วันเด็ก 2566 “วัยรุ่นฟันน้ำนม” สุขภาพทรงอย่างแบด กระทบเจริญเติบโต

วันเด็ก 2566 “วัยรุ่นฟันน้ำนม” สุขภาพทรงอย่างแบด กระทบเจริญเติบโต

ทำไมปัญหาสุขภาพช่องปาก “วัยรุ่นฟันน้ำนม” ฉายาเด็กไทยที่นิยมเพลง “ทรงอย่างแบด(bad boy)” วง “Paper Planes” จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่ควรมองข้าม วันเด็ก 2566 “กรุงเทพธุรกิจ”พาส่องพฤติกรรมสุขภาพ ปัญหาสุขภาพเด็กไทย พบว่า ยังมีเรื่องที่ “แซดอย่างบ่อย” กระทบการเจริญเติบโต

พฤติกรรมสุขภาพเด็กไทย

        นพ.สุระ วิเศษศักดิ์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า จากข้อมูลเฝ้าระวังพฤติกรรมด้านสุขภาพ โดยกองสุขศึกษาได้สำรวจพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลม และเครื่องดื่มรสหวาน ในกลุ่มวัยเรียน ในปี 2564 จำนวน 6,634 คน พบว่า

  • ใน 1 วัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน สูงถึง 86.5%
  • มีเพียง 13.5 % เท่านั้นที่ดื่มน้ำเปล่า

ส่วนประเภทเครื่องดื่มรสหวานที่ดื่มเป็นประจำ 3 ลำดับแรก คือ

1.น้ำอัดลม  40.95%

2. ชานมไข่มุก  29.16 %

3.น้ำผลไม้ที่มีรสหวาน  9.34 %

        “หากเด็กมีสุขภาพที่ดีตั้งแต่วัยเยาว์ จะส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีทางด้านสุขภาพ แต่ถ้าหากเด็กมีความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องโรคอ้วนในระดับต่ำแล้ว จะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอ้วนและโรคเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่”นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสบส. กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 
เปิดตัว ‘ทรงอย่างแบด’ Paper Planes หัวหน้าแก๊งวัยรุ่นฟันน้ำนม
กรมการแพทย์เตือน ความเสี่ยงจากที่ "ลูกกัดเล็บ ดูดนิ้ว"
เปิดแผนฉีดวัคซีนโควิด-19ไทยปี 66 พร้อม10จุดฉีดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
สธ.ระบุ "โควิด XBB" แพร่ไม่เร็วกว่าสายพันธุ์BA.2.75ที่พบในไทย

ทรงอย่างแบด ฟันผุกว่า 50 %

        ปัญหาสุขภาพช่องปากยังเป็นปัญหาที่สำคัญของคนไทย จากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ปี 2560 ของ กรมอนามัย พบว่า  

  • เด็กอายุ 3 ปี  52.9% และเด็กอายุ 5 ปี 75.6% มีประสบการณ์ฟันน้ำนมผุ
  • เด็กวัยเรียนและเยาวชนอายุ 12 ปี  52.0% มีประสบการณ์การเกิดโรคฟันแท้ผุ
  • กลุ่มวัยทำงานอายุ 35-44 ปี มีปัญหาสภาวะปริทันต์ที่พบการอักเสบของเหงือก มีเลือดออกง่าย 51.0% และปัญหาโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา43.3%
  • ผู้สูงอายุ พบว่า มีฟันถาวรใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ เพียง 56.1 %

    นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าฟันซี่แรกของลูก หรือฟันน้ำนมเดี๋ยวก็หลุดไป จึงขาดการเอาใจใส่ดูแล และจะเริ่มดูแลเมื่อฟันแท้ขึ้น ส่งผลให้เด็กไทยกว่าครึ่งประเทศมีฟันน้ำนมผุ และอาจบานปลายไปถึงการเป็นหนองที่ปลายรากฟัน ส่งผลให้ต้องรักษาด้วยวิธีการที่ซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายสูง จึงควรเริ่มดูแลฟันของลูกตั้งแต่ซี่แรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในระยะยาว

  วันเด็ก 2566 “วัยรุ่นฟันน้ำนม” สุขภาพทรงอย่างแบด กระทบเจริญเติบโต

วิธีป้องกันฟันผุตั้งแต่แรกเกิด

  • เมื่อทารกแรกเกิดควรกินนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน และกินนมแม่ควบคู่อาหารที่เหมาะสมตามวัยจนถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น นมแม่จะทำให้เกิดฝ้าขาวในปากน้อยกว่านมขวด  อีกทั้ง ยังมีสารอาหารและภูมิต้านทานที่มีประโยชน์สูงสุดสำหรับลูกน้อย
  • เด็กที่ฟันยังไม่ขึ้น วิธีการทำความสะอาดช่องปากคือ ใช้ผ้าสะอาดพันที่บริเวณปลายนิ้วมือ เช็ดบริเวณเหงือกและฟันของลูกให้ทั่วช่องปาก
  • ลูกโตขึ้น พ่อแม่ยิ่งต้องใส่ใจสุขภาพช่องปากของลูกน้อยให้มากขึ้นอีก เพราะนมผงหรือนมกล่อง จะทำให้เกิดคราบขาวในช่องปากของลูก ยังมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ หากไม่ดูแลทำความสะอาดจะทำให้เกิดฟันผุ หรือเกิดเชื้อราในช่องปากได้ ไม่ควรปล่อยให้ลูกหลับคาขวดนม
  • วัยเด็กเล็ก (0-3 ปี) พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูควรทำความสะอาดช่องปากให้เด็ก
  • อายุ 3 ปีขึ้นไป ให้เด็กแปรงฟันเอง และเป็นหน้าที่ของผู้เลี้ยงดูที่ต้องตรวจความสะอาดซ้ำทุกครั้งที่แปรงจนถึงอายุประมาณ 8-9 ปี หรือเมื่อสามารถผูกโบว์ หรือเชือกรองเท้าได้เอง

วิธีแปรงฟันที่ถูกต้อง

     ทพญ.สุมนา โพธิ์ศรีทอง ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวว่า การเสริมสร้างสุขภาพช่องปากที่ดีให้แก่เด็ก ด้วยการบริโภคอาหารหลัก 3 มื้อ โดยเฉพาะอาหารมื้อเช้า ไม่รับประทานขนมจุบจิบ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม ลูกอม เพราะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ และสร้างลักษณะนิสัยที่ดีในการแปรงฟัน

  • ควรแปรงฟันทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
  • แปรงให้สะอาดทั่วถึง แปรงฟันทุกซี่ ทุกด้าน
  • วางแปรงสีฟันทำมุม 45 องศา บริเวณรอยต่อระหว่างเหงือกและฟัน
  • ถูแปรงสีฟันไปมาในช่วงสั้นๆ เบาๆ ตามแนวฟันและเหงือก
  • แปรงลิ้นและกระพุ้งแก้ม เพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์และกลิ่นปาก
  • เลือกยาสีฟันให้เหมาะสมตามวัย
  • ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ในปริมาณที่เหมาะสม
    เลือกยาสีฟันที่เหมาะสมวัย 
    ตั้งแต่มีฟันซี่แรกถึงอายุ 3 ปี
  •  ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ 1000 ppm ขนาดเท่าเม็ดข้าวสาร
  • เด็กที่มีความเสี่ยงฟันผุสูงมาก ควรใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ 1400-1500 ppm ขนาดเท่าเม็ดข้าวสาร ผู้ปกครองช่วยแปรงฟันและเช็ดทำความสะอาดฟองออก

ในเด็กอายุ 3 ปี  ถึง 6 ปี

  • ที่มีความเสี่ยงฟันผุต่ำควรใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ 1000 ppm ขนาดเท่าเม็ดข้าวโพด
  • เด็กที่มีความเสี่ยงฟันผุสูง-สูงมาก ใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ 1400-1500 ppm ขนาดเท่าเม็ดข้าวโพด โดยผู้ปกครองควรช่วยบีบยาสีฟันหรือช่วยแปรงฟันให้ลูก พร้อมเตือนให้เด็กบ้วนน้ำลายและฟองยาสีฟันทิ้ง โดยไม่ต้องบ้วนน้ำตามหรืออาจบ้วนน้ำ 1 ครั้ง

เด็กอายุมากกว่า 6 ปี

  • ที่สามารถควบคุมการกลืนและบ้วนทิ้งได้ ควรใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ 1400-1500 ppm ขนาดเต็มหน้าแปรงสีฟันเด็ก บ้วนน้ำลายและฟองยาสีฟันทิ้งโดยไม่ต้องบ้วนน้ำตาม หรืออาจบ้วนน้ำ 1 ครั้ง
  • ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตช่องปากลูกว่ามีคราบจุลินทรีย์บนตัวฟันหรือไม่ มีรอยผุเริ่มแรกหรือผุเป็นรูหรือไม่ และหากพบปัญหาให้รีบมาพบทันตแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกวิธี  
    วันเด็ก 2566 “วัยรุ่นฟันน้ำนม” สุขภาพทรงอย่างแบด กระทบเจริญเติบโต                 

สุขบัญญัติป้องกันฟันผุเด็กไทย

      กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะนำปฏิบัติสุขบัญญัติข้อ 4 การทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอและเหมาะสมทำให้สุขภาพแข็งแรง  

1.เลี่ยงการดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน

2.เน้นการดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น

3.ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชน อ่านฉลากโภชนาการ เพื่อทราบปริมาณน้ำตาลในน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวานประเภทต่างๆ

4.ทานอาหารที่มีประโยชน์

         ผู้ปกครอง และโรงเรียนสามารถปรับพฤติกรรมเด็กต่างๆ ตามแนวทางสุขบัญญัติ เช่น จัดเตรียมอาหารที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการให้กับเด็ก เพิ่มผักผลไม้ ซึ่งได้รับวิตามิน แร่ธาตุ และช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้

  • หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กรับประทานขนมขบเคี้ยว อาหารที่มีรสหวานจัด และเครื่องดื่มที่มีรสหวานทุกชนิดทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
  • ส่งเสริมกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายตามความชอบและความถนัดของเด็กอย่างเหมาะสม
  • ลดพฤติกรรมการนั่งดูทีวี เล่นเกมคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สามารถควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ให้เด็กไทยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

 “เด็กไทย” รอบรู้สุขภาพ

      กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กระทรวงมหาดไทย(มท.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ได้จัดทำโครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ เพื่อให้เด็กไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การเป็นประชากรที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญของประเทศ

       กำหนดให้มีแผนขับเคลื่อนโครงการระยะ 5 ปี (2566-2570) ในปี 2566 มีเป้าหมายให้เด็กไทย ในระดับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป จำนวน 1 ล้านคน ผ่านการสร้างความรอบรู้จากครูอนามัยโรงเรียน เพื่อให้มีทักษะเบื้องต้น

  • ในการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support)
  •  รู้เท่าทันจิตใจตนเองและผู้อื่น จัดการความเครียด สร้างความสุขด้วยตนเอง
  •  รู้โทษทัณฑ์พิษภัย ห่างไกลสารเสพติด
  • มีทักษะตรวจเต้านมด้วยตนเอง
  • อยู่ในสถานศึกษาปลอดภัยรอบด้าน เอื้อต่อการเรียนรู้

หลักสูตรครูอนามัยสร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ ด้วยชุดทักษะการเรียนรู้ 6 ด้าน ประกอบด้วย

  1. ทักษะชีวิต ด้วยการดูแลสุขภาพใจด้วย School Health HERO ประเมิน 9S Plus แอปโดนบูลลี่ มาหา Buddy ป้องกันภาวะซึมเศร้า ป้องกันภัยจากบุหรี่และสารเสพติด
  2. ทักษะสังคม ป้องกันตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รักปลอดภัย คุมกำเนิดปลอดภัย ป้องกัน HIV AIDS ป้องกันฝุ่น PM 2.5  อ่านฉลาก ฉลาดเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย
  3. ทักษะสุขภาพ สร้างเด็กไทยเติบโต สมวัย ตรวจสุขภาพด้วยตนเอง ฝึกกู้ชีพขั้นพื้นฐาน ช่วยเหลือผู้อื่นจากการจมน้ำ ไฟฟ้าซ็อต และอุบัติเหตุ สุขภาพดีด้วยหลัก 10 อ.
  4. ทักษะการจัดการสิ่งแวดล้อม รอบรู้อาหารและน้ำปลอดภัย คัดแยกขยะ และดูแลรักษาส้วมให้สะอาด
  5. ทักษะรู้เท่าทันเทคโนโลยี ฟังหู ไว้หู ถามให้รู้ หาข้อมูลให้ชัด ก่อนตัดสินใจ เช็คก่อนแชร์ ด้วย สาสุขชัวร์
  6. ทักษะการจัดการงานอนามัยโรงเรียน บทบาทครูอนามัย ระบบงานอนามัยโรงเรียน ห้องพยาบาล และการปฐมพยาบาล