กรม สบส. ชู 4 แนวทางป้องกันโรคโควิด-19 เสริมทัพ อสม. หมอคนที่ 1

กรม สบส. ชู 4 แนวทางป้องกันโรคโควิด-19 เสริมทัพ อสม. หมอคนที่ 1

กรม สบส. ชู 4 แนวทางป้องกันโรคโควิด-19 เสริมทัพ อสม. หมอคนที่ 1 ซึ่งมีความใกล้ชิดกับชุมชน และส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการปรับตัว พร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังอย่างปลอดภัย

วันที่ 7 ตุลาคม 2565 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการออกประกาศปรับเปลี่ยนให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 และเพื่อให้ประเทศเดินหน้าทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

 

 

ซึ่งนอกจากพลังของภาครัฐ และเอกชนแล้ว พลังของภาคประชาชนอย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนเกิดการปรับตัว และอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย ด้วย อสม.เป็นแกนนำสุขภาพที่ได้รับการยอมรับจากบุคคลในพื้นที่ อีกทั้งยังมีบทบาทหน้าที่ในฐานะหมอคนที่ 1 หรือหมอประจำบ้าน ตามนโยบาย 3 หมอ ซึ่ง อสม.เป็นหมอที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด รู้ลึก รู้จริงถึงบริบทของชุมชน การเสริมสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ให้แก่พี่น้อง อสม. ย่อมเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงพี่น้องประชาชนมากที่สุด

 

โดย กรม สบส. ได้มอบหมายให้กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน ส่งเสริมองค์ความรู้ใน 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ปรับตัว 2.ปรับวิถีชีวิตใหม่ 3.ป้องกันโรค และ 4.ปลอดภัย ผ่านช่องทางการสื่อสารของกรมฯ อาทิ กลุ่มไลน์ประธานชมรม อสม. เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไปยังเครือข่าย อสม. ที่มีจำนวนกว่า 1.05 ล้านคนทั่วประเทศ ทำหน้าที่ของหมอคนที่ 1 เพื่อให้พี่น้อง อสม.นำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ บอกต่อแก่บุคคลใกล้ชิด และประชาชนในพื้นที่ จนชุมชนเกิดการปรับตัวอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 อย่างปลอดภัย

 

 

ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า สำหรับองค์ความรู้ทั้ง 4 แนวทางที่ถ่ายทอดให้กับ อสม. เพื่อนำไปปฏิบัตินั้น จะมุ่งเน้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักแต่ไม่ตระหนกต่อโรคโควิด-19 โดยมีรูปแบบการดำเนินการ ดังนี้

 

1. ปรับตัว : อสม.มีการแนะนำให้ประชาชนในชุมชน พร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขตามแนวทาง 2 U ได้แก่ Universal Prevention การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล และ Universal Vaccination การรับวัคซีนทั้งเข็มปกติ และเข็มกระตุ้นในประชาชนทุกกลุ่ม

 

2. ปรับวิถีชีวิตใหม่ : นำกลไกตำบลจัดการคุณภาพชีวิตมาใช้ และส่งเสริมให้มีการสร้างมาตรการสังคมในชุมชน

 

3. ป้องกันโรค : อสม.ร่วมส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย 608 ในชุมชน

 

และ 4.ปลอดภัย : สร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนให้ปลอดภัย โรงเรียนปลอดภัย สถานประกอบการปลอดภัย ร่วมกับเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่ เน้นการเฝ้าระวัง คัดกรอง และส่งเสริมสุขภาพ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์