วิธีเลือก “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”อย่างไรให้ได้มาตรฐาน ในยุคหลังโควิด-19

วิธีเลือก “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”อย่างไรให้ได้มาตรฐาน ในยุคหลังโควิด-19

ยุคหลังโควิด-19 ประชาชนให้ความสำคัญและใส่ใจต่อการดูแลสุขภาพมากขึ้น อาจทำให้ตลาดของผลิตภัณฑ์สุขภาพเติบโตด้วย โดยเฉพาะ “อาหารเสริม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องเฝ้าระวังและรู้เท่าทัน ผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย จะได้ไม่หลงเชื่อจนทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

 แม้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและอนุญาตผลิตภัณฑ์ โดยจะมีเลขอนุญาตที่บรรจุภัณฑ์ แต่ในบางครั้งก็หวังพึ่งเฉพาะการดูเลข อย.เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากบ่อยครั้งที่พบว่ามีการแอบใส่ “เลขปลอม”
      ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลการได้รับอนุญาต ได้ทางเว็บไซต์ของ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ หรือหากมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556

ขณะที่ มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค(สอบ.) ให้มุมมองว่า การเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพของสภาฯที่ผ่านมา พบปัญหาหลักในส่วนของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในประเด็นเรื่องของการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ด้วยการบอกว่า “รักษาโรคนั้นโรคนี้ได้” ทั้งที่เป็นเพียงอาหารหรืออาหารเสริม แต่อ้างสรรพคุณรักษาโรคได้ เท่ากับผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังพบประเด็นเรื่องการแอบลักลอบใส่สารหรือตัวยาที่ห้ามใช้ด้วย ซึ่งปัจจุบันก็ยังเจอปัญหาเหล่านี้ ทั้งโฆษณาลดอ้วนลดน้ำหนัก ผิวขาวภายใน 7 วัน และรักษาโรคต่างๆ  

 สอดคล้องกับ ข้อมูลจากการรับเรื่องร้องเรียนมายังสอบ. จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด13,808 เรื่อง ใน 10 ด้าน ซึ่งด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นอันดับ 4 จำนวน 841 เรื่อง แยกย่อนเป็น อื่นๆ 218 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 145 เรื่อง ไม่ระบุ 124 เรื่อง อาหารและยา 2 เรื่อง โดย 5อันดับแรกคือ ด้านการเงินและการธนาคาร ,ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ,ด้านบริการสุขภาพ และ ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ
        ขณะที่ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 สิ่งที่พบปัญหามากที่สุด คือ ผลิตฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นพืชสมุนไพร โดยมีการขายและโฆษณาอวดอ้างเกินจริงระบุว่าสรรพคุณรักษาโควิด-19ได้ทันที และสภาฯมีการตรวจสอบด้วยว่าการผลิตฟ้าทะลายโจรที่มีฤทธิ์ทางยานั้นตรงตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งก็พบว่า การผลิตปลอม คือใช้ผงหรือแป้งอื่นที่ไม่มีตัวยาของฟ้าทะลายโจร
      รวมถึง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการแอบอ้างสรรพคุณรักษาโควิด-19 หรือการเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มของวิตามินซี ที่ระบุว่าสามารถป้องกันโควิดได้ เป็นต้น  

  วิธีเลือก “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”อย่างไรให้ได้มาตรฐาน ในยุคหลังโควิด-19

     การป้องกันปัญหาและคุ้มครองผู้บริโภคที่ผ่านมา เมื่อสอบ.มีการเฝ้าระวังและพบผลิตภัณฑ์ที่กระทำผิดกฎหมาย จะมีเวทีคุยกับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะ อย.เพื่อตรวจสอบและแจ้งเตือน หากพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม หรือโฆษณาเกินจริง และร่วมมือกับบก.ปคบ.ในการเข้าจับกุม รวมถึง ประสานความร่วมมือกับ Market place ทั้งลาซาดา ชอปปี้ ในการที่จะมีระบบเฝ้าระวังและแจ้งเอาสินค้าออกจากหน้าร้าน เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีการใช้ช่องทางนี้ในการขายออนไลน์มาก โดยมีการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อเกินจริง แต่ก็ยอมรับว่า ยังประสบปัญหา แม้จะประกาศปิดร้านนั้นแล้ว ก็จะมีการตั้งขึ้นมาใหม่ จึงกำลังหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน

ทั้งนี้ ในยุคหลังโควิด-19 มลฤดี เชื่อว่า จะมีการลักลอบและทะลักของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฎหมายมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการขายออนไลน์ที่มีหลากหลายรูปแบบและแข่งขันกันมาก ทั้งในระบบ E-market place และโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะส่งถึงผู้บริโภคในวงกว้าง จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องผนึกกำลังอย่างจริงจังในการสกัดกั้นผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย
      ข้อเสนอถึงภาครัฐและเอกชน คือ การส่งต่อข้อมูลของเครือข่ายเฝ้าระวังต้องรวดเร็ว และจักการตามกฎหมายทันที โดยมีการเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณะด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการหวั่นเกรง และขอให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงการทำธุรกิจบนความคุ้มครองผู้บริโภค อย่าขายสินค้าที่เป็นอันตรายและไม่ถูกกฎหมาย เป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ดี

     สิ่งสำคัญที่สุด ผู้บริโภคเองจะต้องรู้เท่าทัน มลฤดี แนะนำในการพิจารณาเบื้องต้น ได้แก่ 1.ตระหนักว่าหากมีการโฆษณาเกินจริง ในลักษณะรักษาโรค อย่าหลงเชื่อ
2.สังเกตบรรจุภัณฑ์ต้องมีเลขอย. 13 หลัก

3.ต้องมีการระบุผู้ผลิตชัดเจน สามารถตามตัวได้
4.นำเลขอย./ผู้ผลิตมาตรวจสอบในเวบไซต์อย.อีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่เลขอย.ปลอม หรือเป็นเลขที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว
5.ตรวจเช็คผลิตที่อย.เพิกถอนอนุญาตในเวบไซต์อย.อยู่เสมอ
และ6.หากพบเจอโฆษณาเกินจริงให้ร้องเรียนสอบ. หรืออย.