เช็ก สิทธิประโยชน์ "สปสช." ดูแลหญิงไทยจากภาวะตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

เช็ก สิทธิประโยชน์ "สปสช." ดูแลหญิงไทยจากภาวะตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

สปสช. ร่วมรณรงค์ 28 ก.ย. วันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล บรรจุสิทธิประโยชน์ บริการป้องกันการ "ยุติการตั้งครรภ์" ที่ไม่ปลอดภัย ดูแลหญิงไทยทุกอายุ ทุกสิทธิการรักษา จากภาวะตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เผย ปี 2566 เดินหน้าแจก "ยาคุมฉุกเฉิน" ที่ร้านยา

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การ ยุติการตั้งครรภ์ เป็นประเด็นที่มีความละเอียดและอ่อนไหวมาก โดยเฉพาะต่อสังคมไทย ซึ่งในกรณีผู้หญิงที่ทำการยุติการตั้งครรภ์ส่วนหนึ่งมีความจำเป็นที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ ด้วยเหตุของการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ทั้งจาก สุขภาพกาย สุขภาพจิต และทางสังคม ที่ผ่านมาจึงมีหญิงตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบภาวะของการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยอันนำไปสู่อันตรายและเสียชีวิตได้ 

 

กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดย สปสช. ตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว จึงบรรจุ “การป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย” เป็นสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นการดูแลความปลอดภัยให้กับหญิงไทยทุกอายุ ทุกสิทธิการรักษา ที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์จากภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้ รวมทั้ง ยังเป็นการจัดบริการต่อเนื่องภายหลังจากตรวจพบความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ทั้งโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และกลุ่มอาการดาวน์ เป็นต้น

 

เช็ก สิทธิประโยชน์ \"สปสช.\" ดูแลหญิงไทยจากภาวะตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

อย่างไรก็ตาม การรับบริการยุติการตั้งครรภ์นี้ ต้องเป็นไปตามตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 และข้อบังคับแพทยสภา ที่เป็นการให้บริการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยครอบคลุมการให้บริการทั้งวิธีการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ (Misoprostol 200 mcg + Mifepristone 200 mg ชนิด combination pack) ที่หน่วยบริการขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยบริการที่มีศักยภาพให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยา” กับ กรมอนามัย ซึ่งมีจำนวน 144 แห่ง ครอบคลุม 23 จังหวัด

 

หรือบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีศัลยกรรม เช่น การใช้กระบอกดูดสุญญากาศ (Manual Vacuum Aspiration: MVA), การใช้เครื่องดูดสุญญากาศไฟฟ้า (Electric Vacuum Aspiration: EVA) อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยหน่วยบริการใน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีศักยภาพบริการ 

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลการบริการเพื่อป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ปีงบประมาณ 2565 มีหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแล จำนวน 12,544 ราย อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น ที่ผ่านมา สปสช.ยังได้จัดสิทธิประโยชน์บริการ อาทิ 

 

บริการวางแผนครอบครัวและการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์แบบชั่วคราว โดยการให้บริการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวในหญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ ได้แก่

  • บริการยาคุมฉุกเฉิน
  • ถุงยางอนามัย
  • ยาคุมกำเนิด
  • และยาฉีดคุมกำเนิด 

บริการ "ยาคุมฉุกเฉิน" ร้านยา

ในส่วนของบริการยาคุมฉุกเฉิน ในปีงบประมาณ 2566 นี้ สปสช.ได้เพิ่มบริการ ยาคุมฉุกเฉิน ที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการการป้องกันและควบคุมการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์แบบกึ่งถาวร เป็นการให้บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร ในหญิงไทยวัยเจริญพันธ์ทุกสิทธิการรักษา ที่อยู่ในภาวะหลังคลอด หรือหลังแท้ง หรือต้องการคุมกำเนิด ได้แก่บริการห่วงอนามัยและบริการยาฝังคุมกำเนิด 


  
“ทุกๆ วันที่ 28 กันยายนของทุกปี นานาชาติจัดให้เป็น “วันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล” เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้สังคมตระหนักต่อสิทธิของผู้หญิงในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ซึ่งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้หญิงไทยเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้ รวมไปถึงการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น โดย สปสช. พร้อมร่วมมือกับทุกๆ ฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อขับเคลื่อนการยุติตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

เช็ก สิทธิประโยชน์ \"สปสช.\" ดูแลหญิงไทยจากภาวะตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์