ชะลอวัยแบบย้อนกลับ ทางเลือกใหม่คนไม่อยาก“แก่”

ชะลอวัยแบบย้อนกลับ ทางเลือกใหม่คนไม่อยาก“แก่”

นวัตกรรมทางการแพทย์ในปีหน้าจะแอดวานซ์ไปถึงการ Reverse Aging การชะลอวัยแบบย้อนกลับ ที่มาพร้อมการรักษาแบบ New Way to Heal เน้นการรักษาเฉพาะบุคคล

       ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดการณ์ว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” โดยจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 7 ล้านคน หรือมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุก 5 คน ในขณะที่ปีนี้ปริมาณผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจนทำให้กรุงเทพมหานครเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบไปแล้ว ดังนั้นนโยบายสธ.ปี 2566 จะเน้นส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ให้ดูแลตัวเองได้ไม่เป็นภาระของลูกหลาน และไม่เป็นภาระงบประมาณ

      อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานพยาบาลหลายแห่งมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพคนไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล หรือบางแห่งก็มีการให้บริการนอกโรงพยาบาล เพื่อตอบรับเทรนด์สังคมผู้สูงวัยในสังคมไทยที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่เพียงครอบคลุมเฉพาะสุขภาพทางกายหรือโรคประจำตัวเท่านั้น แต่รวมถึงองค์รวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกมิติ

ชะลอวัยเทรนด์สุขภาพปี 66

       ปัจจุบันเทรนด์การดูแลสุขภาพกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเวชศาสตร์ชะลอวัยที่สอดคล้องกับสังคมโลกที่เข้าสู่ยุคผู้สูงวัย โดยเฉพาะการชะลอวัยด้วยโภชนบำบัดดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและช่วยชะลอความแก่ โดยไม่ใช้ยา แต่ใช้สารอาหารทดแทน และเน้นการสร้างสมดุลให้อวัยวะภายใน เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 
สธ.เร่งวางแผนยุทธศาสตร์ดูแลผู้สูงอายุทุกมิติ เป็นของขวัญปีใหม่
7 สุดยอด “นวัตกรรมทางการแพทย์” สุดล้ำ ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ
 

       “พท.นพ.ธรณัส กระต่ายทอง” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การชะลอวัย คลินิกการแพทย์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ V Precision Clinic ภายใต้การดูแลของ บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า เทรนด์สุขภาพและความงามในปี 2566 “การย้อนวัย การชะลอวัย” ยังได้รับความนิยม ในสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญ โดยมองว่าความชราเป็นโรคหนึ่ง ไม่ใช่ความปกติของร่างกายมนุษย์ หากสามารถรักษาโรคชราได้ โรคต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น
        ส่วนในประเทศซาอุดีอาระเบียใช้เงินลงทุนมากถึง1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้วิจัยเกี่ยวกับกระบวนการ Aging รวมทัั้งประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นการตรวจอายุทางชีวภาพ หรือไบโอโลจิคอลเอจ (Biologicalage) จะเป็นอีกเทรนด์สำคัญของปีหน้า ทำอย่างไรให้อายุทางชีวภาพน้อยลง สะท้อนสุขภาพจากภายใน”

        นวัตกรรมทางการแพทย์ ในปีหน้าจะแอดวานซ์ไปถึงการ Reverse Aging การชะลอวัยแบบย้อนกลับ ที่มาพร้อมการรักษาแบบ New Way to Heal เน้นการรักษาเฉพาะบุคคล ประกอบด้วย .PersonalizedMedicineห รือTailor made เป็นการดีไซน์การรักษาแบบเฉพาะบุคคล แบบลงลึก เป็นความจำเพาะของแต่ละบุคคล เพราะร่างกายของมนุษย์แต่ละคนก็จะมีปัญหา หรือโอกาสในการเกิดโรคต่างแตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละคนก็จะถูกวางแผน ในการตรวจหาและรักษา ซึ่งไม่เหมือนกัน

       Dig to Deepศาสตร์การรักษาแบบสมุหทัยวิทยา ในต่างประเทศ เรียกว่า Functional Medicine แปลว่าเป็นการหาสาเหตุของการเกิดโรคนั้นๆ เพราะว่าโรคแต่ละโรค ที่เกิดขึ้นกับคนแต่ละคนจะมีสาเหตุไม่เหมือนกัน และ  Cutting Edge of Technology โดยการใช้เทคโนโลยีหรือการแพทย์ที่นอกเหนือจากการรักษาในโรงพยาบาล การตรวจแบบ Functionalเช่น การตรวจแลปพิเศษที่ต้องส่งผลเลือด ผลอุจจาระ ปัสสาวะไป ที่อเมริกา ออสเตรเลีย หรือฮ่องกง ซึ่งเป็นแลปเฉพาะทาง เพื่อดูผลการตรวจในแต่ละอย่าง รวมทั้งการตรวจในเรื่องของทางยีนส์ ในทาง Genetic เพื่อเอามา Match เพื่อวางแผนในการรักษาต่อไป

     “นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ร่วมกับการรักษา ที่เรียกว่า Cellular Medicine หรือเรียกว่ าAdvance Medicine เข้ามาประยุกต์ใช้ในการรักษา เช่น การรักษาด้วย IV Nutritional Therapy การให้สารอาหารบำบัดทางเส้นเลือด ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับในโรคอย่างเช่น คนไข้ที่มีภาวะนอนไม่หลับอ่อนเพลีย หรือว่ามีภาวะตับอักเสบ หรือว่ามีการติดเชื้อ หรือว่าเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานไม่ดี ซึ่งก็จะมีหลายปัจจัยที่เราสามารถนำมาปรับใช้กับการรักษาได้ รวมทั้งจะมีนวัตกรรมใหม่ๆซึ่งเป็นการรักษาแบบ Light Therapy หรือ Low Power Light Therapy ก็คือการใช้ศักยภาพของแสงเลเซอร์ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละ Wave Range เพื่อเอามารักษาแล้วก็บำบัดในหลายๆโรค

อุปกรณ์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

      ขณะที่ อุปกรณ์ หรือ นวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตขหรือ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ก็มีความจำเป็นเช่นกัน  ล่าสุด โรงพยาบาลวิมุตนำโดย “นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท ออล แคร์ พลัส จำกัดภายใต้การสนับสนุนของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
        โดยมุ่งเน้นการส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้สูงอายุและผู้ดูแลนำร่องด้วยเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ พร้อมนวัตกรรมที่ช่วยลดความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย อาทิ อุปกรณ์ป้องกันการดึงสำหรับผู้สูงอายุ/ผู้ป่วย รถสระผมเคลื่อนที่ ที่ช่วยให้การสระผมผู้ป่วยติดเตียง เป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น

        เป็นการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม การสร้างความภาคภูมิใจ และการเพิ่มความมีคุณค่าในตนเอง ลดการพึ่งพา ลดภาระสำหรับญาติหรือผู้ดูแล ด้วยการนำชุดอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ มาใช้งานในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ให้สามารถรับประทานอาหารด้วยตนเองได้สะดวกขึ้น
ชะลอวัยแบบย้อนกลับ ทางเลือกใหม่คนไม่อยาก“แก่”

       รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาบริษัท ออล แคร์ พลัส จำกัด กล่าว่า ชุดภาชนะสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถแก้ปัญหาการใช้ภาชนะแบบเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดภาระผู้ดูแลได้อีกด้วย ซึ่งชุดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารนี้ เกิดจากการระดมความคิดเพื่อร่วมกันออกแบบโดยพยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัดและนักออกแบบ
         ตลอดจนการทดลองใช้งานกับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้อมือและแขนอ่อนแรงนานถึง 3 ปี ทำให้เราได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้งานได้ในชีวิตจริง ทั้งในแง่ความปลอดภัย  นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ช่วยในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้ดูแลอีกด้วย เช่น รถสระผมเคลื่อนที่สำหรับผู้ป่วยติดเตียง และถุงมือป้องกันการดึงสำหรับผู้ป่วย

         "ในอนาคต เรายังมีแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ สำหรับใช้ในสถานพยาบาล เช่น การร่วมกันออกแบบเสื้อผ้าสำหรับผู้ป่วย ที่เน้นความสะดวก ปลอดภัยและเหมาะสมกับสภาพผู้ป่วย โดยการพัฒนามีเป้าหมายสำคัญได้แก่ การผลิตเพื่อใช้งานและการจำหน่ายต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ง่ายขึ้นซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญอย่างหนึ่งในการงยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยในเมืองไทย และต้อนรับสังคมผู้สูงอายุได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”

ศูนย์ดูแลสุขภาพนอกพื้นที่โรงพยาบาล

    เพื่อแก้ไขปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาล ล่าสุด โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับบริษัท ไอซีเอส จำกัด (ไอคอนสยามเฟส 2) ของกลุ่มสยามพิวรรธน์-MQDC และเครือเจริญโภคภัณฑ์จัดทำโครงการ Siriraj Healthy Lifestyle Center (SiHeLP) ศูนย์บริการด้านเฮลท์แคร์ในรูปแบบศูนย์ดูแลสุขภาพสุขภาพครบวงจรแห่งแรกนอกพื้นที่โรงพยาบาล คัดกรอง ดูแล ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพ และการชะลอวัย ซึ่งเป็นเทรนด์บริการเชิงการแพทย์ในรูปแบบ new normal เพื่อรองรับกลุ่มคนไข้และประชาชนในทุกระดับ เน้นการดูแลในเชิงป้องกัน กรณีเคสหนักมีระบบรีเฟอร์ส่งต่อโรงพยาบาลศิริราช หรือโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ได้

     และในปี 2566 จะเปิดศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุที่จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 25 ไร่ รองรับฟื้นฟูคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องมานอนโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นโครงการต้นแบบดูแลผู้สูงอายุก่อนที่จะกลับบ้าน พร้อมสอนการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้องตามหลักทางการแพทย์ เป็นที่ฝึกบุคลากรสำหรับดูแลผู้สูงอายุ และสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยต่าง ๆ ให้แก่สังคม ในการพึ่งพาตัวเอง

      นอกจากนี้ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ร่วมกับบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เปิด “ศูนย์สุขภาพรามาธิบดี” ที่ “โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์” ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของตระกูล “เจียรวนนท์” เมื่อวันที่ 11 พ.ย.โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพคนไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ที่ต่อเนื่อง สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล

ชะลอวัยแบบย้อนกลับ ทางเลือกใหม่คนไม่อยาก“แก่”

โรคผู้สูงอายุ

    ข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า มนุษย์มีการพัฒนาสมบูรณ์สูงสุดเมื่ออายุ 20 – 25 ปี จากนั้นประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายและอวัยวะจะเริ่มถดถอยลง ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อถึงวัยสูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจ และโรคต่าง ๆ ซึ่งพบได้บ่อยกว่าในวัยอื่น ๆ

ปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

1. ความเสื่อมของสติปัญญา

     เนื่องจากเซลล์สมองจะน้อยลง ขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากเลือดไหลเวียนสมองน้อยลงและภาวะขาดอาหารและวิตามินบางชนิด ผู้สูงอายุจะมีความจำเสื่อม หลงลืม นอนไม่หลับ ภาวะสมองเสื่อมอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น การพลัดหลง, อุบัติเหตุ, การขาดอาหาร, การติดเชื้อ ฯลฯ

2. ภาวะซึมเศร้า

     เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเรื้อรังทางกาย ขาดสมรรถภาพ และขาดความเอาใจใส่จากญาติพี่น้อง ผู้ป่วยจะมีอาการหลายอย่าง ได้แก่ ความผิดปกติของการนอน ขาดความสนใจ รู้สึกผิด ขาดสมาธิ เบื่ออาหาร ถ้ามีอาการรุนแรงอาจมีความคิดฆ่าตัวตาย

3. อาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้

     การอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอด หรือทางเดินปัสสาวะฝ่อและอักเสบ และผลข้างเคียงของการใช้ยาและรักษาหลายโรค เช่น ยาคลายเครียด ยารักษาอาการซึมเศร้า หรือยารักษาความดันบางชนิด ยาขับปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมาก ก็อาจทำให้ปัสสาวะไม่ทันได้ นอกจากนี้ยังมีภาวะปัสสาวะไม่สะดวกเรื้อรัง ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ

4. การหกล้ม

     โดยเฉพาะเพศหญิง อัตราการหกล้มสูงถึง 30% ในแต่ละปี และสัดส่วนจะสูงขึ้นตามอายุการทรงตัวจะเสียไป และทำให้เซ่ได้ง่ายในผู้สูงอายุ ทำให้หกล้มได้ง่าย สาเหตุทำให้เกิดการหกล้ม เช่น เลือดไหลเวียนสมองน้อยลง อัมพาต ปอดบวม หัวใจขาดเลือด การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นลื่น เป็นต้น ยาและแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุเสริมที่พบได้บ่อย นอนไม่หลับปัสสาวะไม่ทัน เท้าและอาการบวมก็เป็นปัญหาได้

5. การเคลื่อนไหวลำบาก

เนื่องจากการปวดอ่อนแอ การเสียการทรงตัว และปัญหาทางจิต ทำให้ผู้สูงอายุต้องนอนอยู่เฉย ๆ ภาวะทุพโภชนาการ ความผิดปกติของเกลือแร่ โลหิตจาง ระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อ นอกจากนี้อาจมีสาเหตุร่วมจากโรคทางข้อ เช่น รูมาตอยด์ เกาต์ โรคพาร์กินสัน และยารักษาโรคจิต อาการเจ็บปวดจากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้สูงอายุไม่อยากเคลื่อนไหวได้

6. ผลกระทบจากการใช้ยา

    ด้วยเหตุผลหลายประการ ทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสจะมีผลข้างเคียงจากการใช้ยามากกว่าคนทั่วไป 2 – 3 เท่า การกำจัดของเสียในร่างกายช้าลงมาก เนื่องจากการทำงานของไตและตับเสื่อมลง การตอบสนองต่อยาก็ต่างจากคนทั่วไป เช่น ไวต่อตระกูลฝิ่นและยาต้านการแข็งตัวของเลือด

        ผู้ป่วยสูงอายุอาจมีภาวะผิดปกติหลายอย่างจึงมีโอกาสได้รับยาหลายขนาน ทั้งที่แพทย์สั่งและซื้อกินเอง โอกาสเกิดผลข้างเคียงจึงมากขึ้น ดังนั้นการเลือกใช้ยาเท่าที่จำเป็นและอย่างเหมาะสมจึงจำเป็นมากเพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียดังกล่าว

โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

  •  โรคอ้วน
  •  โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคข้อเสื่อม
  • โรคหัวใจขาดเลือด
  • โรคสมองเสื่อม
  • โรคซึมเศร้า
  • อาการวิตกกังวลและนอนไม่หลับ
  • โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ท้องอืด ท้องผูก

ปี 2565 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

  • กรุงเทพฯ สูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 20
  • ประชากรผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ
  • ปี 2560-2565 พบว่าคนชราเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 คน
  • 5 เขตใน กทม. ที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด

บางแค 43,440 คน

บางเขน 38,353 คน

สายไหม 37,557 คน

จตุจักร 36,954 คน

จอมทอง 34,387 คน

  • 5 เขตที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุด

สัมพันธวงศ์ 34.98%

พระนคร 32.21%

ป้อมปราบฯ 32.1%

ดุสิต 29.13%

บางกอกน้อย 29.03%

จำนวนผู้สูงอายุใน กทม. รวมทุกเขต

  • 2550 ผู้สูงอายุ 604,646 คน สัดส่วน 10.5%
  • 2560 ผู้สูงอายุ 1,034,145 คนสัดส่วน 18.1%
  • 2561 ผู้สูงอายุ 1,077,328 คน สัดส่วน 18.9%
  • 2562 ผู้สูงอายุ 1,121,701 คนสัดส่วน 19.7%
  • 2563 ผู้สูงอายุ 1,140,511 คน สัดส่วน 20.4%
  • 2564 ผู้สูงอายุ 1,171,900 คน สัดส่วน 21.1%
  • 2565 ผู้สูงอายุ 1,194,171 คน สัดส่วน 21.6%

ค่าใช้จ่ายดูแลผู้สูงอายุ

  • ค่าใช้จ่ายดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน 120,000 บาท/ปี
  • ค่าใช้จ่ายดูแลผู้สูงอายุติดเตียงอยู่ที่ 230,000 บาท/ปี
  • ค่าใช้จ่ายรวมดูแลผู้สูงอายุปี 2560 อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท/ปี
  • คาดการณ์ปี 2590 จะเพิ่มเป็น3.4 แสนล้านบาท/ปี