กลุ่มปตท.เล็งเปิดตัว “มณีแดง” สารช่วยชะลอวัย

กลุ่มปตท.เล็งเปิดตัว “มณีแดง” สารช่วยชะลอวัย

กลุ่มปตท.เล็งเปิดตัวสารชะลอวัย “มณีแดง” เจาะกลุ่มความงาม-สูงวัย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย จ่อทดสอบกับมนุษย์ปีหน้า

แหล่งข่าวจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กำลังเดินตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท.ในการก้าวสู่ธุรกิจใหม่ ทั้งเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ (opportunity) และแก้จุดบกพร่อง หรือ pain point ของประเทศไทย

ล่าสุดอินโนบิกเตรียมที่จะเปิดตัวสารชะลอวัย โดยอาจจะใช้ชื่อว่ามณีแดง จากการให้ทุนคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตสารมณีแดง โดยจะเป็นสารที่ทำให้ช่วยในเรื่องของชะลออายุให้น้อยลง ที่ไม่ใช่เสต็มเซลล์ แต่มณีแดงจะเข้าไปในระดับ DNA ช่วยกลุ่มคนที่รักความสวยความงาม หากจะเปรียบเทียบง่ายๆ คือ ทำไมมนุษย์เราถึงมีความชรา เนื่องจากเซลล์ในร่างกายทำงานไม่ดี นอนไม่หลับ อาหารไม่ย่อย ซึ่งมณีแดงจะช่วยซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ในร่างาย

หากเซลล์เสื่อมสภาพ การสั่งการก็จะเสื่อม เพราะ DNA เสื่อม ทั้งข้อต่อ เมื่ออายุมากขึ้นก็จะหลุด ไม่แข็งแรง สั่งการไม่ดี ยาตรงนี้เมื่อฉีดเข้าไปจะช่วยซ่อมข้อต่อ DNA ทันที ให้กลับมากระชับ จัดการทุกระบบในร่างกายได้หมด โดยผ่านทดลองในหนูแก่แล้ว พบว่ามีความกระตือรือร้นดีขึ้น ความจำดี ช่วยให้หน้าท้องหายไป เชื่อว่าผู้หญิงจะชอบแน่นอน ซึ่งมณีแดงจะเป็นสารเคมี ที่ทดลองผ่านหนูแล้ว และคิดค้นมาแล้วเกือบ 20 ปี ต่อไปจะทดลองกับลิงถ้าผ่านลิงแล้ว ปีหน้าสามารถทดลองกับคนได้ และจะพัฒนาไปในระดับการรักษาโรคมะเร็งต่อไป”

นอกจากนี้ ปตท.จะเป็นพันธมิตรเพื่อสร้างระบบนิเวศ หรือ ecosystem ของวิทยาการการแพทย์นี้ขึ้นมา เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศ ปัจจุบันไทยผลิตได้เพียงยาสามัญแต่ต้องนำเข้ายาที่มีราคาสูง 70-80% เพนพอยต์ไทยยังขาดสายป่านยาว หรือระบบอย่างเพียงพอ อินโนบิกสามารถผลิตยาบางชนิดได้ แต่ยังต้องนำเข้าสารประกอบสำคัญ หรือมีแต่กระบวนการสกัดแต่ยังขาดกระบวนการทดสอบเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งอินโนบิกมีหน้าที่เติมเต็มอีโคซิสเต็มเหล่านี้

โดย 4 กลุ่มสินค้าเป้าหมายของอินโนบิก จะโฟกัส 4 กลุ่มสินค้า คือ

1.ยา เน้นในเรื่องของยาชีววัตถุ ที่เป็นยาสามัญไม่มีสิทธิบัตร สำหรับโรคที่ไม่ติดต่ออย่างมะเร็งก่อน

2.อาหารอนาคต (future food) โภชนาการ (nutrition) หรืออาหารเป็นยา

3.อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ ที่เป็นผลพลอยได้จากปิโตรเคมี และ 

4.ระบบการวินิจฉัยโรค ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังระบบการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ