ชัดๆ ผลวิจัย “3 ยารักษาโควิด” ฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด

ชัดๆ ผลวิจัย “3 ยารักษาโควิด” ฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด

กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ยืนยันมีคณะกรรมการวิชาการด้านการใช้ พิจารณาการรักษาผู้ติดโควิด-19 ขณะที่ผลศึกษายา 3 ตัว มีการใช้ที่แตกต่างกันตามอาการและความเสี่ยงกลุ่มผู้ป่วย ส่วนอนาคต “ยาฟาวิพิราเวียร์”จะยังใช้หรือไม่  ขึ้นกับข้อมูลวิชาการและการพิจารณาตามสถานการณ์

      อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวว่า  สธ. มีคณะกรรมการวิชาการด้านการใช้ยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยออกมาเป็นแนวทางการใช้ยาตามหลักวิชาการด้านการแพทย์ เพื่อการนำมาปฏิบัติ

         “ช่วงก่อนที่ไม่มียาโมลนูพิราเวียร์ ยาแพกซ์โลวิด ยาเรมเดซิเวียร์ ทุกคนก็ร้องหาแต่ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็แล้วแต่ แต่หน้างานก็ยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นล้านๆ คน เมื่อได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่เริ่มมีอาการก็หาย หรือยาที่ระบุว่าเป็นยารักษาโควิด-19เฉพาะเลย เมื่อใช้ตอนอาการบานปลายไปแล้ว ก็ไม่ใช่รักษาได้ทุกคน” อนุทินกล่าว

       นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  ให้ข้อมูลว่า  ประเทศไทยได้มีการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ยาฟาร์วิพิราเวียร์เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยมีผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมดจำนวน 93 คนในโรงพยาบาล 3 แห่ง ทุกคนอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว เป็นผู้ป่วยที่อ้วน 25 % โดยผู้ป่วยครึ่งหนึ่งได้รับยาฟาร์วิพิราเวียร์ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มมีอาการ ไม่มีผู้ที่เคยเป็นโควิด-19 และ/หรือได้รับวัคซีนมาก่อน ทุกคนมีอาการเล็กน้อยหรือปานกลาง ไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงในโครงการวิจัย

ผู้ป่วยได้รับการรักษาและติดตามอาการในโรงพยาบาล  รวมถึงการวัดประสิทธิผลของยาฟาร์วิพิราเวียร์โดยด้วยระบบ NEWS ประกอบไปด้วยอัตราการหายใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด การให้ออกซิเจน อุณหภูมิ ความดันซิสโตลิก อัตราการเต้นของหัวใจ ระดับความรู้สึกตัว ซึ่งประเมินโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น  

        ผลพบว่ายาฟาร์วิพิราเวียร์ทำให้อาการรุนแรงของการประเมินด้วย NEWS ของผู้ป่วยโควิด 19 ดีขึ้นได้เร็วกว่ากลุ่มควบคุมอย่างชัดเจน โดยครึ่งหนึ่งดีขึ้นใน 2 วัน เมื่อได้รับยาเปรียบเทียบกับ 14 วันในกลุ่มควบคุม  ยังพบว่ายาฟาร์วิพิราเวียร์มิได้ช่วยลดปริมาณไวรัสลงหรือทำให้ไวรัสหายไปได้เร็วขึ้นแต่อย่างใด และไม่สามารถเห็นประสิทธิผลเมื่อประเมินอาการจากความรู้สึกผู้ป่วย เช่น อาการอ่อนเพลีย ไอ รวมถึงพบว่ายาฟาร์วิพิราเวียร์มีความปลอดภัยแม้จะพบระดับกรดยูริคในเลือดสูงขึ้นแบบไม่มีอาการก็ตาม

ชัดๆ ผลวิจัย “3 ยารักษาโควิด” ฟาวิพิราเวียร์-โมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด

       ส่วนที่มีการอ้างอิงจากการศึกษาวิจัยแบบหลายสถาบัน จำนวน 40 แห่งใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และบราซิล มีอาสาสมัครจำนวน 1,187 คน เป็นผู้ป่วยอ้วน 70 %ผู้ป่วยสูงอายุ 15%  ซึ่งเป็นการใช้ยาฟาร์วิพิราเวียร์เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยใช้ยาแบบมิได้มีการปรับขนาดยาตามน้ำหนักตัวผู้ป่วย ผู้ป่วยเกือบทุกรายได้รับยาประมาณวันที่ 3 ภายหลังเริ่มมีอาการ ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเคยได้รับวัคซีนหรือเคยป่วยเป็นโควิด-19 มาก่อน  นอกจากนี้ การรายงานผลลัพธ์การรักษาทำโดยผู้ป่วยเป็นผู้รายงานเองผ่านระบบโทรศัพท

      ไม่สามารถเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาฟาร์วิพิราเวียร์จาก 2 การศึกษานี้ได้ เนื่องจากรายละเอียดและวิธีการศึกษามีความแตกต่างกัน การศึกษาในทวีปอเมริกาแสดงให้เห็นว่าการเริ่มให้ยาช้าในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง มีอาการรุนแรง และมีน้ำหนักมากโดยไม่มีการปรับขนาดยา อาจมีผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลหรือเป็นเพราะการประเมินผล ซึ่งส่วนหนึ่งได้จากความรู้สึกอาการของผู้ป่วย อาจทำให้ผลการศึกษาไม่ตรงกัน ส่วนข้อมูลในไทยพบว่ายาฟาร์วิพิราเวียร์ทำให้ผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีความเสี่ยงต่ำที่ไม่รุนแรงมีอาการดีขึ้นได้เร็วขึ้น แต่การศึกษาในประเทศไทยไม่มีข้อมูลประสิทธิผลของยาฟาร์วิพิราเวียร์ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปอดบวมหรือลดการเสียชีวิต

       "ส่วนในอนาคตจะยังใช้ฟาวิฯรักษาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการะดมความคิดเห็นและพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทุกครั้งที่มีการคุยในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นำข้อมูลทุกอย่างมาคุยกัน ซึ่งตอนนี้กำลังปรับแนวทางปรับต่อไป เพราะมีการปรับให้เหมาะสมสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่โรคระบาด ปัจจุบันเป็นแนวทางฉบับที่ 24 แล้ว ออกเมื่อ 11 ก.ค.2565” นพ.สมศักดิ์กล่าว 

            ขณะที่ “ยาโมลนูพิราเวียร์” ข้อมูลการวิเคราะห์เบื้องต้น จำนวน 762 คน ให้ยาโมลนูพิราเวียร์ 385 คน และยาหลอก 377 คน โดยยาโมลนูพิราเวียร์รับประทานมื้อละ 4 เม็ด วันละ 2 มื้อเช้า-เย็นเป็นเวลา 5 วัน ต่อคนจะใช้ยาจำนวน 40 เม็ดในการรักษา ผลเบื้องต้นพบว่า ลดความเสี่ยงการนอน รพ./เสียชีวิตภายใน 29 วัน ได้ประมาณ 50% โดยไม่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้ยาโมลนูพิราเวียร์
            ส่วน “ยาแพกซ์โลวิด” งานวิจัยของบริษัทผู้ผลิต  ระบุว่า ข้อมูลการวิเคราะห์เบื้องต้น จำนวน 774 คน กลุ่มให้ยา แพกซ์โลวิด  389 คน และยาหลอก 385 คน โดยรับประทาน 2 เม็ดต่อมื้อ ร่วมกับยาริโทนาเวียร์ 1 เม็ด รับประทานร่วมกันวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน พบว่า ลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาล/เสียชีวิตภายใน 28 วัน ประมาณ 89% กรณีให้ยาภายใน 3 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ ประมาณ 85 % กรณีให้ยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ และไม่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้ยาแพกซ์โลวิดคู่กับริโทนาเวียร์

   สำหรับแนวทางการักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของประเทศไทย (ฉบับที่ 24 วันที่ 11 ก.ค.2565)

        1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี  ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้านแบบ ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้ายไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์

    2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ  ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ อาจพิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์ ควรเริ่มยาโดยเร็ว หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน 

     3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี  หากมีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ ลำดับการให้ยา คือ  โมลนูพิราเวียร์ ,เรมเดซิเวียร์,เนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด) และฟาวิพิราเวียร์  หากมีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อขึ้นไป ให้เรมเดซิเวียร์ หรือเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ (แพกซ์โลวิด)  หรือโมลนูพิราเวียร์

     และ4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วันหลังจากมีอาการและได้รับออกซิเจน แนะนำให้เรมเดซิเวียร์ โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกัยให้ยาคอร์ดิโคสเตียรอยด์ (corticosteroid)