มุมมอง "วงการแพทย์" เป็นอย่างไร เมื่อ AI ถูกมองว่าจะมาแย่งงานมนุษย์

มุมมอง "วงการแพทย์" เป็นอย่างไร เมื่อ AI ถูกมองว่าจะมาแย่งงานมนุษย์

หลายครั้งที่ AI ถูกมองว่าจะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ แต่ในอีกมุมหนึ่ง AI กลับเป็นตัวช่วยที่เข้ามาเสริมศักยภาพใน "อุตสาหกรรมสุขภาพ" โดยเฉพาะในหลายโรงพยาบาล พบว่า นำ AI มาเป็นตัวช่วยแพทย์ เพิ่มศักยภาพการวินิจฉัย รักษา

“เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI (Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจ วงการแพทย์ และการใช้ชีวิตประจำวัน หลายครั้งที่ AI ถูกมองว่าจะมาแย่งงานมนุษย์ แต่ในอีกมุมหนึ่ง พบว่าเมื่อมีการนำ AI มาใช้กลับเป็นตัวช่วยที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะในวงการแพทย์ซึ่งไทยถือว่าโดดเด่นอันดับต้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

รายงานการคาดการณ์อนาคตเทคโนโลยีดิจิทัลประเทศไทย 2035 ของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีการคาดการณ์ตลาด AI ทั่วโลก ปี 2568 ว่า รายได้ของตลาดของ AI จะสูงถึง 6.02 ล้านล้านบาท จาก 4.35 หมื่นล้านบาท ในปี 2559 และ “อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ” ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ

 

ปี 2562 ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน องค์กรที่ปรึกษาทางธุรกิจและวิจัยระดับโลก มองว่าตลาด AI ด้านดูแลสุขภาพจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 40% ในปี 2564 เนื่องจาก AI มีศักยภาพในการเพิ่มผลลัพธ์ในการดูแลสุขภาพถึง 40% ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ Plearn เพลิน By Krungsri Guru ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ยกตัวอย่างประเทศที่โดดเด่นในเรื่อง Health Tech และถือเป็นผู้นำด้าน AI ของฝั่งยุโรปอย่างประเทศอังกฤษ ระหว่างปี 2554-2558 พบว่า มีการจดสิทธิบัตรด้าน AI รวมแล้วถึง 10,100 ฉบับ

 

มุมมอง \"วงการแพทย์\" เป็นอย่างไร เมื่อ AI ถูกมองว่าจะมาแย่งงานมนุษย์

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ในด้าน Deep Learning ซึ่งเป็นระบบการทำงานของ AI อังกฤษ ยังเป็นอันดับ 3 ของโลก และคาดว่าในปี 2573 ตัวเลข GDP ของ AI นั้นจะสูงขึ้นถึง 10% ซึ่งอังกฤษประสบความสำเร็จกับการพัฒนา AI ในวงการแพทย์ อย่างในกรณีที่นักวิจัยจากโรงพยาบาล Oxford ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบ AI เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจและมะเร็งปอด ซึ่งได้เริ่มนำเทคโนโลยีนี้ไปทดลองใช้งานตามโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบดูแลสุขภาพแห่งชาติประเทศอังกฤษ เป็นต้น 

 

AI -การแพทย์ โตได้อีก

 

บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และบิ๊กดาต้า (Big Data) ซึ่งที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกับ รพ.ศิริราช พัฒนาโซลูชันปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ ช่วยวินิจฉัยภาพเอกซเรย์ทรวงอก ตรวจพบความผิดปกติของปอดในระยะเริ่มต้น ความแม่นยำกว่า 95-97 % โดยโซลูชั่นดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ในช่วงโควิด-19 ตัวช่วยแพทย์ในการอ่านฟิล์มเอกซเรย์ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีผล RT-PCR เป็นบวกทั่วประเทศ กว่า 4 แสนราย

 

“ชัยวัฒน์ พู่พิสุทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมา AI ทางการแพทย์เรียกว่าเติบโตมาก จากช่วงแรกในการก่อตั้งบริษัทราวปี 2561 การใช้ AI ทางการแพทย์ยังเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่ม แต่ ณ วันนี้ ปี 2566 เป็นจุดที่แพทย์ถามหา AI และมองว่าจะต้องมี AI เข้ามาใช้ เป็นหนึ่งปัจจัยที่ช่วยทำให้แพทย์วินิจฉัยได้มากขึ้น เรียกได้ว่าเติบโตปีละ 100-200%

 

มุมมอง \"วงการแพทย์\" เป็นอย่างไร เมื่อ AI ถูกมองว่าจะมาแย่งงานมนุษย์

 

“การเติบโตดังกล่าว Base on จากช่วงแรกซึ่งจะมีเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่เข้าใจและมองถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่มาใช้ใน รพ. หรือสถานบริการ ระยะถัดมา เป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น และปัจจุบันยังไม่ถึงจุดพีค หมายความว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ยังมีโอกาสเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกมหาศาล ขณะเดียวกัน มองว่าอีก 3 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2569 ในมุมของผู้ป่วยจะเริ่มถามหา AI และมองหารพ.ที่นำ AI มาใช้”

 

ผู้ช่วยรังสีแพทย์

 

หากย้อนกลับไปในปลายปี 2561 เป็นช่วงที่วงการแพทย์ยอมรับ AI มาขึ้น ส่งผลให้ “เพอเซ็ปทรา” เริ่มพัฒนาโปรดักส์เกี่ยวกับวงการแพทย์และเลือกโจทย์ใหญ่ คือ วินิจฉัยภาพเอกซเรย์เนื่องจากข้อมูล พบว่า จำนวนภาพเอกซเรย์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมากกว่า 200 ล้านฟิล์มต่อปี ขณะที่ ประเทศไทยมีรังสีแพทย์ อยู่ราว 1,500 คน เทียบกับจำนวนคนไทยราว 70 ล้านคน โซลูชั่นดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มให้เพอร์เซ็ปทรานำ AI มาใช้ในวงการแพทย์ 

 

โดยร่วมกับ “รพ.ศิริราช” เมื่อปี 2562 ในการพัฒนา Inspectra CXR : ปัญญาประดิษฐ์เพื่อรังสีวินิจฉัย ปัจจุบัน มีการใช้งานทั่วประเทศใน รพ.จังหวัด รพ.เอกชน รพ.มหาวิทยาลัย เช่น รพ.ศิริราช , รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ , รพ.สมุทรปราการ , โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา , รพ.กรุงเทพฯ , รพ.พญาไท และ รพ.ชุมชน ในภาคใต้ เป็นต้น 

 

อีกทั้ง ต่อยอดสู่การตรวจวิเคราะห์แมมโมแกรม มะเร็งเต้านม อยู่ระหว่างทดสอบการใช้งานจริง เพื่อเป็นตัวช่วยแพทย์ในการทำงานได้มากขึ้น ขณะนี้มีใช้ใน รพ.ศิริราช , ศูนย์ถันยรักษ์ ศูนย์เชี่ยวชาญด้านการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมครบวงจร , รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น , รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.ชลบุรี และ อยู่ระหว่างการติดตั้งที่ รพ.รามาธิบดี

 

เสริมแกร่งประเทศ

 

“ชัยวัฒน์” มองว่า จุดที่สำคัญ คือ ต้องการเสริมความแข็งแกร่งของประเทศ ไทยมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวกับการแพทย์ จึงอยากดึงจุดนี้มาเป็นจุดสำคัญในการสร้างเทคโนโลยีให้กับประเทศ เป้าหมาย คือ เปลี่ยนจากการที่ไทยนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์เป็นหลัก สู่การส่งออกโดยใช้ความแข็งแกร่งด้านการแพทย์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยถือเป็นอันดับ 1 ในการนำ AI มาใช้ทางการแพทย์ และการแพทย์ไทยก็เป็นอันดับต้นๆ อีกทั้ง การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นอีกจุดสำคัญในการพัฒนาโซลูชั่นตอบโจทย์วงการแพทย์ 

 

“เทรนด์ในอนาคต อยากให้มอง AI เป็นเหมือนเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง ทิศทางจะเหมือนสมาร์ทโฟน ซึ่งในช่วงปี 2555 อาจจะยังใช้ไม่แพร่หลาย แต่ปัจจุบัน คำถามคือมีใครไม่ใช่สมาร์ทโฟน ผมว่าน้อย ดังนั้น AI กับวงการแพทย์ก็เช่นกัน ยกตัวอย่าง ฟิล์มเอกซเรย์ เมื่อถูกเปลี่ยนเป็นดิจิทัล สิ่งที่ตามมา คือ AI รวมถึงภาพการวินิจฉัยอื่นๆ เช่น การตรวจชิ้นเนื้อ เมื่อเปลี่ยนจากฟิล์มเป็นดิจิทัล AI ก็จะตามมาเช่นกัน” 

 

“AI จะเป็นเพื่อนคู่คิดแพทย์ และแพทย์ คือ คนที่เปิดใจ ปรับใช้ ก็จะได้ประโยชน์ และการพัฒนาบริการในอนาคตมองว่า นอกจาก AI จะเข้ามาเป็นเพื่อนคู่คิดแพทย์ ยังสามารถเป็นเพื่อนคู่คิดของผู้ป่วย ในการให้ความรู้ด้านข้อมูลสุขภาพที่ครบถ้วน ทำให้การดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเข้าใจเรื่องของเนื้อหาสุขภาพตัวเองได้มากขึ้น” ชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

“เมดพาร์ค” เสริมความแม่นยำด้วย AI 

 

รพ.เมดพาร์ค เปิดให้บริการมาแล้ว 2 ปีเศษ ที่ผ่านมา มีการใช้ระบบ AI มาช่วยในการตรวจวินิจฉัยและการรักษา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์รังสีวินิจฉัย การใช้ AI เข้ามาช่วยในด้านการรักษาคนไข้มะเร็ง รวมถึงช่วยในการผ่าตัดหัวใจ เพิ่มประสิทธิภาพ รักษาผู้มีบุตรยาก ในศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก (MedPark IVF)

 

“นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค มองว่า เทคโนโลยี AI ในวงการแพทย์ เป็นตัวช่วยเสริมให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยจัดท่าและรักษาผู้ป่วยได้แม่นยำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงต่างๆของคนไข้ได้ อย่างไรก็ตาม AI ไม่สามารถทดแทนแพทย์ได้ เพราะยังมีอีกหลายองค์ประกอบในการ รักษาคนไข้คนหนึ่งๆ แต่ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญในวงการ Healthcare อยู่ที่ว่าจะใช้ AI เข้ามาช่วยทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร 

 

“AI สามารถช่วยเราสรุปข้อมูลประเมินคนไข้ได้รวดเร็วขึ้น ลดภาระของแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ได้มากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์เหนื่อยน้อยลงสามารถดูแลคนไข้ได้มากขึ้นในระยะเวลาที่เท่าเดิม ถ้าองค์กรสามารถเอา AI เข้ามาช่วยและปรับปรุงระบบหรือขั้นการการรักษาคนไข้ได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะเป็นผลดีต่อองค์กรนั้นๆ” 

 

มุมมอง \"วงการแพทย์\" เป็นอย่างไร เมื่อ AI ถูกมองว่าจะมาแย่งงานมนุษย์

 

สำหรับ “ศูนย์รังสีวินิจฉัย” มีการนำ AI มาใช้ในขั้นตอนการตรวจต่างๆ ไปจนถึงการขั้นตอนการวินิจฉัย โดยในขั้นตอนการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ปรับลดสัญญาณที่มีผลกระทบต่อภาพถ่ายทางรังสี เพื่อให้ได้ภาพถ่ายทางรังสีที่มีคุณภาพดีและเหมาะสม ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยให้แม่นยำรวดเร็วยิ่งขึ้น ปรับปริมาณรังสีให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีเท่าที่จำเป็นต่อการวินิจฉัย

 

การตรวจด้วย Ultrasound AIช่วยในการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจ Elastography ซึ่งใช้ในการตรวจภาวะโรคตับแข็ง หรือการตรวจก้อนในอวัยวะต่างๆ ว่ามี Stiffness มากน้อยเพียงใด จะช่วยคำนวณว่าคลื่นสัญญาณที่ส่งมาในบริเวณที่ต้องการตรวจมีคุณภาพเพียงพอต่อการวินิจฉัยหรือไม่ เรียกว่า Quality map ก่อนที่รังสีแพทย์จะทำการวัด ซึ่งจะทำให้การวัดมีความรวดเร็วแม่นยำมากยิ่งขึ้น

 

มุมมอง \"วงการแพทย์\" เป็นอย่างไร เมื่อ AI ถูกมองว่าจะมาแย่งงานมนุษย์

 

วินิจฉัยมะเร็ง ด้วยเอไอ

 

การใช้ AI เข้ามาช่วยในด้านการรักษาคนไข้ เช่น การจัดท่าในการฉายรังสีรังษา LINAC ในการรักษามะเร็งที่มีก้อนขนาดเล็ก เมื่อผู้ป่วยมีการขยับตัวตำแหน่งก้อนเนื้อจะเปลี่ยนที่ การฉายรังสีก็จะหยุดหรือปรับตามไปด้วย เพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา

 

โดยอายุรแพทย์หรือศัลยแพทย์ผู้ใช้กล้อง Colonoscope ส่องตรวจผิวผนังด้านในลำไส้ใหญ่เพื่อการตรวจหาแผลหรือติ่งเนื้อบนผิวลำไส้ใหญ่ จะมีเทคโนโลยีเอไอ ทำงานร่วมกับกล้องส่องตรวจระบบทางเดินอาหาร เพื่อช่วยในการตรวจหา และวิเคราะห์รอยโรคที่ เกิดขึ้นได้เช่น ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ รวมถึง วิเคราะห์ว่าชิ้นเนื้อนั้นเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ โดยการแสดงผลจะรายงานแบบ Real time 

 

มุมมอง \"วงการแพทย์\" เป็นอย่างไร เมื่อ AI ถูกมองว่าจะมาแย่งงานมนุษย์

 

ขณะที่กล้องเคลื่อนที่ภายในลำไส้ เมื่อพบความผิดปกติของเนื้อเยื่อ จะมีสัญลักษณ์เตือน แสดงขึ้นที่หน้าจอแสดงภาพ พร้อมมีเสียงเตือน และกรอบสี่เหลี่ยมบ่งชี้บริเวณที่พบความผิดปกติดังกล่าวให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งแพทย์สามารถทำการวินิจฉัยเนื้อเยื่อที่ผิดปกติได้ทันทีว่าใช่เซลล์มะเร็งหรือไม่

 

นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวต่อไปว่า มีการใช้ AI ในห้องผ่าตัด โดยเครื่อง Biplane Angiography มีฟังก์ชันการทำงานด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ ในการช่วยแพทย์ให้สามารถทำการวินิจฉัยรอยโรคและให้การรักษาได้ดีและแม่นยำมากขึ้น รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนไข้ เพราะสามารถลดการสัมผัสรังสี อีกด้วย

 

Embolization guidance: ซึ่งเป็นตัวที่ช่วยนำทาง (navigate) สายสวนหลอดเลือดเพื่อ ไปทำการอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเนื้องอก หรือก้อนมะเร็ง เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการรักษา , EVAR guidance: ใช้ในการจำลองการวางหลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวด Aortic stent graft เพื่อความแม่นยำในการวางตรงตำแหน่ง และ Aneurysm analysis: ใช้ในการจำลองการรักษาภาวะหลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm) เพื่อความแม่นยำในการรักษา และยังมีโปรแกรม auto labelling หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ และโปรแกรม การวัดปริมาตรของอวัยวะต่างๆ

 

รักษาผู้มีบุตรยาก

 

นอกจากนี้ ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก (MedPark IVF) ใช้ AIเข้ามาช่วยในการทำงานของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ในการประเมินปริมาณและประสิทธิภาพของสเปิร์ม Semen analysis ช่วยนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์อสุจิเบื้องต้น ว่า เหมาะสมกับการรักษา และ การปฏิสนธิวิธีใดที่จะส่งผลต่อความสำเร็จในการมีบุตรมากที่สุดในขั้นตอนการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนใช้เทคโนโลยี Time Lapse ร่วมกับ AI ในการวิเคราะห์หาตัวอ่อนที่มีความเหมาะสมมากที่สุดในการย้ายกลับเข้าโพรงมดลูก เพื่อนำไปฝังในมดลูกต่อไป ซึ่งจะส่งเพิ่มอัตราความประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ 

 

มุมมอง \"วงการแพทย์\" เป็นอย่างไร เมื่อ AI ถูกมองว่าจะมาแย่งงานมนุษย์

 

ที่ MedPark IVF ใช้เครื่อง Embryoscope plusที่ทำการบันทึกวิดีโอการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ร่วมกับAI iDAScore ที่จะทำการวิเคราะห์และประมวลผลออกมาเป็นคะแนนของตัวอ่อน ตั้งแต่ 1 – 9.9 ซึ่งคะแนนจะสอดคล้องกับอัตราการฝังตัวและการตั้งครรภ์  คะแนนนี้จะช่วยให้แพทย์และนักวิทย์สามารถคัดเลือกตัวอ่อนตัวอ่อนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด  ซึ่งอย่างไรก็ตาม AI สามารถเข้ามาช่วยได้ การประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ยังมีอีกหลายปัจจัย ตั้งแต่การกระตุ้นไข่เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ความชำนาญการของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ยังเป็นปัจจัยสำคัญ

 

“ในอนาคตอันใกล้นี้จะมี AI ช่วยในการประเมินค่าความผิดปกติหรือความรุนแรงของก้อนในเต้านม (BIRADS) ทราบผลว่าคนไข้มีความผิดปกติของก้อนอยู่ในระดับไหน ใช้เวลาเพียง 2 วินาที โดยสามารถใช้โปรแกรมช่วยประเมินนี้เป็น ตัวเสริมให้กับแพทย์เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย”นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

"ศิริราช" ก้าวสู่ Smart Hospital

 

เดือนตุลาคม 2565 “ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าพันธกิจคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม นำพาโรงพยาบาลศิริราชไปสู่การเป็นต้นแบบของ “Smart Hospital” เริ่มจากแอปพลิเคชัน Siriraj Connect แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการสุขภาพในรูปแบบออนไลน์ รวมถึงการให้คำปรึกษาทางไกล (Telemedicine) กับคนไข้ที่ไม่สะดวกมาที่โรงพยาบาลด้วย นำเทคโนโลยี 5G Cloud และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล สร้างประสบการณ์ที่ดีในการมารับบริการ

 

สิ่งสำคัญคือบุคลากรต้องมีความเข้าใจในนวัตกรรม มีทักษะการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งต้องมีความพร้อมทั้งระบบการศึกษา อาจารย์ที่เชี่ยวชาญ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้น โดยจัดพื้นที่ที่เรียกว่า “Smart Digital Hub” ให้นักเรียนนักศึกษา ประชาชน รวมถึงบุคลการของศิริราช ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรม

 

ใช้ AI พัฒนาทุกส่วน

 

“Siriraj Smart Hospital ระยะแรกมีต้นแบบประมาณ 9 เรื่องพื้นฐาน ระยะที่ 2 มี Siriraj Data Plus เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารระบบโรงพยาบาลทั้งหมด นำข้อมูลเหล่านี้ประกอบกับความสามารถของ AI เข้ามาดีไซน์จุดที่ต้องการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรบุคคล การเงิน การคลัง พัสดุทรัพย์สินโรงพยาบาล เป็นการบริหารจัดการที่นำข้อมูลดิบมาจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย ลดเวลา ลดขั้นตอน เพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ ซึ่งผมเชื่อมั่นจะเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ในอนาคตเสริมศักยภาพ สร้างนวัตกรรมในการดูแลรักษาพยาบาล ต้นแบบในระดับนานาชาติเพื่อให้คนไทยของเรามีความสุข” ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวทิ้งท้าย