เช็ก สิทธิคนไทย เข้าถึงการรักษา "เอชไอวี-เอดส์" เนื่องในวันเอดส์โลก

เช็ก สิทธิคนไทย เข้าถึงการรักษา "เอชไอวี-เอดส์" เนื่องในวันเอดส์โลก

1 ธันวาคม เนื่องใน "วันเอดส์โลก" พบว่า ไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ราว 520,000 คน ขณะเดียวกัน 3 กองทุน ไม่ว่าจะบัตรทอง ข้าราชการ หรือ ประกันสังคม ได้มีสิทธิประโยชน์สำหรับคนไทยให้เข้าถึงการป้องกันและรักษาอย่างเท่าเทียม

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) เพื่อสร้างความตระหนักให้กับประชาชนทุกประเทศทั่วโลก ร่วมกันรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอดส์ และเป็นการย้ำเตือนว่า เอชไอวี หรือ โรคเอดส์ ยังคงอยู่

 

UNAIDS มีการกำหนดแนวคิดการณรงค์วันเอดส์โลก ในปี 2565 ว่า “Equalize ทำให้เท่าเทียม” คือ สิทธิการเข้าถึงการตรวจ การคัดกรอง การได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกันทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งประเทศไทยได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ปี 2560 – 2573 มีเป้าหมาย คือ ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา โดยจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่เกิน 1,000 คนต่อปี ลดการเสียชีวิต ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่เกิน 4,000 รายต่อปี และลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะลง เหลือไม่เกินร้อยละ 10

 

ผู้ติดเชื้อเอชไอวีราว 5.2 แสนคน

 

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค เผยว่า ประเทศไทยในปี 2564 คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ประมาณ 6,500 คน/ปี (เฉลี่ย 18 คน/วัน) ผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ 9,300 ราย/ปี (เฉลี่ย 26 ราย/วัน) และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ ประมาณ 520,000 คน โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ ร้อยละ 97 เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน

 

นอกจากนี้ จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (Multiple Indicator Cluster Survey: MICS) ในปี 2562 พบว่า คนไทยมีทัศนคติการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 26.7 ซึ่งยังสูงกว่าเป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ปี พ.ศ.2573 ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ ทั้งด้านการป้องกันและการดูแลรักษา

 

 

ดังนั้น การขับเคลื่อนสังคมไทยภายใต้แนวคิด “Equalize : ทำให้เท่าเทียม” ได้มุ่งเน้นการจัดบริการเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการป้องกัน การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และบริการรักษาด้วยยาต้านไวรัส จนสามารถกดไวรัสได้สำเร็จ โดยการสร้างความตระหนัก และความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า “เอดส์เป็นเรื่องปกติ”

 

ทุกบริการที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวี/เอดส์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงและการใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกัน การกล้าที่จะตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี รวมไปถึงการเข้ารับบริการดูแลรักษาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย อย่างเท่าเทียม นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคม และดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

 

อย่างไรก็ตาม การทำให้เกิดความเท่าเทียมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี/เอดส์นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งผู้รับบริการ ผู้จัดบริการ ภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม รวมไปถึงความร่วมมือจากองค์กรทุกระดับ ชุมชน สังคม และนโยบายระดับประเทศ อันจะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และได้รับบริการที่ทั่วถึง เท่าเทียม ครอบคลุม และเหมาะสม นำไปสู่ความเท่าเทียมเพื่อมุ่งสู่การยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทย ภายในปี 2573 ต่อไป

 

 

 

สิทธิประโยชน์ บัตรทอง 

 

สำหรับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปีนี้ ได้ร่วมรณรงค์ “ทำให้เท่าเทียม” (Equalize) ขับเคลื่อน 4 ประเด็น ได้แก่ ลดตีตรา/เลือกปฏิบัติ ส่งเสริมใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เข้าถึงชุดตรวจ HIV Self-Test และส่งเสริมบริการเอชไอวีโดยชุมชน เพิ่มองค์กรประชาสังคมด้านเอชไอวีเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง มุ่งบรรลุยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยยุติปัญหาเอดส์ฯ โดยตลอด 17 ปี สิทธิประโยชน์ดูแลผู้ติดเชื้อ/เอดส์ บัตรทอง สร้างความเท่าเทียม เข้าถึงบริการเอชไอวีครอบคลุมทุกมิติ ปี 2565 มีผู้ติดเชื้อฯ เข้าถึงยาต้าน 3 แสนคน

 

ทั้งนี้ ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ได้บรรจุสิทธิประโยชน์ “การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์” เริ่มตั้งปีงบประมาณ 2549 เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยขณะนั้นคาดว่ามีประมาณ 6 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ต้องได้รับยาต้านไวรัสราว 50,000 คน เพื่อให้เข้าถึงการรักษาและบริการอย่างเท่าเทียม

 

ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเอชไอวีและเอดส์เป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรง มีผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลจึงจัดสรรงบประมาณ 2,796.2 ล้านบาท ให้ สปสช. ดำเนินการดูแลโดยแยกจากงบเหมาจ่ายรายหัว

 

การพัฒนาสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำอย่างต่อเนื่องร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เป็นต้น ส่งผลให้สิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ครอบคลุมทุกๆ ด้านและทุกๆ มิติ ตั้งแต่บริการตรวจหาเชื้อเอชไอวี บริการรักษาพยาบาล และบริการป้องกัน เกิดการเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

 

เริ่มตั้งแต่สิทธิประโยชน์ยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานภายหลังการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) โดยกระทรวงสาธารณสุข ขยายบริการยาต้านไวรัสโดยไม่จำกัดระดับภูมิคุ้มกัน (CD4) ให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก

  • บริการให้การปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ (VCT) ทุกสิทธิฟรีปีละ 2 ครั้ง
  • บริการยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP)
  • บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ (HIV PEP)
  • บริการคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซีในผู้ติดเชื้อฯ และนำเข้าสู่การรักษา
  • บริการเอกซเรย์ปอดคัดกรองวัณโรคในผู้ติดเชื้อฯ รายใหม่ทุกราย
  • บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการตรวจเลือดและดูแลรักษา (RRTTPR)
  • บริการถุงยางอนามัย
  • ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมบริการของศูนย์องค์รวมในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชเอไอวีและผู้ที่มีภาวะเสี่ยงฯ ร่วมกับโรงพยาบาล

 

ข้อมูลปี 2565 (30 ก.ย. 65)

 

  • มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์รับยาต้านไวรัสในระบบ (National AIDS Program NAP) 297,022 คน
  • กลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี 119,756 คน
  • ศูนย์องค์รวมจัดกิจกรรมในการดูแลผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงคู่ผลเลือดต่าง 68,369 คน
  • บริการยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเสี่ยง (PrEP) 10,074 คน
  • ในปีงบประมาณ 2566 สปสช.จัดสรรงบประมาณ 3,978.5 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนสิทธิประโยชน์บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ทั้งหมด

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

1.สายด่วน สปสช. 1330

2.ช่องทางออนไลน์

 

สิทธิประกันสังคม

 

สำหรับ สำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. ได้ให้ความคุ้มครองกับผู้ประกันตนที่ติดเชื้อ HIV และผู้ที่เป็นโรคเอดส์ AIDS ทั้งในด้านของการตรวจทางร่างกายและการรับยาต้านไวรัส HIV เพียงเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ประกันตนเลือกเป็นสถานพยาบาลหลักเท่านั้น

 

ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการ ทางสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับสถานพยาบาลตามสิทธิของผู้ประกันตนในด้านต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย

1. การตรวจหาค่า CD4 เหมาจ่ายครั้งละ 500 บาท ให้สิทธิประโยชน์ปีละไม่เกิน 1,000 บาท/คน

2. ค่าตรวจ Viral Load เหมาจ่ายครั้งละ 2,500 บาท ให้สิทธิประโยชน์ปีละไม่เกิน 5,000 บาท/คน

3. ค่าตรวจ Drug resistance ครั้งละ 8,500 บาท/คน/ปี

 

นอกจากนี้ ยังดูแลในส่วนของค่ายาต้านไวรัส HIV ให้แก่ผู้ประกันตน ที่มีสิทธิตามข้อกำหนด ดังนี้

1. ให้ยาต้านไวรัส HIV ในผู้ติดเชื้อทุกราย และในทุกระดับ CD4

2. มีการพิจารณาเริ่มยาต้านไวรัสในผู้ติดเชื้อ HIV และการเลือกสูตรยาต้านไวรัส ให้เป็นไปตามแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยสถานพยาบาลสามารถเลือกใช้ยาต้านไวรัสได้ตามรายการที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

 

สามารถสอบถามเพิ่มเติม โดยแอดไลน์ได้ที่ LINE OFFICIAL ACCOUT @ssothai หรือ เว็บไซต์: www.sso.go.th หรือโทร. สายด่วน: 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

สิทธิข้าราชการ

 

  • ข้าราชการทุกหน่วยงานเบิกจ่ายตรงกับโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้
  • ครอบคลุมบริการตามระบบปกติ
  • โดยการรักษาเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

 

ขณะเดียวกัน ในปีที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาล สำหรับผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี และป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังที่มีความจำเป็นต้องล้างไต

  • ให้มีสิทธิได้รับค่าฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่สถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลเอกชน ครั้งละไม่เกิน 4,000 บาท
  • เพิ่มจากปกติที่เบิกจ่ายได้ไม่เกินครั้งละ 2,000 บาท เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล

 

สอดคล้องกับสิทธิของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ได้มีการปรับอัตราการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ เนื่องจากข้อร้องเรียนของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ที่ระบุว่าผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2564 เป็นต้นไป

ตรวจสอบสถานพยาบาลและประเมินค่าใช้จ่าย เว็บไซด์กรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th

 

ป้องกันเอดส์ จากแม่สู่ลูก

 

สำหรับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก โดยได้รับรางวัลจาก “องค์การอนามัยโลก” ในเวทีการประชุม Global Validation Advisory Committee ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ในการประกาศความสำเร็จดังกล่าวเป็นครั้งที่ 3 นับจากครั้งที่ 1 เมื่อปี 2559 และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2561 โดยประเทศไทยยังคงรักษาคุณภาพในการดำเนินงานเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิดที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีให้ต่ำกว่าร้อยละ 2

 

สามารถป้องกันเด็กที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีขณะตั้งครรภ์ได้ปีละประมาณ 3,500 คน ทำให้มีเด็กทารกที่ติดเชื้อเอชไอวีต่ำกว่า 50 รายต่อปี ด้วยความเข้มแข็งของระบบบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะงานอนามัยแม่และเด็กมีการดำเนินงานที่มีคุณภาพครอบคลุมสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัยมานานกว่า 50 ปี

 

ทั้งนี้ การลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกต้องอาศัยความร่วมมือครอบครัว ชุมชน สังคม และสร้างความเท่าเทียม โดยสนับสนุน หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด รวมทั้งลูกและครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวีให้ได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง คือ

 

1) ฝากครรภ์โดยเร็วก่อน 12 สัปดาห์ เพื่อได้รับการดูแลสุขภาพตนเองและลูกในครรภ์

2) รับการปรึกษาพร้อมสามี เพื่อตรวจหาโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และตรวจหา การติดเชื้อเอชไอวี

3) หากหญิงตั้งครรภ์และคู่มีผลการตรวจเลือดเอชไอวีเป็นบวก จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมโดยหญิงตั้งครรภ์จะได้รับยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ประสิทธิภาพสูง (HAART) เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี จากแม่สู่ลูก

4) เด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ประสิทธิภาพสูง เพื่อป้องกัน การติดเชื้อ และได้รับนมผสมเพื่อทดแทนนมแม่นานถึง 18 เดือน