สธ.ระบุ "โควิด XBB" แพร่ไม่เร็วกว่าสายพันธุ์BA.2.75ที่พบในไทย

สธ.ระบุ "โควิด XBB" แพร่ไม่เร็วกว่าสายพันธุ์BA.2.75ที่พบในไทย

สธ.ระบุโควิด XBB แพร่ไม่เร็วกว่าBA.2.75ที่พบในไทย คาดไม่น่าเป็นสายพันธุ์ที่จะมาแพร่ในไทย  ขณะที่กำหนดมาตรการผู้เดินทางเข้าไทยผ่านด่านบก ต้อง“ซี้อประกันสุขภาพ”  ไทยเปิดประเทศรับต่างชาติตั้งแต่ต.ค.65 ไร้การติดเชื้อเพิ่มผิดปกติ จับตา 2 สัปดาห์หลังจีนเปิดประเทศ 

     เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ในประเทศไทย ข้อมูล ะหว่างวันที่ 1-7 ม.ค.2566 ผู้ติดเชื้อใหม่เหลือ 900 กว่าราย ผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจลดลง โดยผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 8 ราย ซึ่งจากที่คาดการณ์ว่าหลังปีใหม่จะมีการติดเชื้อในลักษณะพุ่งสูงขึ้น (spike) แต่เท่าที่ดูตอนนี้ยังไม่เพิ่มขึ้นขนาดนั้น แต่จะดูช่วงหลังตรุษจีนด้วย หลังจากที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเที่ยวในไทย  ส่วนใหญ่จะไปตามแหล่งท่องเที่ยวสายมู หรือวัดชื่อดังตามจังหวัดต่างๆ

      “จากการประชุมเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการ ก็เตรียมการเรื่องนี้ ตั้งแต่การเตรียมคน วัคซีนให้พนักงาน เตรียมสถานที่เพื่อทำตามมาตรการการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ถ้ามีความห่วงกังวลเรื่องวัด หรือสถานที่ต่างๆ ก็จะประสานไปยังกระทรวงวัฒนธรรมเพิ่มเติม รวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว”นพ.ธเรศกล่าว 

      นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า  ในการเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านบก ได้สั่งการแล้วว่าให้ทำการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้เดินทางเพิ่มขึ้น เช่น จ.เชียงราย จังหวัดชายแดน โดยจะใช้แนวทางเดียวกับเดินทางผ่านอากาศยาน คือ ถ้าประเทศปลายทางกำหนดว่าจะต้องตรวจ RT-PCR ก่อนกลับ ก็จะต้องมีการทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาโควิด-19 วงเงินไม่ต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันมี 2 ประเทศที่กำหนด คือ อินเดีย และจีน  

           ทั้งนี้  ประกันสุขภาพผู้เดินทาง ต้องครอบคลุมรักษาโควิด-19 ประมาณ 7 วัน  ซึ่งจากการตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรื่องแนวทางรักษาโควิดในปัจจุบันสามารถรักษาตัวแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ค่าใช้จ่ายจะน้อยกว่าการเข้ารักษาในรพ.มาก จะทำให้กรมธรรม์อัตราไม่สูง จึงให้ คปภ.ออกแบบประกัน แต่คปภ.ยังมีความกังวลเล็กน้อยเรื่องอัตราการพบผู้ป่วย  โดยคาดว่า 2 สัปดาห์จะทราบข้อมูลนี้

        “นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะพักในโรงแรมที่มีมาตรฐาน SHA Plus ซึ่งพนักงานมีความพร้อมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และมี รพ. เอกชนคู่สัญญารองรับการตรวจโควิดให้ผู้เข้าพัก และถ้าติดเชื้อก็มีระบบส่งต่อผู้ป่วย แต่หากไม่ได้พักในโรงแรม SHA Plus ก็ยังมีประกันสุขภาพที่สามารถเข้ารักษาใน รพ. ได้ เคลมได้ตามระบบ ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นในการเปิดฮอสปิเทล (Hospitel) แต่ถ้ามีสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ก็สามารถให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดระบบนี้ขึ้นมารองรับได้”นพ.ธเรศกล่าว

   นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า หลังจากที่มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น มีการคาดฉากทัศน์ไว้ ซึ่งนักท่องเที่ยวระยะแรกคาดว่าจะไม่มาก  จากประเทศจีน 3 เดือนแรกคาดว่าจะเข้ามา 3 แสนคน คิดเป็น 5% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่ไทยเปิดประเทศตั้งแต่ ต.ค.2565 นักท่องเที่ยวเข้ามาปกติแต่ยังไม่เห็นการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ส่วนหนึ่งนักท่องเที่ยวเองก็มีความระวังด้วย แสดงว่าระบบเฝ้าระวังดูแลได้ตามที่คาดการณ์
         ถามถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19ในปี 2566 นพ.ธเรศ กล่าวว่า  จะเป็นการฉีดเข็มกระตุ้น 2 เข็มในกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงกลุ่มเสี่ยงต่างๆ  เช่น ผู้ประกอบการที่ต้องให้บริการนักท่องเที่ยว  ส่วนประชาชนทั่วไปขึ้นอยู่กับความสมัครใจ หากประสงค์จะรับวัคซีนก็เข้ารับได้ 
        ต่อข้อถามการกำหนดให้เด็กไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย  นพ.ธเรศ   กล่าวว่า  เป็นเรื่องเร่งด่วน โดยได้มอบหมายให้นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต และอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาการเด็ก ระบาดวิทยา และการติดเชื้อ หลังจากนั้นให้ทำเป็นคำแนะนำต่อไป
โควิดXBB แพร่ไม่เร็วกว่าสายพันธุ์ในไทย 

        ผู้สื่อข่าวถามถึงมีการพูดว่าสายพันธุ์XBBจะแพร่ระบาดหลักในประเทศไทย นพ.จักรรัฐ  พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการเฝ้าระวังสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ขึ่งขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์XBBในประเทศไทย  อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์XBB ที่พบมากในสหรัฐอเมริกา แต่การแพร่เชื้อไม่เร็วเท่าสายพันธุ์ BA.2.75  ทำให้สายพันธุ์XBB ไมน่าแพร่ระบาดในไทย 
      นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า  การรายงงานการเฝ้าระวังสายพันธุ์เมื่อ 6 ม.ค.2566  สายพันธุ์หลักที่พบในประเทศไทยขณะนี้เป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BN.1.3 ซึ่งเป็นลูกหลาน ของ BA.2.75 ซึ่งข้อมูลความสามารถในการหลบภูมิและแพร่เร็ว ใกล้เคียงกับ XBB.1.5 ที่พบในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 

       “XBB.1.5 มีความสามารถในการแพร่เชื้อสูสีกับ BA.2.75 ในไทย แต่มีความเหนือกว่าเล็กน้อยในเรื่องของการหลบภูมิคุ้มกัน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชมากกว่ากัน ไม่มีความแตกต่างในแง่ของความรุนแรงที่ทำให้ผู้ป่วยอาการหนักหรือเสียชีวิตเร็วขึ้น”นพ.ศุภกิจกล่าว