ว โดยในประเทศไทย ช่วงปี 2563-2564 ป่วย 2,223,435 ราย  เสียชีวิต 21,698 คน  
      ปี 2565 ที่เป็นช่วงของสายพันธุ์โอมิครอน  ป่วย 2,498,373 ราย เสียชีวิต  11,896 คน อัตราเสียชีวิตค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนหนึ่งมาจากวัคซีนและมาตรการอื่นๆและช่วงนี้อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตต่ำสุดตั้งแต่มีการระบาดของโอมิครอน  โดยอัตราป่วยสูงอยู่ในกลุ่มวัยทำงาน  แต่อัตราป่วยตายสูงสุด คือกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป อยู่ที่  4  %

         สถานการณ์การระบาดในปี 2566 สัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราลดลงทุกกลุ่มทั้งผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล 252 คน  ผู้ป่วยปอดอักเสบ 122 คน  ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 78 คน  และผู้เสียชีวิต 17 คน  โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีนเลย 8 คน ได้รับเข็มหนึ่ง 1 คน เข็มสอง  3 คน และเข็มกระตุ้นเกิน 3 เดือน 5 คน

 วัคซีนรักษาชีวิตคนไทยเกือบ 5 แสนคน
      ความครอบคลุมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ วันที่ 6 ก.พ.2566  มีการฉีดสะสมกว่า 146 ล้านโดส เป็นเข็มที่ 1  ครอบคลุม 82.81  %  เข็มที่ 2  ครอบคลมุ 77.79 % เข็มที่ 3 ครอบคลุม 39.23 % เข็มที่ 4 ครอบคลมุ 9.44 % เข็มที่ 5  ครอบคลุม 1.48 % และเข็มที่ 6 ครอบคลุม 0.09 %  ทั้งนี้ มีข้อมูลวิจัยยืนยันว่า การฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสในประเทศไทย สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 490,000 คน  

    “ยังมีผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนเลยราว 2 ล้านคน  ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อแล้วอาการจะรุนแรงและเป็นกลุ่มอายุที่เสี่ยงมากขึ้นในตอนนี้ เพราะกลุ่มอายุอื่นเริ่มเลิกป้องกันตนเองแล้ว ยิ่งใกล้เทศกาลสงกรานต์ที่จะมีการไปหาผู้สูงอายุ จึงขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ”นพ.โสภณกล่าว 

     และในปี 2566 ยังเป็นการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตในประชากรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และอยู่ระหว่างกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางการให้เป็นวัคซีนประจำปี เช่นเดียวกับ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เน้นกลุ่มเสี่ยง

\'LAAB-วัคซีนโควิด-19\' ในไทยประสิทธิภาพยังได้ผล

วัคซีน 4 เข็มป้องกันตาย 100 %   

     ขณะที่ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในการฉีดวัคซีนทางการแพทย์หวังผล 4 เรื่อง คือ ป้องกันการติดเชื้อ ลดการนอนรพ. ลดอาการป่วยรุนแรง และลดการตาย  โดย 2 ข้อหลังสำคัญที่สุด ในช่วงโอมิครอนระบาด ทั้งนี้ จากการศึกษา เรื่อง ประสิทธิผลและการลดลงของภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด-19 สูตรผสม เข็มกระตุ้น 3 และ 4 ในช่วงการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน โดยใช้ฐานข้อมูลระดีบพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งมีงานวิจัย  2 ชิ้น

      ชิ้นแรก วัคซีนสูตรผสม ช่วยลดโอกาสติดเชื้อโรคโควิด-19  โดยช่วงต.ค.-ธ.ค.2564 (ช่วงเดลตา) พบว่า

  • วัคซีน  2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 63 %
  •  3 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ มากกว่า 95 %
    ส่วนช่วง ก.พ.-เม.ย.2565 (ช่วงโอมิครอน)
  • วัคซีน 2 เข็ม ไม่ป้องกันการติดเชื้อ
  •  วัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ  31 %
  •  และวัคซีน 4 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ  75%  

       “ พื้นที่จ.เชียงใหม่ ช่วงที่เดลตารระบาดมีผู้ป่วยราว 20,000 ราย เสียชีวิต 156 คน คิดเป็น 0.78 % ขณะที่ช่วงโอมิครอนระบาดมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 3 แสนราย เสียชีวิต 175 คน คิดเป็น 0.06 % หรือการเสียชีวิตลดลง 13 เท่า”ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์กล่าว

 
       อาจเนื่องจาก 2 เหตุผลสำคัญ  คือ 1.เชื้อโอมิครอนความรุนแรงลดลง และ2.ประชากรในจ.เชียงใหม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 3 และ 4 มากขึ้น ดังนั้น วัคซีนเข็มกระตุ้นในช่วงต้นปี 2565 จึงสำคัญมากในการลดเสียชีวิตและความรุนแรงในจ.เขียงใหม่

ประสิทธิผลวัคซีนอยู่ได้ 4 เดือน 

       และชิ้นที่ 2 วัคซีนช่วยลดความรุนแรงaและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยช่วงต.ค.-ธ.ค.2564 (ช่วงเดลตา)

  • วัคซีน 2 เข็ม ลดรุนแรง/ตาย 89 %  
  • 3 เข็ม ลดรุนแรง/ตาย 100 %   
    ส่วนช่วง ก.พ.-เม.ย.2565 (ช่วงโอมิครอน)
  • วัคซีน 2 เข็ม ลดรุนแรง/ตาย 80 %
  •  3 เข็ม ลดรุนแรง/ตาย 89 %  
  •  และ 4เข็ม ลดรุนแรง/ตาย 100 %   

     สำหรับประสิทธิผลการลดอาการรุนแรงและการตายจะอยู่ได้นานกี่เดือน หลังรับเข็มกระตุ้น 3 หรือ 4 พบว่า

  • ผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 สูตรผสม ช่วงที่วัคซีนมีประสิทธิผลลดรุนแรง/ตายได้ดีที่สุด คือ 14-120 วันหลังเข็มสุดท้ายหรือ 4 เดือน อยู่ที่ 91-93 %
  •  หากเวลานานกว่า  120 วันขึ้นไป ประสิทธิผลเริ่มลดลง อยู่ที่ 77 %
  • และถ้านานกว่า 180 วันหรือ 6เดือน จะลดลงเหลือ 68 %

      “ประชากรในกลุ่มเสี่ยง 608 แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 หรือเข็ม 4 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปหลังวันที่ฉีดเข็มสุดท้าย  และจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนโควิดสูตรผสม เข็ม 3 หรือเข็ม 4 ไม่ว่าจะเป็นแอสตร้าเซนเนก้าหรือ mRNA พบว่า ประสิทธิผลในการลดอาการรุนแรงหรือตายได้ไม่แตกต่างกัน จึงสามารถเลือกฉีดชนิดใดได้ตามสมัครใจ”ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ กล่าว 

\'LAAB-วัคซีนโควิด-19\' ในไทยประสิทธิภาพยังได้ผล

LAAB ยังใช้ได้ผลในไทย 

    ด้านนพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการให้แอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว หรือ Long-acting Antibodies : LAAB ซึ่งเป็นแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่ออกฤทธิ์ยาว  ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนในประเทศไทย สำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อก่อโรคโควิด-19 และการรักษาโควิด-19 โดยประสิทธิภาพในการป้องกัน
     จากผลการศกึษาพบว่าสามารถป้องกันแบบมีอาการได้ 82.8 % เมื่อติดตามไป  6 เดือน และประสิทธิภาพในการรักษา 
      จากผลการศึกษาพบว่า สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรครุนแรง หรือเสียชีวิตได้ 88 % ในกลุ่มที่ได้รับภายใน 3 วันหลังแสดงอาการ และลดความเสี่ยง 50 % ในกลุ่มที่ได้รับภายใน 7 วันหลังแสดงอาการ

          “LAABสามารถตอบสนองต่อโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2.75 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักในประเทศไทย  ยังคงความสามารถในการยับยั้งเชื้อโอมิครอน BA2.75 ได้เป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่สายพันธุ์ตัวอื่นๆที่พบมากในต่างประเทศอาจจะลดประสิทธิภาพยับยั้งลง จึงยังเป็นประโยชน์ของการใช้โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง” นพ.วีรวัฒน์กล่าว 

      ทั้งนี้ ประเทศไทยมีLAAB ให้บริการประมาณ 2 แสนโดส  ใช้ไปแล้วราว 52,669 คน และคงคลัง 137,572 โดส   โดยกลุ่มเป้าหมายในการเข้ารับ ได้แก่ 1.กลุ่มเสี่ยง 607 ได้แก่ ผู้สูงอายุ และกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

2.กลุ่มเสี่ยงสูงที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำหรือได้รับวัคซีนแต่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอ เช่น  ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ  ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต เป็นต้น 

และ3.กรณีอื่นๆตามดุลยพินิจของแพทย์ที่ให้การรักษา