มาตรการเร่งดูแลผู้มี "สิทธิบัตรทอง" กรณี "ยกเลิก 9 รพ. เอกชน"

มาตรการเร่งดูแลผู้มี "สิทธิบัตรทอง" กรณี "ยกเลิก 9 รพ. เอกชน"

"บอร์ด สปสช." รับทราบความคืบหน้า กรณี "ยกเลิกสัญญา 9 รพ. เอกชน" ใน กทม. แนวทางการลดผลกระทบที่เกิดกับประชาชน จัดหาหน่วยบริการรองรับกลุ่มที่นอนรักษาตัวอยู่-กลุ่มนัดผ่าตัด-กลุ่มโรคเรื้อรังที่นัดรักษาต่อเนื่อง ประสาน กทม.-สธ. ดูแลระบบส่งต่อ

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติรับทราบความคืบหน้ากรณียกเลิกสัญญาบริการและหน่วยบริการ (โรงพยาบาล) ทั้ง 9 แห่ง และแนวทางที่ สปสช. จัดเตรียมไว้สำหรับรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยจัดหาหน่วยบริการให้กับกลุ่มที่มีนัดหมายผ่าตัด และกลุ่มโรคเรื้อรังที่มีนัดหมายรักษาต่อเนื่อง และจัดเครือข่ายบริการปฐมภูมิ รวมถึงประสาน กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สธ. รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดูแลด้านระบบส่งต่อ พร้อมทั้งเพิ่มบริการอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องภายหลังพบว่าหน่วยบริการทั้ง 9 แห่ง มีการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง โดยเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2565 ทาง คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับทราบและมีมติให้ สปสช. จัดเตรียมแนวทางและเร่งดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งกับประชาชนที่ลงทะเบียนกับโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง พร้อมทั้งจัดทำแผนขับเคลื่อนการสนับสนุนบริการปฐมภูมิในเขตพื้นที่ กทม. ตลอดจนเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 ทาง สปสช. ได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาไปยังโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง โดยประกอบด้วยสัญญาหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการประจำและหน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ได้แก่ ประชาชนที่ลงทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการประจำ ณ รพ.ที่ยกเลิกสัญญา จำนวน 220,313 คน ซึ่งจะเป็นสิทธิว่าง โดยในจำนวนนี้ พบว่า ในรอบ 1 ปี  มีประชาชนที่รับบริการจำนวน 62,331 คน ซึ่งมีกลุ่มโรคเรื้อรัง 21,135 คน รวมถึงประชาชนที่มาใช้บริการต่อเนื่อง 4 ครั้งต่อปี จำนวน 4,000 คน และประชาชนที่ลงทะเบียนที่ 9 รพ.เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ อีก 475,790 คน  

 

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แนวทางในการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยหลักแล้วจะเป็น กลุ่มที่ยังนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และกลุ่มที่มีนัดหมายผ่าตัด หรือทำหัตถการ รวมถึงกลุ่มโรคเรื้อรังที่มีนัดหมายรักษาต่อเนื่อง โดยทาง สปสช. ได้ขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งในระหว่างที่ สปสช. กำลังจัดหาหน่วยบริการเพื่อรองรับประชาชน ถ้าทางโรงพยาบาลยังมีการให้บริการประชาชนในกลุ่มนี้อยู่ สปสช. จะมีระบบเบิกจ่ายให้

สำหรับการจัดหาหน่วยบริการรองรับ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในกลุ่มที่รับบริการทั่วไป ทั้งบริการปฐมภูมิ รวมถึงบริการรับส่งต่อมีการจัดเครือข่ายบริการเพื่อรองรับผลกระทบ โดยทาง กทม.เป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการระบบบริการใน กทม. ซึ่งในกรณีหน่วยบริการปฐมภูมิจะมีคลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมและร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ที่เป็นหน่วยบริการประจำ (หน่วยบริการแม่ข่าย) ในการให้บริการดูแลรักษา 

 

ด้านหน่วยบริการรับส่งต่อ ผู้ที่จะทำหน้าที่หลักคือโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ที่จะดูแลครอบคลุม 6 พื้นที่ ทั้งหมดใน กทม. โดยมีโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์เป็นส่วนเสริม รวมถึงหากกรณีเกินขีดความสามารถ จะมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ใน กทม. และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในบริเวณพื้นที่ชายขอบ 

 

“นอกจากนี้ตามนโยบายยกระดับ บัตรทอง OP Anywhere หรือ 30 บาทรักษาทุกที่ ในหน่วยบริการปฐมภูมิจะมีการเพิ่มบริการ Telemedicine (โทรเวชกรรม) ใน 41 กลุ่มโรค รวมถึงร้านยาคุณภาพ ครอบคลุม 16 กลุ่มอาการ และ 53 กลุ่มโรค ซึ่งทาง กทม. เป็นพื้นที่นำร่อง” พญ.ลลิตยา กล่าวและว่า สำหรับสายด่วน สปสช. 1330 จะมีกลไกในการรองรับสำหรับกรณีการยกเลิกสัญญา โดย กด 6 รวมถึงจะมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อแจกแจงบริการต่างๆ ทั้งรายประเภท ไปจนถึงการประสานส่งต่อให้กับหน่วยบริการ