7 ล้านตำแหน่งงานถูกแทนที่ด้วยAI จี้นายจ้าง-ภาครัฐเร่งพัฒนาทักษะแรงงาน

7 ล้านตำแหน่งงานถูกแทนที่ด้วยAI  จี้นายจ้าง-ภาครัฐเร่งพัฒนาทักษะแรงงาน

อุตสาหกรรมหลายอย่างได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานไปจากเดิม ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถเข้ามาทำงานร่วมกับแรงงาน แทนแรงงาน หรืออาจจะทำงานได้ดีกว่าแรงงานในบางสายงาน

ปัจจุบันมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งทักษะของแรงงานที่มีอยู่ไม่สามารถเท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้งานวิจัยของบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) รายงานว่า ปี ค.ศ. 2017 ถึง ค.ศ. 2037 จะมีงานมากกว่า 7 ล้านตำแหน่งที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI และจะนําไปสู่การสร้างงานในรูปแบบใหม่ถึง 7.2 ล้านงาน เพิ่มสุทธิ 200,000 งาน

นอกจากนั้น ได้คาดการณ์ว่าตำแหน่งงานใหม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพราะบริษัทส่วนใหญ่ต้องการจ้างงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานโดยคนกับการใช้เทคโนโลยี AI เพราะเทคโนโลยี AI มีจุดแข็ง เช่น ความเร็ว ความแม่นยําในการคํานวณ ฯลฯ ขณะที่มนุษย์มีจุดที่เหนือกว่า เช่น ความเห็นอกเห็นใจ การตัดสิน การรับรู้ ฯลฯ ซึ่งถ้าบริษัทรวมจุดแข็งของAI กับมนุษย์แล้วนำมาเสริมกัน ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมเกิดขึ้นกับธุรกิจ ในปีที่ผ่านมาการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ร่วมกับมนุษย์มีผลทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

AI กับ มนุษย์ อะไร? ตอบโจทย์ธุรกิจ ช่วยทำงานหรือ ทดแทนแรงงาน

สัมภาษณ์ ChatGPT “ผลกระทบของ AI ต่อแรงงานและธุรกิจ 2023”

‘Gen AI’ สะเทือนโลก มนุษย์เสี่ยง ‘ตกงาน’ อื้อ

‘บิ๊กคอร์ป’ ทุ่มไม่อั้นลงทุนAI เร่งอีโคซิสเต็มดันธุรกิจใหม่

 

AI ไม่สามารถแทนแรงงานได้ 100%

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์แรงงานไทยในปัจจุบันมีหลายระดับ ซึ่งจะให้กล่าวว่า AI หุ่นยนต์มาแทนที่แรงงานทุกระดับคนไม่ได้ และไม่สามารถมาแทนที่ได้ 100% เพราะนายทุน ภาคอุตสาหกรรมอาจจะไม่มีทุนพอในการซื้อเทคโนโลยีต่างๆ และบางอุตสาหกรรม อย่าง อุตสาหกรรมยานยนต์ มีการใช้ AI และหุ่นยนต์อยู่แล้ว หรือโรงงานผลิตชิ้นส่วนบางอย่าง อาทิ โรงงานทำแผ่นอุปกรณ์ในต่างประเทศจะใช้คนเพียง 4 คน ส่วนกระบวนการอื่นๆ ล้วนใช้ AI ทั้งสิ้น

“อุตสาหกรรมจะใช้ AI ควบคู่กับการใช้แรงงานคน แต่ถ้าอุตสาหกรรมไหนเป็นการทำงานซ้ำๆ รูปแบบเดิมๆ ก็จะใช้ AI มากกว่าคน หรือใช้ AI แทนคน ซึ่งการพัฒนาศักยภาพ ทักษะแรงงานไทย ไม่ควรไปถามแรงงานไทยว่าจะพัฒนาทักษะอย่างไร เพราะในประเทศไทยแรงงานส่วนใหญ่จะทำงานวันละ 12 ชั่วโมงพวกเขาจะเอาเวลาไหนไปอบรมพัฒนาตนเอง แต่ควรไปถามนายจ้างว่าจะยอมให้แรงงานไปอบรมโดยที่ต้องสูญเสียกำลังผลิตหรือไม่ หรือภาครัฐจะสนับสนุนนายจ้างอย่างไรในการพัฒนาแรงงาน ดังนั้น เรื่องการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะ อัพสกิล รีสกิล หรือใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ได้ คงอยู่ที่นายจ้างกับรัฐบาล”ดร.แล กล่าว

 

ผลิตคนทำงานคู่AI ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ

ตอนนี้ทุกคนพูดถึงแต่ว่า AI หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แรงงานหากแรงงานไม่พัฒนาตนเอง ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็มองว่าบัณฑิต แรงงานที่ระบบการศึกษาผลิตออกมานั้นไม่ตอบโจทย์ ทั้งที่จริงๆ แล้วการพัฒนา การอุดหนุนแรงงานไม่ใช่เป็นเรื่องที่ลูกจ้าง หรือแรงงานตัดสินใจได้

 “การพัฒนากำลังคนที่มีทักษะด้าน AI หุ่นยนต์ มีความสามารถในการใช้งานได้นั้น ต้องเริ่มจากมีการเรียนการสอน ซึ่งระบบการศึกษาในขณะนี้มีหลักสูตร AI และการเรียนการสอนเกี่ยวกับ AI แต่จะเป็นการเตรียมกำลังคนที่เพียงพอหรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่าพัฒนาคนไม่เพียงพอ สถาบันอาชีวศึกษา อุดมศึกษา รัฐบาลต้องมีการบริหารทรัพยากรบุคคลด้านนี้ ต้องหารือร่วมมือกับนายจ้าง สมาคมอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดการพัฒนาศักยภาพฝีมือแรงงาน ขณะที่สหภาพแรงงานต้องมีบทบาทในการฝึกอบรม หรือช่วยเหลือคนเมื่อว่างงาน แต่ในไทย สหภาพแรงงานก็ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย” ดร.แล กล่าว

แนะแรงงานตระหนัก ปรับตัวรับ AI

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ออกแถลงการณ์เตือนแรงงานในกลุ่มอาเซียนว่า เป็นกลุ่มที่มีโอกาสถูกกระทบจากการเข้ามาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะแรงงานภาคการผลิต และบริการทั้งยังคาดการณ์ว่าในระยะเวลา 10 ปีจากนี้ไป แรงงานกลุ่มเสี่ยงอื่นๆก็มีโอกาสจะถูกทดแทนด้วยเช่นกัน

สอดคล้องกับผลศึกษาของสภาที่ปรึกษาแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน ระบุว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่เริ่มนำร่องใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานนั้นสามารถทดแทนแรงงานได้เฉลี่ย 20-30% ของการจ้างงาน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ธนาคารพาณิชย์, ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่านายจ้างกลุ่มนี้มีการลดการรับพนักงานเพิ่มชัดเจน

นายภาคภูมิ เอี่ยมจิตกุศล ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอาวุโส สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) กล่าวว่าการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในธุรกิจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แรงงานกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ กลุ่มที่ยังไม่ตระหนักและไม่ปรับตัวให้พร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะในความเป็นจริง AI ไม่ได้สร้างให้เกิดปัญหาการว่างงาน แต่ AI กลับเป็นเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เพียงแต่ว่าธุรกิจจะต้องลงทุนและให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับแรงงานเพื่อความสำเร็จในอนาคตของธุรกิจ

แรงงานต้องตระหนักถึงความจำเป็นของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อฉกฉวยโอกาสจากงานรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ทุกคนต้องพัฒนาและเรียนรู้อยู่เสมอ และต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงทำให้ตนเองสามารถหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับงานที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต”นายภาคภูมิ กล่าว