เหนือ-อีสาน ระวัง! "ภาวะตัวเย็นเกิน" เสี่ยงหัวใจ-สมองทำงานผิดปกติ ถึงตาย

เหนือ-อีสาน ระวัง! "ภาวะตัวเย็นเกิน" เสี่ยงหัวใจ-สมองทำงานผิดปกติ ถึงตาย

ชวนรู้จัก “ภาวะตัวเย็นเกิน”  กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนอากาศหนาวต้องระวัง เสี่ยงหัวใจและสมองทำงานผิดปกติ อันตรายถึงเสียชีวิตได้ แนะหลีกเลี่ยงการแช่น้ำและสวมเสื้อผ้าเปียกชื้นเป็นเวลานาน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยอุณหภูมิเริ่มลดลง ส่งผลให้มีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชาชนอาจมีอาการ “ภาวะตัวเย็นเกิน” หรือ “ไฮโปเธอร์เมีย (Hypothermia)”

  •  เป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิลดต่ำเกิน
  •  เป็นผลมาจากการสัมผัสถูกความหนาวเย็นระยะเวลานาน เช่น อยู่ในอากาศหนาว หรือแช่ในน้ำที่เย็นจัด
  • ทำให้ร่างกายสูญเสียกลไกการปรับอุณหภูมิ ไม่สามารถสร้างและเก็บความร้อนในร่างกายได้
  • ส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำกว่า    35 องศาเซลเซียส
  • เป็นเหตุให้อวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมองทำงานผิดปกติ
  • ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงไปจนถึงเสียชีวิตได้

    ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่น พูดอ้อแอ้ เดินเซ งุ่มง่าม อ่อนเพลีย ง่วงซึม หงุดหงิด สับสน ความสามารถในการคิดและตัดสินใจน้อยลง หากอุณหภูมิร่างกายยังลดต่ำอย่างต่อเนื่องผู้ป่วยจะหยุดสั่น มีอาการเพ้อคลั่ง ไม่ค่อยรู้สึกตัว หมดสติและหยุดหายใจในที่สุด

    ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

เสียชีวิตจากอากาศหนาว

กรมควบคุมโรค ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ในช่วงฤดูหนาวตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 - 1 มีนาคม 2565 พบว่า

  •  มีผู้ป่วยเข้านิยามเฝ้าระวังทั้งสิ้น 10 ราย
  •  มีรายงานผู้เสียชีวิตสูงสุดในช่วงเดือนธันวาคม 5 ราย (ร้อยละ 50)
  • รองลงมา คือ เดือนมกราคม 3 ราย (ร้อยละ 30) และเดือนกุมภาพันธ์ 2 ราย (ร้อยละ 20)
  • เป็นเพศชาย 9 ราย หญิง 1 ราย อายุระหว่าง 38-75 ปี อายุเฉลี่ย 56.5 ปี มัธยฐาน 57 ปี
  • เสียชีวิตภายนอกบ้านจำนวน 6 ราย (เสียชีวิตในสถานที่ที่ไม่สามารถป้องกันความหนาวได้ เช่น บริเวณแคร่หน้าบ้าน กระท่อมในทุ่งนา ใต้ถุนบ้าน) และในบ้าน 4 ราย

    ลักษณะบ้านพักอาศัยส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้และมีช่องทางลมเข้าออก ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

มีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ 4 ราย

ไม่สวมใส่เสื้อผ้า หรือมีเครื่องนุ่งห่มที่ไม่เพียงพอ 6 ราย

มีโรคประจำตัวหรือมีความพิการทางร่างกาย 4 ราย ได้แก่ โรคเบาหวานร่วมกับความดัน 1 ราย โรคหอบหืด โรคระบบทางเดินอาหารตอนบน และอัมพฤกษ์ 1 ราย เท่ากัน

ปฐมพยาบาลผู้ป่วยภาวะตัวเย็นเกิน

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากพบผู้ป่วยที่มีภาวะตัวเย็นเกิน (ไฮโปเธอร์เมีย) ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยวิธีที่ถูกต้อง ดังนี้

 1.พาผู้ป่วยหลบอากาศและลมที่หนาวเย็น หรือขึ้นจากน้ำเย็น และพาเข้าไปยังห้องที่มีความอบอุ่นและไม่มีลมพัดเข้า

  2.หากผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าเปียกน้ำควรปลดออกและเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่แห้งและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

 3.เพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายด้วยการใช้ผ้านวม/ผ้าห่มห่อคลุมตัว หรือสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ ในกรณีที่จำเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง ควรสวมเสื้อผ้าคลุมถึงหน้าและศีรษะ เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อน นอกจากนี้อาจนอนกอดหรือแนบชิดร่างกายผู้ป่วย เพื่อถ่ายเทความร้อนให้ผู้ป่วยได้    

  4. ให้ผู้ป่วยนอนนิ่งๆ ในท่านอนหงายบนพื้นที่อบอุ่นหรือมีผ้าหนาๆ ปูรอง หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่จำเป็น ห้ามนวดหรือแตะต้องตัวผู้ป่วยแรงๆ เนื่องจากอาจกระเทือนส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นได้ 

5.หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอุ่นๆ ห้ามให้ผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์เด็ดขาด เพราะแอลกอฮอล์ไม่สามารถให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายได้ตามความเชื่อผิดๆ แต่จะยิ่งทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนออกไปมากขึ้น 

6.หากผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วเบา ให้ทำการกู้ชีพ และโทรสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

คำแนะนำช่วงอากาศหนาว

คำแนะนำในการป้องกันการเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาวเย็น มีข้อควรปฏิบัติดังนี้

 1) สวมใส่เสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ห่มผ้าห่มหรือผ้านวมหนาๆ หรือผิงไฟให้ความอบอุ่น

 2) หลีกเลี่ยงการอยู่ในน้ำเย็นหรือสวมเสื้อผ้าที่เปียกเป็นระยะเวลานาน

 3) หลีกเลี่ยงการออกไปสัมผัสอากาศหนาวหรือลมหนาวนอกบ้าน หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นเพียงพอครอบคลุมศีรษะไปถึงหน้า และใส่ถุงมือถุงเท้า  

4) ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เพื่อแก้หนาว เพราะจะทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ความร้อนจะถูกระบายออกจากร่างกายมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง ยิ่งดื่มมากอุณหภูมิในร่างกายก็ยิ่งลดลงมาก หากปล่อยให้อุณหภูมิต่ำลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายกล้ามเนื้อจะเกร็งตัวจนนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะเซลล์สมองตายเนื่องจากภาวะหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด

 5) ในช่วงที่อากาศหนาวเย็น คนใกล้ชิดควรดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นพิเศษ