"ปัญหาสุขภาพจิต"จะพุ่งขึ้นเป็นโรคอันดับ 1

"ปัญหาสุขภาพจิต"จะพุ่งขึ้นเป็นโรคอันดับ 1

ปัจจุบันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ที่มักพบในคนมีอายุ นับเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับ 1 แต่จิตแพทย์คาดว่าอีกไม่ช้า “ปัญหาสุขภาพจิต”จะขยับขึ้นเป็นอันดับ 1 แทน ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย และอุปสรรคใหญ่ต่อการเข้าถึงบริการ เพราะกังวลการถูกตีตรา 

ในเวทีโต๊ะกลมเสวนาออนไลน์ “พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตคนไทย” จัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆนี้ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า  เชื่อว่าอีกราว 10-20 ปีข้างหน้า ปัญหาสุขภาพจิต จะพุ่งแซงหน้าทุกโรคแม้แต่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจขึ้นเป็นอันดับ 1

ขณะที่ปัญหาสุขภาพจิตที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายมีหลากหลายสาเหตุ ถ้าดูรายละเอียดผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ใน 100 คน พบว่า 

  • อันดับ 1 หรือราว 50% เป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ทั้งความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ความสัมพันธ์ในครอบครัว ในสถานที่ทำงาน หรือในโรงเรียน 
  • ปัญหาเรื่องการมีโรคประจำตัวทั้งโรคทางกายที่รักษาไม่หาย ทำให้รู้สึกไม่มีคุณค่าที่จะมีชีวิตอยู่และโรคทางจิต 
  • ปัญหาการใช้สุราและสารเสพติด โดยในผู้เสียชีวิตยจากการฆ่าตัวตาย พบว่า 10-20 % จะตรวจพบสารเสพติดอย่างใดอย่างหนึ่งในเลือด 
  • ปัญหาเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจ 

จากข้อมูลพบว่า 90% เกิดจาก 2 ปัจจัยขึ้นไป ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีโรคทางกาย หากมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดี มีลูกหลานดูแลเอาใจใส่ ให้กำลังใจ ไม่ด้อยค่า ก็จะใช้ชีวิตดีมีความสุข

“ในอดีตการมี ปัญหาสุขภาพจิต มีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและจะถูกตีตราว่าเป็นคนบ้า อย่างละครไทยก็มักจะให้ตัวร้าย มีจุดจบที่การเป็น ผู้ป่วยทางจิต กลายเป็นว่า โรคทางจิต เป็นเรื่องของบาปกรรม แต่ปัจจุบัน การรับรู้เรื่องปัญทางสุขภาพจิตมีความเข้าใจมากขึ้น  โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อย่างเจนZ  หรือเจนอัลฟา”นพ.วรตม์กล่าว 

 

ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น

จากรายงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดย ยูนิเซฟ กรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า 

วัยรุ่นไทย อายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ 

สอดคล้องกับผลการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School - based Student Health Survey) พบว่า 17.6 %ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย 

ซึ่ง การฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย

ปัญหาสุขภาพจิตวัยแรงงาน

อรพิน วิมลภูษิต สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  บอกว่า การทำงานมุ่งเน้นในคนที่ยังไม่ป่วยก่อนซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตาย  โจทย์ของแรงงานช่วง 3 ปีที่ผ่าน  มา  คือ

1.การเผชิญกับภาวะดิสรัปชั่น  แรงงานได้รับผลกระทบจากการเลย์ออฟ หรือเปลี่ยนถ่ายโยกย้ายการทำงาน  ส่งผลต่อความเครียดความกังวล บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตาย  แต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเพราะเป็นความลับบริษัท  

2.ความเปราะบางของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ โอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์น้อย เพราะส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับรายได้ และย้ายไปทำงานตามที่ต่างๆ  ส่งผลครอบครัวแตกแยกตามไปด้วย ลูกอยู่กับตายาย หรือไม่มีใครเลี้ยงลูก ความกังวล ครียดเรื่องลูกก็จะตามมา  

โจทย์ใหญ่เรื่องการฆ่าตัวตายของแรงงานอกระบบ มาจากปัญหาหลักคือ การเงินและรายได้ ไม่เพียงพอ เป็นเรื่องความเครียด และบางทีขั้นฆ่าตัวตายเลยไม่ซึมศร้า ทำให้ครอบครัวแตกแยกและความวิตกกังวลช่วงโควิดว่าจะได้ทำงานต่อหรือถูกเลิกจ้างหรือไม่ บางทีกลายเป็นไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะกังวลไปหมด ซึ่งการเข้าถึงระบบริการสุขภาพจิต เป็นเรื่องยากของวัยแรงงานเพราะทำงาน และไม่กล้าไปพบแพทย์ 

"ปัญหาสุขภาพจิต"จะพุ่งขึ้นเป็นโรคอันดับ 1

ปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุ 

นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับ ปัญหาสุขภาพทางใจ  ผู้สูงอายุจะรู้สึกสูญเสียพลัดพราก เศร้ากังวลมักคิดว่าแก่แล้วอีกไม่นานก็ตาย ไม่มั่นคงในชีวิตเพราะไม่มีรายได้หากลูกหลานกตัญญูจุลเจือเรื่องรายได้ให้ผู้สูงอายุก็จะรู้สึกดีขึ้น รวมถึง รู้สึกเป็นภาระเมื่อลูกทำงานไม่มีเวลาให้ก็เหมือนโดนทอดทิ้ง ทำให้น้อยใจ ว้าเหว่  นอกจากนี้ ชอบพูดเรื่องในอดีต  คิดซ้ำๆ และบางคนชอบเก็บตัว ปลีกวิเวก แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น ผู้สูงอายุส่งดอกไม้สวัสดีตามวันทางไลน์ ซึ่งหากยังส่งอยู่ก็ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ส่งเพื่อนก็จะตามหา ทั้งนี้ หากมีปัญหาสุขภาพใจมากลูกหลานจะต้องไปพบแพทย์  

โดย ผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาในรพ. มากที่สุด คือ

  1. อารมณ์แปรปรวน
  2. เครียดวิตกกังวลซึ่งเจอค่อนข้างมาก
  3. จิตเภทแต่เจอไม่มาก
  4. สมองเสื่อม หลงลืม 
  5. กลุ่มอาการต่างที่จะต้องตรวจต่อ เช่น สมอง หัวใจ

 

ป้องกันการฆ่าตัวตาย

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า  ปัญหาการฆ่าตัวตายใกล้ตัวมากกว่าคิด ช่วงเวลาที่คนวางแผนคิดฆ่าตัวตายมากที่สุดเป็นช่วง 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน เป็นช่วงโดดเดี่ยว อ้างว้าง ขาดการเชื่อมต่อโลกภายนอก จึงเป็นความเสี่ยงที่มากกว่าช่วงเวลาอื่น  ทั้งนี้อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จจากข้อมูลใบมรณบัตร พบมีจุดสูงสุดหรือพีคช่วงหลังต้มยำกุ้ง ปี 2542 อยู่ที่ 8.59 ต่อแสนประชากรซึ่งต้มยำกุ้งเกิดปี 2540 แต่ปัญหาการฆ่าตัวตายจะบ่มเพาะจนสุกง่อมประมาณ 1-2 ปีหลังเกิดวิกฤตินั้น

"ปัญหาสุขภาพจิต"จะพุ่งขึ้นเป็นโรคอันดับ 1

ส่วน วิกฤติโควิดที่เกิดในช่วงปลายปี 2562 ต้นปี 2563 ดังนั้นปลายปี 2564 ต้นปี 2565 จึงเป็นช่วงที่สุกงอม จะเห็นว่า

- ช่วงปี 2563 อัตราการฆ่าตัวตายกระโดดขึ้นเป็น 7.35 ต่อแสนประชากร ถือว่าสูงสุดในรอบ 17 ปี

- ช่วงปี 2564 เพิ่มเป็น 7.38 เฉลี่ยเป็นคนตายประมาณ 4,820 คน

พูดได้ว่า 1 ปีมีคนทำร้ายตัวเองสำเร็จเกือบ 5,000 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกรายงานตัวเลขของไทยอยู่ที่ 8.8 ต่อแสนประชากรในปี 2019

“การฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยเป็นสาเหตุการตายผิดธรรมชาติอันดับ 2 ของคนไทย รองจากการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีสถิติมากสุดอันดับ 1 และอันดับ 3 คือการฆ่ากันตาย การฆ่าตัวตายมีแน้วโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เคียงการตายจากอุบัติเหตุ บ่งบอกถึงสถานการณ์การฆ่าตัวตายเริ่มบ่มเพาะปัญหาและมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ” นพ.ณัฐกรกล่าว  

 

สัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย

ผศ.นพ.ปราการ ถมยางกูร ผู้แทนสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย  กล่าวว่า

สัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย ได้แก่

1.คำพูด เช่น บ่นไม่อยากอยู่แล้ว อยากฆ่าตัวตายจะได้หมดทุกข์ อยู่ไปก็เป็นภาระผู้อื่น พูดสั่งเสียล่วงหน้า 

2.พฤติกรรม แยกตัว ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดมากขึ้น หาอุปกรณ์ทำร้ายตัวเอง ซึ่งการฆ่าตัวตายโดยใช้เชือกแขวนคอเป็นแนวทางที่พบมากที่สุด นอนไม่หลับ หรือการใช้ยานอนหลับที่มากเกินขนาด

3.อารมณ์  หดหู่ เศร้า โกรธง่าย อารมณ์แปรปรวน   

 

ช่องทางปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต  กล่าวว่า  กรมสุขภาพจิต การดูแลป้องกันประชาชนเบื้องต้นได้วางแนวทางไว้มากมาย บริการที่มีอยู่ให้สามารถปรึกษาเบื้องต้นได้ อาทิ

  • สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323
  • แอปพลิเคชั่น Mental Health Check In  
  • ปรึกษาออนไลน์ผ่านแชทไลน์ KHUIKUN (คุยกัน)
  • เชื่อมโยงการดำเนินงานกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางในทีมปฏิบัติการพิเศษปัองกันการฆ่าตัวตาย HOPE Task Force 

ส่วนคนที่ไม่สามารถเข้ารับบริการผ่านดิจิทัล ก็มีบริการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ที่เข้าไปดูแลประเมินถึงบ้านและชุมชน