"มะเร็งเต้านม" ตรวจพบเร็ว รักษาทัน มีโอกาสหายขาดสูง

"มะเร็งเต้านม" ตรวจพบเร็ว รักษาทัน มีโอกาสหายขาดสูง

"มะเร็งเต้านม" เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย มีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 30-40 คนต่อวัน เสียชีวิตวันละ 10 คน หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในทุกๆ วัน แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งรู้ช้า และหรือรักษาช้า

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย ปัจจุบันพบผู้ป่วยรายใหม่วันละ 30-40 คน และมีผู้เสียชีวิตวันละ 10 คน ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตถือเป็นตัวเลขที่น่ากังวล กล่าวคือจำนวนผู้เสียชีวิตคิดเป็น 25% ของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในทุกๆ วัน แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งรู้ช้า และหรือรักษาช้า 

 

และแม้ว่าสถิติผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ คือ เพศหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเริ่มมีอายุลดลง บางรายตรวจพบทั้ง ๆ ที่มีอายุเพียง 20 กว่าปีเท่านั้น ทั้งนี้ ตุลาคม เป็นเดือนแห่งการ รณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านมสากล ซึ่งองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกจะร่วมใจกันออกมากระตุ้นเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงภัยร้ายของ มะเร็งเต้านม

 

วิธีที่จะลดการสูญเสียชีวิตจาก โรคมะเร็งเต้านม คือ การตรวจคัดกรอง ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้เราตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะต้น ๆ แต่ถ้าใครตรวจพบว่าเป็นมะเร็งก็ไม่ต้องเสียกำลังใจ เพราะปัจจุบันมี ทางเลือกในการรักษา ที่ช่วยให้ผลการรักษาดีกว่าเดิม ตอบโจทย์ความต้องการของคนไข้มากขึ้น ซึ่งแพทย์เฉพาะทางจาก โรงพยาบาลนวเวช ได้มาบอกเล่ารายละเอียดในเรื่องนี้ เป็นข้อมูลดี ๆ ที่นำมาฝากกันในเดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านม

 

\"มะเร็งเต้านม\" ตรวจพบเร็ว รักษาทัน มีโอกาสหายขาดสูง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"มะเร็งเต้านม" อันดับ 1 ในหญิงไทย คัดกรอง รู้เร็ว รักษาทัน

‘มะเร็งเต้านม’ มากกว่ารักษาคือป้องกัน แล้วจะป้องกันอย่างไร

 

ผู้หญิงควรตรวจมะเร็งเต้านมทุกปี

 

พญ.ชุตินันท์ วัชรกุล แพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยาวินิจฉัย และรังสีร่วมรักษาของเต้านม ศูนย์รังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลนวเวช กล่าวว่า ผู้หญิงควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทุกปี ซึ่งแพทย์จะตรวจด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมตามอายุ โดยแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์คู่กัน เนื่องจากแมมโมแกรมใช้ดูหินปูน ลักษณะการดึงรั้งของเต้านม ส่วนอัลตราซาวด์ใช้ดูถุงน้ำ และก้อนเนื้อ การตรวจคู่กันทั้ง 2 วิธี จะทำให้ได้ผลแม่นยำมากยิ่งขึ้น ส่วนคนอายุน้อยกว่า 35 ปี และไม่มีอาการ แนะนำให้ตรวจด้วยอัลตราซาวด์ก่อน

 

“สิ่งสำคัญ คือ ควรตรวจกับแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะอัลตราซาวด์ที่ต้องอาศัยความชำนาญการในการแปลผล ซึ่งที่นวเวชมีแพทย์รังสีด้านเต้านมโดยเฉพาะ และใช้เครื่องมือที่ทันสมัย โดยการตรวจแมมโมแกรมจะใช้เครื่อง Tomosynthesis ซึ่งสามารถถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านมได้ทั้ง 2 มิติและ 3 มิติ พร้อมกันในครั้งเดียว โดยใช้เวลาประมาณ 10 วินาทีต่อการถ่าย 1 ภาพ ให้ภาพคมชัดกว่า"

 

"ให้ผลการตรวจวินิจฉัยที่ละเอียด แม่นยำ เพราะสามารถตรวจรายละเอียดภายในเนื้อเต้านมได้ทั้งหมด แยกก้อนเนื้องอกธรรมดาและก้อนเนื้อที่เป็นมะเร็งเต้านมได้อย่างชัดเจน และยังแยกความแตกต่างของไขมัน เนื้อเยื่ออื่น ๆ รวมทั้งท่อ และต่อมต่าง ๆ ในเต้านม เพื่อค้นหาการจับตัวของแคลเซียมที่มีขนาดเล็กมากที่คาดว่าจะผิดปกติอาจกลายเป็นมะเร็งในอนาคต ทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จึงมีโอกาสรักษาหายขาดสูงมาก”

 

\"มะเร็งเต้านม\" ตรวจพบเร็ว รักษาทัน มีโอกาสหายขาดสูง

 

นอกจากนี้ การทำงานของ Tomosynthesis ใช้แรงบีบไม่มากจึงลดความเจ็บปวดขณะตรวจ และได้รับรังสีในปริมาณที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งหากพบชิ้นเนื้อที่สงสัยยังสามารถเจาะชิ้นเนื้อได้ภายในวันเดียวกับที่ตรวจพบ ถ้ามีเซลล์ผิดปกติก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อ หรือติดตามต่อได้ทันที

 

‘การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม กับทางเลือกที่มากขึ้น’

 

นพ.ปิยศักดิ์ ทหราวานิช แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมเต้านมและเสริมสร้างเนื้อเต้านม ศูนย์ศัลยกรรม (เต้านม) โรงพยาบาลนวเวช กล่าวว่า อยากให้คนที่เป็นมะเร็งเต้านมมีกำลังใจและศรัทธาในการรักษา อยากให้มีมายด์เซ็ตว่ามะเร็งเต้านมรักษาได้ ซึ่งปัจจุบัน สถิติผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะ 0 มีโอกาสหายถึง 99% ระยะที่ 1 โอกาสหาย 90% ระยะที่ 2 โอกาสหาย 80-85%

 

แต่สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มจากการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งจำเป็นต้องมีแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยาวินิจฉัยเป็นผู้ตรวจ แปลผล และบ่งบอกว่ามีรอยโรคอยู่บริเวณใด เมื่อสรุปว่าเป็นเนื้อร้ายก็เข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งนวเวชมีทีมแพทย์สหสาขาที่จะมาพิจารณาร่วมกันว่าคนไข้ควรรักษาตามลำดับขั้นด้วยวิธีใด ผ่าตัด ใช้ยา ฉายแสง หรือเคมีบำบัด

 

“ในการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม เดิมเราทราบว่ามี 2 วิธี คือ การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า และการผ่าตัดแบบสงวนเต้า สำหรับคนที่ไม่ต้องการสูญเสียเต้านม แต่วิธีนี้ต้องมั่นใจว่าเนื้อเต้านมที่เหลือไม่มีรอยโรคที่ต้องสงสัย และหลังผ่าตัดแล้วยังมีเนื้อเต้านมเป็นทรงอยู่ นอกจาก 2 วิธีนี้แล้ว ปัจจุบันมีทางเลือกในการผ่าตัดมากขึ้น เช่น ถ้าก้อนเนื้อใหญ่ ซึ่งควรตัดออกทั้งเต้า แต่คนไข้ต้องการสงวนเต้า ก็ทำได้ โดยให้ยาเพื่อลดขนาดก้อนลงก่อน เพื่อให้ผ่าตัดแล้วยังเหลือเนื้อเต้านมอยู่"

 

"หรือกรณีมีรอยโรคหลายจุดซึ่งจำเป็นต้องตัดทั้งเต้า แต่คนไข้ต้องการสงวนเต้า ก็จะคว้านเนื้อเต้านมข้างในออก เก็บผิวหนัง หัวนม ลานหัวนม แล้วนำเนื้อเยื่อของคนไข้ เช่น ไขมันหน้าท้อง ใส่เข้าไปแทน หรือใส่ซิลิโคนเข้าไปแทน นอกจากนี้ ยังมีการผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม ซึ่งช่วยลดโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมได้ถึง 95% ทำในกรณีที่ตรวจพันธุกรรมแล้วพบว่ามียีนที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งนวเวชสามารถรักษาได้ทุกวิธีที่กล่าวมา”

 

นพ.ปิยศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดประสงค์ในการรักษามะเร็งเต้านม คือ ทำให้คนไข้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติให้มากที่สุด แต่สิ่งที่ควรทราบ คือ ไม่ว่าจะผ่าตัดเนื้อร้ายแบบสงวนเต้า หรือตัดออกทั้งเต้า ก็มีโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำได้ จึงต้องตรวจติดตามอยู่เสมอตามคำแนะนำของแพทย์

 

\"มะเร็งเต้านม\" ตรวจพบเร็ว รักษาทัน มีโอกาสหายขาดสูง

 

‘แพทย์กับคนไข้วางแผนร่วมกัน เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด’

 

นพ.วิกรม เจนเนติสิน อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยาและเคมีบำบัด ศูนย์เมต้าเวิร์ส (มะเร็งและโรคเลือด) โรงพยาบาลนวเวช กล่าวว่า การใช้ยารักษามะเร็งจะมีความเฉพาะตัวในแต่ละคน บางคนผ่าตัดแล้วรับประทานยาอย่างเดียว บางคนไม่ต้องรับประทานยา บางคนต้องฉีดยาอีกเป็นปี แต่บางคนใช้ยาในช่วงสั้น ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเต้านม

 

“คนไข้บางคนอาจจะบอกว่าไม่ต้องการรับยาเคมีบำบัด เราก็จะดูว่าสาเหตุของโรคของคนไข้คืออะไร สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้หรือไม่ บางเคส เคมีบำบัดอาจไม่จำเป็น ซึ่งปัจจุบัน เราสามารถประเมินได้โดยนำก้อนมะเร็ง และเลือด ไปตรวจ แล้วนำมาคำนวณเป็นคะแนน เพื่อดูว่าถ้าคนไข้ได้รับเคมีบำบัดแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำใน 10 ปีกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อพิจารณาว่าการได้รับเคมีบำบัดมีประโยชน์มากกว่าไม่ได้รับหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ศูนย์เมต้าเวิร์สที่โรงพยาบาลนวเวชมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สามารถวิเคราะห์ออกมาให้ทราบได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้เคมีบำบัด คนไข้ก็ไม่ต้องกังวล เพราะยาเคมีบำบัดในปัจจุบันมีผลข้างเคียงน้อย ช่วยลดการอาเจียน ลดการติดเชื้อ และลดอาการผมร่วงได้ดี”

 

นพ.วิกรม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากยาเคมีบำบัดแล้ว ยังมียาที่ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านมอีกหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านมที่ถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศจะใช้ยาต้านฮอร์โมน เพื่อยับยั้งไม่ให้มะเร็งจับกับฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งเต้านมเติบโตอีก ส่วนกลุ่มที่มีสาเหตุจากยีน Her2 ที่มีอยู่บนเซลล์เต้านม ก็จะให้ยายับยั้งการทำงานของยีน Her2 เพื่อทำให้ก้อนยุบลง และมีโอกาสหายขาดมากขึ้น

 

"นอกจากนี้ ยังมียาพุ่งเป้า หรือยาภูมิคุ้มกันบำบัด ที่เริ่มมีบทบาทในการรักษามากขึ้น ซึ่งในอดีตใช้ยานี้ในระยะแพร่กระจายเพื่อควบคุมโรค แต่ปัจจุบันมีการนำมาใช้ในระยะต้นเพื่อเพิ่มโอกาสการหายขาด กล่าวได้ว่าที่โรงพยาบาลนวเวชมียารักษามะเร็งเต้านมทุกชนิดเทียบเท่าต่างประเทศ โดยแพทย์กับคนไข้และครอบครัวของคนไข้จะวางแผนการรักษาร่วมกัน คนไข้สามารถบอกประเด็นที่กังวล หรือต้องการหลีกเลี่ยงได้ แล้วจึงสรุปออกมาเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดของคนไข้แต่ละคน โดยค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับที่คนไข้เข้าถึงได้

 

 

แม้ว่าสถิติผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ คือ เพศหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเริ่มมีอายุลดลง บางรายตรวจพบทั้ง ๆ ที่มีอายุเพียง 20 กว่าปีเท่านั้น การตรวจคัดกรองจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ หลายคนคิดว่ามะเร็งเต้านมจะเกิดกับเพศหญิงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพศชายก็เป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่สถิติยังอยู่ในระดับต่ำ คือ 1 ใน 100 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

 

ดังนั้น หากมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ควรต้องระวัง หรือควรมาตรวจพันธุกรรม เพื่อเช็คว่ามียีนถ่ายทอดการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ รวมทั้งเพศชายกลุ่ม LGBT ที่ใช้ฮอร์โมนก็มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน