งบ "บัตรทอง" ลงนามจัดสรรแล้ว หน่วยบริการได้รับไม่เกิน 6 ม.ค. 66

งบ "บัตรทอง" ลงนามจัดสรรแล้ว หน่วยบริการได้รับไม่เกิน 6 ม.ค. 66

รองปลัด สธ. เผย งบบัตรทองลงนามจัดสรรแล้ว หน่วยบริการได้รับไม่เกิน 6 ม.ค.2566 ส่วนบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคผู้อยู่นอกสิทธิ สธ. - สปสช.จะร่วมกันดูแล

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566 ว่า วันนี้ (28 ธันวาคม 2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามให้ สปสช.ดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยบริการต่างๆ แล้ว โดย สปสช.กำหนดจะจัดสรรให้แล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 6 มกราคม 2566 เพื่อให้หน่วยบริการได้ใช้ในการจัดบริการแก่ประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป

สำหรับงบในส่วนการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับผู้ที่อยู่นอกสิทธิบัตรทอง ซึ่ง สปสช.ต้องชะลอการจัดสรร เนื่องจากต้องรอการพิจารณาของกฤษฎีกาว่า สามารถนำไปดำเนินการในลักษณะดังกล่าวได้หรือไม่ พบว่า มีการนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนว่า สปสช.ให้ประชาชนกลุ่มนอกสิทธิบัตรทองที่ต้องการรับบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเข้าโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก่อน จนกว่ามีความชัดเจนทางกฎหมาย ซึ่งได้ตรวจสอบกับ นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เข้าประชุมคณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระดับประเทศ (คณะกรรมการ 7x7) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ยืนยันว่าข่าวดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนจริง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนที่อยู่นอกสิทธิบัตรทองเกิดความเข้าใจผิด และเกิดปัญหาในการเข้ารับบริการได้

นพ.พงศ์เกษม กล่าวต่อว่า ข้อเท็จจริงคือ คณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ได้หารือร่วมกันถึงแนวทางการจัดบริการเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบระหว่างรอการพิจารณาของกฤษฎีกา โดยมีมติเห็นชอบร่วมกัน ดังนี้ 1) หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะจัดบริการให้กับประชาชนทุกคน ทุกสิทธิ ที่เคยรับผิดชอบดูแล เพื่อประชาชนได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง

ส่วนประชาชนนอกสิทธิบัตรทองที่เคยรับบริการกับหน่วยบริการอื่นนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สปสช. จะเป็นผู้ประสานให้จัดบริการเช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้มีช่องว่างในการให้บริการ 2) งบบริการในส่วนของผู้ป่วยนอก (OP) ผู้ป่วยใน (IP) ทั้งหมด และงบด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ ให้จัดสรรให้กับหน่วยบริการ ภายในวันที่ 6 มกราคม 2566 และ 3) ให้หน่วยบริการทุกภาคส่วน ส่งข้อมูลขอรับค่าใช้จ่ายทุกสิทธิตามระบบเดิม เมื่อมีข้อชัดเจนทางกฎหมายในการจัดบริการกลุ่มนอกสิทธิบัตรทองแล้ว สปสช.จะได้โอนเงินจ่ายชดเชยบริการให้ทันที

 ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. จะหารือในการดำเนินงาน และติดตามแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การจัดบริการประชาชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์