วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก เช็กสัญญาณเสี่ยง

วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก เช็กสัญญาณเสี่ยง

กรมสุขภาพจิตระบุ ฆ่าตัวตายป้องกันได้  เช็คสัญญาณเสี่ยง พร้อมแนะช่องทางช่วยเหลือ หลังปี 64 อัตราสำเร็จสูงสุดในรอบ 17 ปี วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก

      เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2565 กรมสุขภาพจิต จัดกิจกรรมเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 2565 MIND VOICE เสียงที่ต้องใช้ใจฟัง  โดยพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเปิดงานว่า องค์การอนามัยโลกคาดการณ์แต่ละปีจะมีการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1ล้านคน หรือทุก 40 วินาทีมีคนฆ่าตัวตาย 1 คนสำเร็จ จึงเป็นความน่าห่วง สำหรับประเทศไทย 2 ปีที่แล้วอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.38 ต่อแสนประชากร ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังมา ส่งผลทั้งปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม จึงพยายามดึงตัวเลขตรงนี้ให้ไม่เกินไปกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ให้แย่ลง ซึ่งต้องอาศัยทุกฝ่ายร่วมมือ

        กรมสุขภาพจิตมุ่งมั่นต่อสู้สิ่งเหล่านี้ด้วยการออกแบบบริการให้ทันท่วงที แม้แต่ในยุทธศาสตร์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ได้ตั้งธงอัตราการฆ่าตัวตายต้องไม่เกิน 8 ต่อแสนประชากร การดูแลป้องกันประชาชนเบื้องต้นได้วางแนวทางไว้มากมาย บริการที่มีอยู่ยังเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 เป็นบริการที่เปลี่ยนความตายสู่ความอยู่รอด เปลี่ยนความสิ้นหวังเป็นมีหวัง ที่ผ่านมาได้ขยายบริการคู่สายให้เพิ่มมากขึ้น และในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา พบคนที่เข้ามารับบริการที่มีความคิดฆ่าตัวตายถึง 1,554 คน เฉลี่ย 141คนต่อเดือน

         จากการติดตามของเจ้าหน้าที่พบว่าผู้รับบริการเหล่านี้เปลี่ยนความคิดฆ่าตัวตายลดลง 74.09 %  ขณะเดียวกันก็มีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น 15 %อีกช่องทางบริการแอปพลิเคชั่น Mental Health Check In ซึ่งเปิดบริการปี 2562  ถึงปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเกือบ 3.6 ล้านคน สามารถค้นพบผู้เสี่ยงฆ่าตัวตายได้ถึง 167,216 คน เป็นชีวิตที่สามารถช่วยเหลือไว้ได้ ทีมช่วยเหลือสามารถเข้าถึงตัวและให้คำแนะนำได้ถึง 92.15 %  นอกจากนี้ยังมีช่องทางปรึกษาออนไลน์ผ่านแชทไลน์ KHUIKUN (คุยกัน) และเชื่อมโยงการดำเนินงานกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางในทีมปฏิบัติการพิเศษปัองกันการฆ่าตัวตาย HOPE Task Force  ส่วนคนที่ไม่สามารถเข้ารับบริการผ่านดิจิทัล เราก็มีบริการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ที่เข้าไปดูแลประเมินถึงบ้านและชุมชน 

       ด้านนพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า  ปัญหาการฆ่าตัวตายใกล้ตัวมากกว่าคิด ช่วงเวลาที่คนวางแผนคิดฆ่าตัวตายมากที่สุดเป็นช่วง 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน เป็นช่วงโดดเดี่ยว อ้างว้าง ขาดการเชื่อมต่อโลกภายนอก จึงเป็นความเสี่ยงที่มากกว่าช่วงเวลาอื่น  ทั้งนี้อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จจากข้อมูลใบมรณบัตร พบมีจุดสูงสุดหรือพีคช่วงหลังต้มยำกุ้ง ปี 2542 อยู่ที่ 8.59 ต่อแสนประชากร

ซึ่งต้มยำกุ้งเกิดปี 2540 แต่ปัญหาการฆ่าตัวตายจะบ่มเพาะจนสุกง่อมประมาณ 1-2 ปีหลังเกิดวิกฤตินั้น ดังนั้นเกิดวิกฤติโควิดที่เกิดในช่วงปลายปี 2562 ต้นปี 2563 ดังนั้นปลายปี 2564 ต้นปี 2565 จึงเป็นช่วงที่สุกง่อม ซึ่งก็อยู่ในช่วงเวลาเหล่านั้น จะเห็นว่าช่วงปี 2563 อัตราการฆ่าตัวตายกระโดดขึ้นเป็น 7.35 ต่อแสนประชากร ถือว่าสูงสุดในรอบ 17 ปี

   และปี 2564 เพิ่มเป็น 7.38 เฉลี่ยเป็นคนตายประมาณ 4,820 คน พูดได้ว่า 1 ปีมีคนทำร้ายตัวเองสำเร็จเกือบ 5,000 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกรายงานตัวเลขของไทยอยู่ที่ 8.8 ต่อแสนประชากรในปี 2019 การฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยเป็นสาเหตุการตายผิดธรรมชาติอันดับ 2 ของคนไทย รองจากการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีสถิติมากสุดอันดับ 1 และอันดับ 3 คือการฆ่ากันตาย การฆ่าตัวตายมีแน้วโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เคียงการตายจากอุบัติเหตุ บ่งบอกถึงสถานการณ์การฆ่าตัวตายเริ่มบ่มเพาะปัญหาและมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ 

          ผศ.นพ.ปราการ ถมยางกูร ผู้แทนสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย  กล่าวว่า สัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย  1.คำพูด เช่น บ่นไม่อยากอยู่แล้ว อยากฆ่าตัวตายจะได้หมดทุกข์ อยู่ไปก็เป็นภาระผู้อื่น พูดสั่งเสียล่วงหน้า  2.พฤติกรรม แยกตัว ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดมากขึ้น หาอุปกรณ์ทำร้ายตัวเอง ซึ่งการฆ่าตัวตายโดยใช้เชือกแขวนคอเป็นแนวทางที่พบมากที่สุด นอนไม่หลับ หรือการใช้ยานอนหลับที่มากเกินขนาด และ 3.อารมณ์  หดหู่ เศร้า โกรธง่าย อารมณ์แปรปรวน   

          ดังนั้น การรับฟังด้วยใจเป็นสิ่งสำคัญ ให้เขาเล่าถึงความรู้สึกที่อยู่ในใจ และพยายามหาทางช่วยเหลือด้วยการโทรปรึกษาสายด่วน 1323  หรือนำพบแพทย์ จิตแพทย์ จากสถิติของผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเกี่ยวโยงกับโรคซึมเศร้าในขณะนั้นถึง 2 ใน 3 หากช่วยกันรักษาอาการป่วยซึมเศร้าหรือทำให้หายไปจะสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายได้อย่างดี นอกจากนี้ยังพบ7 %ของผู้ป่วยซึมเศร้ามีโอกาสเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย และบุคคลธรรมดา 1 %มีโอกาสเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายด้วยการเจอสถานการณ์ที่ทนไม่ได้ และในความพยายามฆ่าตัวตายพบเป็นผู้หญิงมากกว่าชาย 3 ต่อ 1 ขณะที่ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าหญิง 3 ต่อ 1 ถ้าเราพบผู้ป่วยซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการรักษาใดๆ เลยมีโอกาสเสี่ยงต่อการฆ่าตัวจตายสูงถึง 20 % หากได้รับการรักษาความเสี่ยงจะลดลงเหลือ0.14 %นอกจากโรคซึมเศร้ายังมีเรื่องของการหวาดระแวง จิตเวช หรือการใช้สารเสพติดก็มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเช่นกัน

    อนึ่ง กรมสุขภาพจิตได้เผยแพร่ 10 สัญญาณเตือนเสี่ยงฆ่าตัวตาย ได้แก่ 1.ประสบปัญหาชีวิต สูญเสียคนรัก 2.แยกตัว ไม่พูดกับใคร 3.ใช้สุราหรือยาเสพติด 4.นอนไม่หลับ เป็นเวลานาน 5.มีประวัติคนในครอบครัวเคยฆ่าตัวตาย 6.มีการวางแผนการฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า 7.ชอบพูดว่าอยากตายหรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ 8.อารมณ์แปรปรวน จากซึมเศร้า หงุดหงิดมานานเป็นสบายใจอย่างผิดหูผิดตา 9.พูดจาด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล หน้าตาเศร้าหมอง และ10.เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน